การเมืองเรื่องซื้อเครื่องบิน

ก่อนหน้าภาพยนตร์ซีรีส์เกาหลีเรื่อง Vagabond ตอนสุดท้ายจะออกอากาศ 1 วัน และก่อนเส้นตายประกาศงบไตรมาสสาม (ซึ่งโดยปกติเป็นไตรมาสที่เลวสุดของปี) จะออกมา ประธานคณะกรรมการ สายการบินแห่งชาติ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ลาออกกะทันหัน มีผลทันทีตั้งแต่ 1 พ.ย.


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

ก่อนหน้าภาพยนตร์ซีรีส์เกาหลีเรื่อง Vagabond ตอนสุดท้ายจะออกอากาศ 1 วัน และก่อนเส้นตายประกาศงบไตรมาสสาม (ซึ่งโดยปกติเป็นไตรมาสที่เลวสุดของปี) จะออกมา ประธานคณะกรรมการ สายการบินแห่งชาติ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ลาออกกะทันหัน มีผลทันทีตั้งแต่ 1 พ.ย.

การลาออกดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการเยี่ยมบริษัทของรัฐมนตรีคมนาคมวันเดียวแล้วก็น่าแปลกที่วันที่ลาออก ราคาหุ้น THAI พุ่งกระฉูดมาปิดที่ 8.70 บาท บวกแรงในรอบเดือนทีเดียว

การลาออกจากประธานของนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ (สายตรงของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ) รวมทั้งกรรมการคนอื่นอีก 3 คน ที่ลาออกก่อนหน้าไม่นาน ถูกเชื่อมโยงเข้ากับแนวทางที่พยายามผลักดันให้ทบทวนแผน-แหล่งเงินทุนจัดซื้อเครื่องบิน 38 ลำมูลค่า 2 แสนล้านบาท ให้สอดคล้องสถานการณ์ ภายใน 6 เดือน ที่ยังไม่บรรลุผล

เรื่องในที่ลับที่คลุมเครืออย่างนี้ ทำให้คิดย้อนไปถึงเรื่องราวการคอร์รัปชันซื้อเครื่องบินรบในภาพยนตร์ซีรีส์เกาหลีมากเป็นพิเศษ

หรือว่า มีลับลมคมในที่เกี่ยวข้องกับการซื้อเครื่องบินจำนวน 38 ลำชนิดที่เป็นความลับระดับชาติ???……แบบเดียวกับซีรีส์เกาหลี

เป็นที่ทราบกันว่านายเอกนิติและกลุ่ม ตระหนักว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของ THAI อยู่ท่ามกลางปัญหาที่สะสมมาหลายยุคสมัย จากปัจจัยภายนอกมากมายและการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจการคมนาคมทั่วโลก “ซึ่งเท่ากับยอมรับว่าบริษัทนี้ มีปัญหามายาวนานแล้ว แม้จะใช้ถ้อยคำสวยหรู”ว่า…จะทำหน้าที่และให้การสนับสนุนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) และฝ่ายบริหารในการแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างดีที่สุด เพื่อให้การบินไทยสามารถก้าวพ้นวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่โดยเร็ว

ภาวะวิกฤตที่ว่าคือการที่ค่าดี/อีสิ้นไตรมาส 2 ที่ 14 เท่า และขาดทุนสะสมที่ 1.37 หมื่นล้านบาท และราคาหุ้นต่ำกว่าบุ๊กแวลู

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการบริษัท THAI ทำการประเมินผลการปฏิบัติงานของนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินจาก KPI ที่ได้กำหนดร่วมกันไว้ตั้งแต่นายสุเมธ เข้าดำรงตำแหน่ง และให้นายสุเมธ ผ่านการประเมินผล เนื่องจากมีความพยายามในการดำเนินงานตามแผนงาน แต่ผลงานยังไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนดไว้ทั้งหมด มาจากสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกที่เข้ามากระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท ในช่วงที่ผ่านมา เป็นภาพสะท้อนปรากฏการณ์ เต่าใหญ่ไข่กลบ อย่างถึงที่สุดที่แท้จริง

หากมองย้อนกลับไป เมื่อ 3 ปีก่อน นายสุเมธ ที่เพิ่งเข้าดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ แสดงวิสัยทัศน์แสนสวยหรูชนิดชวนเคลิ้มว่า ในปี 2563 ทาง THAI จะหลุดพ้นจากการขาดทุนและมีกำไรอย่างยั่งยืน โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การบินไทยมีกำไรจากการดำเนินงาน แม้มาร์จิ้นจะบางลงเรื่อย ๆ จากต้นทุนสูงขึ้น และการใช้เครื่องบินหลากหลายประเภท การทำให้มีกำไรและยั่งยืนขึ้นมาได้ต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการบินไทยทำรายได้ดี มี Cabin Factor ระดับ 80% สิ่งที่ต้องทำต่อไปที่วางแผนไว้ จะเพิ่มดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง

ยุทธศาสตร์ล่าสุดที่ดีดีอย่างนายสุเมธระบุคือ จะเพิ่มรายได้การปรับปรุงรายได้ต่อหน่วย (Yield) เน้นทำตลาดองค์กร พร้อมกับเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่การบิน (จากธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานทั้งในอู่ตะเภา และที่ดอนเมือง รวมทั้งธุรกิจครัวการบิน) เพิ่มขึ้น 15-20% จากเดิม 10% ของรายได้รวม ส่วนรายได้เสริมอื่นจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 5-20% ต่อปี จาก 2.2% ของรายได้รวม และตั้งเป้าระดับกลางว่าจะก้าวขึ้นสู่การเป็นสายการบินติดอันดับ Top 5 ของโลกภายในปี 2565 (อันเป็นช่วงเวลาครบวาระ 4 ปีของการทำงานพอดี)

พร้อมกันนั้น จะมีการขยายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ โดยทีมไทยแลนด์ ได้แก่ การบินไทย, ไทยสมายล์, นกแอร์, บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยไลอ้อนแอร์, แอร์เอเชีย, AOT, KTB, ททท. และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)

ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่เลอเลิศนี้ แทรกเรื่องที่คนได้ยินแล้วต้องถึงบางอ้อกันทุกคน เพราะแค่ อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ นั่นคือ การซื้อเครื่องบินลำใหม่เพิ่มเติม อันเป็นกิจวัตรที่ทำให้บริษัทสายการบินนี้ มีภาระหนี้หลังแอ่นมาตลอด

ครั้งนั้น อดีตนักการเงินบริษัทขายน้ำมันพืชอย่าง นายสุเมธ กล่าวว่า แผนการจัดซื้อเครื่องบินของการบินไทย อาจมีการทบทวน และจะไม่ใช่แค่แสนล้านบาท เพราะอ้างว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2561) การบินไทยมีจำนวนเครื่องบินเพิ่มมาเพียง 3 ลำ เป็น 103 ลำ ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดกลับปรับลดลงเหลือ 27.3% จาก 37.1% หรือส่วนแบ่งตลาดหายไป 10% ดังนั้นจะน่าตระหนกมากกว่าหากผ่านไปอีก 5 ปี จะหายไปอีก 10% ถ้าการบินไทยมีเครื่องบินที่น้อยจนเกินไป หรือไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมการบินการบินไทยก็จะหายไป เพียงแต่การจัดซื้อต้องมีแผนและยุทธศาสตร์ ซึ่งจะไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการจัดซื้อเครื่องบิน โดยหากสั่งวันนี้จะได้เครื่องบินในอีก 24 เดือน

ที่จริงแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน ข้อเท็จจริง ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า THAI หรือ การบินไทยในยามนั้นได้แจ้งกับคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ว่า อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ที่ 80% แต่ Yield อ่อนตัว แต่เทียบกับคู่แข่งที่มี Yield ลดลงมากกว่าการบินไทย ส่วนค่าใช้จ่ายน้ำมันและซ่อมบำรุงสูงขึ้น ขณะที่มีสิ่งที่ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องเทคโนโลยี เรื่องดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ซึ่งต้องปรับปรุง ไม่ใช่แค่เพียงเป็นการขายตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ต แต่จะมีการขายผ่านแพลตฟอร์มอื่นได้ด้วย

ความพยายามเดินหน้า และทบทวนเรื่องซื้อเครื่องบินใหม่จำนวนมหาศาล เป็นสองขั้วที่มีมานานหลายเดือน การลาออกกะทันหันของ นายเอกนิติ และกรรมการอื่น ๆ สะท้อนถึงการต่อสู้ที่ชัดเจน แต่ไม่มีใครที่พูดออกมาหมดเปลือก

เหตุเกิดในแดนสนธยาที่ THAI ถือว่าผิดวิสัยของบริษัทมหาชนจดทะเบียนอย่างยิ่ง แม้ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ

สำหรับการเมืองเรื่องซื้อเครื่องบินของ THAI

เห็นอย่างนี้ ย่อมคาดเดายาก ว่าอนาคตของราคาหุ้นไทยจะกลับมาเหนือบุ๊กแวลูอย่างไร

นึกภาพไม่ออกจริง ๆ

Back to top button