พาราสาวะถี

รูดม่านปิดฉากไปเรียบร้อยกับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยวันสุดท้าย จะมีการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรืออาร์เซ็ปซัมมิท ครั้งที่ 3 เป็นการส่งท้าย จากนั้นได้มีพิธีปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ โดยผู้นำไทยได้ส่งมอบการเป็นประธานอาเซียนในปีต่อไปให้แก่ประเทศเวียดนาม ผลสำเร็จของการเป็นเจ้าภาพรอบนี้เป็นอย่างไรคงได้สดับรับฟังการแถลงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ไปแล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา


อรชุน

รูดม่านปิดฉากไปเรียบร้อยกับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยวันสุดท้าย จะมีการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรืออาร์เซ็ปซัมมิท ครั้งที่ 3 เป็นการส่งท้าย จากนั้นได้มีพิธีปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ โดยผู้นำไทยได้ส่งมอบการเป็นประธานอาเซียนในปีต่อไปให้แก่ประเทศเวียดนาม ผลสำเร็จของการเป็นเจ้าภาพรอบนี้เป็นอย่างไรคงได้สดับรับฟังการแถลงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ไปแล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา

ในบรรดาผู้มาเข้าร่วมประชุมหรือหารือกับอาเซียนนั้น ที่จับตามองเป็นพิเศษคือ สหรัฐอเมริกา ดูกันว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะเดินทางมาหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือไม่และเป็นหนที่สอง แต่ว่ารอบนี้สร้างความกังขาให้กับประชาคมอาเซียนไม่น้อย เพราะหนที่ผ่านมาที่ฟิลิปปินส์ประธานาธิบดีมะกันไม่ได้เดินทางมาแต่ยังส่งระดับรองประธานาธิบดีมาแทน ขณะที่รอบนี้กลับเป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ มาเป็นผู้แทน

จนนำไปสู่การพิจารณาบอยคอตในลักษณะอาเซียนทรอยก้า โดยระดับผู้นำอาเซียนมีเพียงผู้นำไทยในฐานะประธาน ผู้นำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-สหรัฐฯ และผู้นำเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนปีต่อไปเท่านั้นที่เข้าร่วมหารือ ส่วนอีก 7 ประเทศส่งผู้แทนอาเซียนเข้าร่วมการประชุม ซึ่งโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทยชี้แจงว่า สิ่งที่ทำไปเช่นนี้เป็นมติร่วมกันของผู้นำอาเซียนทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม มีการอ้างรายงานของสำนักข่าวเกียวโด จากญี่ปุ่นระบุว่าคณะนักการทูตที่ติดตามผู้แทนประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาร่วมประชุมครั้งนี้ เปิดเผยว่า การที่ผู้นำอาเซียนเกือบทั้งหมดไม่เข้าร่วมการหารือด้วยตัวเอง รัฐบาลวอชิงตันมองว่า ไม่ว่าจะเป็นการบอยคอตทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน ถือเป็นเจตนาที่จะสร้างความอับอายให้กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการย้ำด้วยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง” คงเป็นแค่คำขู่เพื่อรักษาหน้าตัวเองของผู้นำสหรัฐฯ เท่านั้น เพราะความเป็นจริงเรื่องการคบค้าสมาคมกับอาเซียน ถือว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นกลุ่มประเทศที่จะช่วยเป็นแนวกันชนหรือร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการต่อกรกับยักษ์ใหญ่เอเชียอย่างจีนได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ข่าวที่ออกมาจึงไม่น่าจะเกิดแรงกระเพื่อมใด ๆ จนเป็นที่น่ากังวล

ขณะเดียวกันประเทศไทยที่ได้หารือกับผู้แทนประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ได้ถามถึงการตัดสิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯต่อสินค้าไทยเกือบ 600 รายการ ซึ่งทางฝั่งโน้นยืนยันว่าจะมีการทบทวนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคเอกชนของไทย จะว่าไปแล้วความจริงก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือสินค้าหลายตัวจากไทยถือว่าเป็นสินค้าคุณภาพที่ตลาดในอเมริกามีความต้องการ หากมีการตัดสิทธิจีเอสพีไทยทั้งหมดตามที่ประกาศจึงไม่ได้กระทบต่อไทยเท่านั้น แต่ภาคเอกชนของมะกันก็โดนหางเลขไปด้วย

ส่วนข้อทักท้วงของฝ่ายค้านที่หยิบยกประเด็นต่าง ๆ มาให้คะแนนการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ หากไปยกยอปอปั้นคงเสียมวลชนไปทันทีทันใด จึงต้องฝากกันไว้ว่า สิ่งไหนที่พอจะเป็นประโยชน์และรัฐบาลทำได้ดีในระดับหนึ่งก็ควรจะให้กำลังใจกันบ้าง ไม่ใช่ค้านอย่างเดียว มิเช่นนั้น จะทำให้ประชาชนมองภาพการเมืองในมิติที่เลวร้าย ซึ่งย่อมจะส่งผลเสียต่อทั้งซีกรัฐบาลและฝ่ายค้าน เผลอ ๆ ฝ่ายค้านที่แสดงท่าทีเช่นนั้น อาจจะติดลบมากกว่าเสียด้วยซ้ำ

มาแรงแซงทางโค้งกับชื่อของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เป็นสถานะเป็นอดีตหัวหน้าและส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเกิดการโยนหินถามทางด้วยการเสนอชื่อให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้ ท่าทีของฝ่ายค้านไม่มีใครปฏิเสธ เพราะเห็นพ้องต้องกันว่าการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จจะต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย

ท่ามกลางที่ฝ่ายค้านไม่ขัดข้อง กลับเป็นคนของพรรคแกนนำรัฐบาลเองอย่าง วีระกร คำประกอบ ที่อ้างว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญที่มีความสำคัญเช่นนี้ ผู้ที่จะไปทำหน้าที่จะต้องเป็นคนของพรรคใหญ่ในรัฐบาลเท่านั้น ไม่ได้ตีกันอภิสิทธิ์แต่เห็นว่าพรรคเก่าแก่ยังมีจำนวนส.ส.น้อยกว่าพรรคสืบทอดอำนาจ ดังนั้น ตำแหน่งนี้จึงต้องเป็นของพลังประชารัฐเท่านั้น ไม่ว่าจะอ้างอะไรอีกตามมา นี่ก็ชวนให้คิดต่อไปว่าเป็นการเตะตัดขาหรือแสดงออกในทำนองที่ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะพรรคตัวเองและพวกพ้องได้ประโยชน์หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ด่านสำคัญของการที่จะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางแห่งความสำเร็จได้ ไม่ได้อยู่ที่ทุกพรรคจับมือกันแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง หากแต่อยู่ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและส.ว.ลากตั้ง 250 เสียงต่างหาก เห็นดีเห็นงามกับกระบวนการที่ดำเนินการโดยสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ เพราะการแก้ไขดังกล่าวจะเป็นการไปทำให้คนที่ได้ประโยชน์แบบเต็ม ๆโดยไม่ลงทุนอะไรเสียหายชนิดไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

ด้วยเหตุนี้กระมัง จึงมีเสียงมาจากฝ่ายค้านบางส่วนว่าหากจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง จะต้องอาศัยความเคลื่อนไหวของภาคประชาชน แต่ในบริบทที่การเมืองยังแบ่งฝั่งถือหางกันอยู่แบบนี้ก็มองไม่เห็นว่ามันจะเดินไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ยิ่งข้อเสนอให้แก้ไขมาตรา 256 ที่เป็นกุญแจล็อกทำให้การแก้ไขทำได้ยากหรือทำไม่ได้เลยนั้น หากผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่สั่งซ้ายหันขวาหันเชื่อได้เลยว่าไม่มีทางที่จะสำเร็จได้ ดังนั้น วันนี้ที่ขยับกันคึกคักและสร้างความหวังมันจะดับวูบทันทีถ้าส.ว.ลากตั้งและผู้นำเผด็จการปฏิเสธให้ความร่วมมืออย่างสิ้นเชิง

Back to top button