พาราสาวะถี

เอาอีกแล้ว! กับการเดินทางลงพื้นที่ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดกาญจนบุรีวันพรุ่งนี้ โดยวันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไปตรวจราชการพร้อมพบปะประชาชนที่โรงยิมเนเซียมจังหวัดราชบุรี พร้อม ๆ กับข่าวว่ามีการสั่งให้ปิดโรงเรียนเบญจมราชูทิศราชบุรี ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด จนเกิดกระแสวิจารณ์ในโซเชียลมีเดียว่า การเดินทางมาของนายกรัฐมนตรีต้องถึงขั้นหยุดเรียน ปิดถนน ปิดเมืองกันเลยหรือ


อรชุน

เอาอีกแล้ว! กับการเดินทางลงพื้นที่ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดกาญจนบุรีวันพรุ่งนี้ โดยวันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไปตรวจราชการพร้อมพบปะประชาชนที่โรงยิมเนเซียมจังหวัดราชบุรี พร้อม ๆ กับข่าวว่ามีการสั่งให้ปิดโรงเรียนเบญจมราชูทิศราชบุรี ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด จนเกิดกระแสวิจารณ์ในโซเชียลมีเดียว่า การเดินทางมาของนายกรัฐมนตรีต้องถึงขั้นหยุดเรียน ปิดถนน ปิดเมืองกันเลยหรือ

ร้อนถึง นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาลต้องออกมาแก้ต่างอ้างว่า นายกฯ และรัฐบาลไม่ได้สั่งให้มีการปิดโรงเรียน เป็นเรื่องของผู้อำนวยการโรงเรียนดำเนินการ พร้อม ๆ กับการชี้แจงของ ชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ที่อ้างถึงขั้นว่าประสาวิญญูชน ย่อมรู้ดีว่าเมื่อคณะท่านผู้นำมาตรวจพื้นที่ ย่อมเกิดภาวะการจราจรติดขัด อันจะส่งผลกระทบต่อโรงเรียนดังกล่าว แต่สุดท้ายได้ข้อสรุปให้เปิดเรียน โดยอนุโลมให้นักเรียนมาช้ามาสายได้ในวันดังกล่าว

สาระของเรื่องนี้คงไม่ได้อยู่ที่ว่าจะปิดหรือไม่ หรือใครเป็นคนสั่ง แต่สิ่งที่สังคมโฟกัสก็คือ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คณะของพระยาเหยียบเมืองเดินทางไปต่างจังหวัดแล้วสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ก่อนหน้านั้นการไปลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อุบลราชธานี ก็ปรากฏข่าวมีการรื้อเต็นท์ผู้ประสบภัย เพื่อเปิดทางให้ขบวนของท่านผู้นำ ก่อนที่จะมีการแก้ต่างกันพัลวัน นี่ย่อมเป็นภาพสะท้อนความห่างและการแบ่งชนชั้นอย่างชัดเจนของผู้นำประเทศที่อ้างว่าตัวเองผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ไม่ใช่ผู้เผด็จการ

ไม่เพียงเท่านั้น ช่วงสุดสัปดาห์กับการลงไปพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีข่าวกลุ่มสมัชชาคนจนไปดักรอที่โรงเรียนราศีไศลเพื่อจะยื่นหนังสือร้องเรียนถึงปัญหาความเดือดร้อนให้กับมือนายกฯ โดยตรง หลังจากที่ก่อนหน้านั้นมีการเจรจากันตอนก่อม็อบที่กรุงเทพฯ จนยอมเลิกและกลับบ้าน แต่การดำเนินการยังไม่มีความคืบหน้า ปรากฏว่ามีการสั่งยกเลิกจุดจอดเฮลิคอปเตอร์ที่โรงเรียนดังกล่าว เปลี่ยนไปยังจุดอื่นที่อยู่ไกลจากกลุ่มปัญหาความเดือดร้อนแทน

แน่นอนว่า มุมอธิบายของลิ่วล้อกระบอกเสียงของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็จะอ้างว่า มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีผู้แทนนายกฯ ในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ต่าง ๆ แต่ถามกลับว่าในแง่ความรู้สึก ความใกล้ชิดกับประชาชนที่ประสบปัญหาต่างๆ หากผู้นำรับเรื่องร้องเรียนด้วยตัวเองอย่างนั้นจะเกิดภาพที่ดีกว่ากัน ในทางตรงข้าม ในห้วงระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา ก็เกิดข่าวคราวเรื่องการจัดตั้งมวลชนไปเอาใจท่านผู้นำตลอด ซึ่งนั่นย่อมทำให้เกิดภาพต่อมาว่า ท่านชอบที่จะพูดเองเออเองกับคนที่ไม่หือไม่อืออะไรใช่ไหม

เมื่อเป็นเช่นนั้น มันยิ่งเป็นการตอกย้ำภาพของความเหลื่อมล้ำที่รัฐบาลเผด็จการคสช.ถูกกล่าวหาว่าทำให้ระยะห่างมีเพิ่มมากขึ้น แม้รัฐบาลสืบทอดอำนาจจะอ้างว่าจะเดินหน้าขจัดปัญหาดังกล่าวให้หมดไป แต่พฤติกรรมส่วนตัวของผู้นำประเทศที่ยังเจ้ายศเจ้าอย่าง เห็นได้จากการสั่งการให้นโยบายที่พูดย้ำเสมอว่าข้างล่างต้องฟังข้างบน และรับนโยบายจากข้างบนลงไปข้างล่าง นี่คือความคิดแบบการแบ่งชั้นวรรณะชัดเจน ขนาดกับข้าราชการ ลูกน้องยังไกลกันขนาดนี้ แล้วกับประชาชนจะมากขนาดไหน

ไม่ได้บอกว่าจะต้องสร้างภาพใกล้ชิดชาวบ้าน แต่การสัมผัส รับฟังปัญหาของประชาชนอย่างใกล้ชิดนั้น ประสาคนที่ทำปฏิบัติการณ์ข่าวสารมาทั้งชีวิตน่าจะรู้ดีว่า ต้องทำอย่างไร แต่หากมันเป็นการฝืนใจและความรู้สึกของตัวเอง ก็ต้องยอมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่จะตามมาและอย่าไปหงุดหงิดต่อข้อครหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะการให้ไม่ว่าจะเป็นบัตรคนจน ชิมช้อปใช้ และอีกสารพัดประชารัฐที่จะตามมาก็น่าจะเพียงพอแล้ว จะมาเรียกร้องอะไรกันอีก

ถือเป็นมิติทางการเมืองที่ผู้คนน่าจะคุ้นชินกันแล้ว เพราะอยู่กันมานานกว่า 5 ปีแล้ว หันกลับไปดูฝ่ายนิติบัญญัติ กำลังขับเคี่ยวกันกับเก้าอี้ประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประชาธิปัตย์มีมติและยืนกระต่ายขาเดียวต้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เท่านั้น ฟากพลังประชารัฐระดับนำก็ยืนยันเช่นกันว่า ตำแหน่งดังกล่าวจะต้องเป็นคนของพรรคสืบทอดอำนาจเท่านั้น พร้อม ๆ กับการเสนอชื่อ สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ให้นั่งถ่างขารับเก้าอี้นี้ไปด้วย

แต่นักข่าวก็อดถามท่านผู้นำไม่ได้ว่ามีส่วนผลักดันหรือชี้นำพรรคสืบทอดอำนาจต่อกระบวนการที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้หรือไม่ คำตอบที่ได้รับก็ตามฟอร์ม เป็นเรื่องของกรรมาธิการที่จะต้องไปพิจารณาร่วมกัน เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับตน ใครจะเป็นประธานก็เหมือนกัน หากทำประโยชน์เพื่อประชาชนก็ทำไป พร้อมยืนยันไม่ได้มอบนโยบายอะไรเป็นพิเศษให้กับแกนนำพลังประชารัฐ จะทำอะไรก็ทำไป เดี๋ยวจะมากล่าวหาว่าตนไม่เป็นธรรมอีก

คงไม่มีใครใจร้ายไปกล่าวหาท่านอย่างนั้น ก็เชื่อกันมาตั้งแต่คราวเกิดอภินิหารกฎหมายของสนช.แล้วว่า คนที่แต่งตั้งสมาชิกสภาตรายางสั่งใครไม่ได้จริงๆ (ฮา) อย่างไรก็ตาม ประเด็นประธานกรรมาธิการฯ ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญนั้น แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอื่นก็แสดงความกังวลใจอยู่ไม่น้อย เช่น สุวัจน์ ลิปตพัลลภ จากชาติพัฒนา ที่ระบุว่า เรื่องนี้ต้องพูดคุยกันให้ได้ข้อยุติในพรรคร่วมรัฐบาล เพราะความเห็นที่แตกต่างกันทำให้กระทบกับเสถียรภาพ และเกิดความไม่เข้าใจในสังคม

ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มองว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะมีความขัดแย้งกับเรื่องอย่างนี้ได้อย่างไร เพราะมารยาททางการเมืองก็มีอยู่ เดี๋ยวก็หาทางออกกันได้ ทุกชื่อที่ถูกเอ่ยขึ้นล้วนเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าต่อบ้านเมือง แต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องมีการหารือพูดคุยกัน ไม่ใช่เรื่องใหญ่ โดยสิ่งที่เสี่ยหนูท่องมาตลอดคือ เมื่อทุกคนทุกฝ่ายตั้งใจทำประโยชน์เพื่อประเทศและประชาชน คงไม่มาขัดแย้งกันและพังพาบด้วยเรื่องแบบนี้ ก็หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น

จะว่าไปแล้วเรื่องแก้รัฐธรรมนูญนั้น ประเด็นเรื่องใครจะมานั่งประธานกรรมาธิการศึกษาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขคงไม่สำคัญ อย่างที่ นพดล ปัทมะ แกนนำจากเพื่อไทยว่า ต้องไปดูเป้าประสงค์ในการแก้เพื่ออะไร ประชาชนจะได้อะไร และจะแก้ในเรื่องใด เรื่องเหล่านี้ต้องได้รับความเห็นพ้องต้องกันทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และส.ว. จำนวนหนึ่ง เพราะขาดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็เดินหน้ายาก คงต้องบอกว่ายังขาดอีกหนึ่งคือผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เพราะถ้าไม่สั่งให้พวกลากตั้งซ้ายหันขวาหัน สิ่งที่คิดกันอยู่เวลานี้ก็เป็นหมัน

Back to top button