เปิดโผ 7 หุ้นตัวท็อป SET แรลลี่ยาว! โชว์ 10 เดือนโกยรีเทิร์นเกิน 100% 

เปิดโผ 7 หุ้นตัวท็อป SET แรลลี่ยาว! โชว์ 10 เดือนโกยรีเทิร์นเกิน 100% 


ทิศทางการลงทุนในช่วง  10 เดือนแรกปี 2562 จะพบว่าดัชนีได้อ่อนตัวหลุดแนวรับสำคัญหลายครั้งโดยในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนมีการปรับตัวลงต่อเนื่องและหลุดระดับ 1700 จุด เนื่องจากนักลงทุนกังวลปัจจัยสงครามการค้า,การประท้วงในฮ่องกงทำให้  Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้จะเห็นว่าในเดือนตุลาคม 2562 ดัชนีได้ปรับตัวลดลงแรงอีกครั้งและหลุดแนวรับสำคัญ 1600 จุด เนื่องจากมีการประกาศงบการเงินกลุ่มธนาคารและมีแรงเทหุ้นในกลุ่มแบงก์ เนื่องจาก KBANK ได้ประกาศเป้าหมายทางการเงินปีหน้าออกมาแล้วดูไม่ดี ทำให้นักลงทุนกังวลว่าแบงก์อื่นก็จะประกาศเป้าหมายทางการเงินปีหน้าไม่ดีเช่นเดียวกันจึงทำทำให้มีแรงขายหุ้นกลุ่มแบงก์ออกมาฉุดดัชนีฯราว 6-7 จุด เมื่อวันที่ 24 ต.ค.62

อีกทั้งตลาดได้รับปัจจัยลบกรณีที่สหรัฐฯระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) สินค้าไทยบางรายการ กำหนดให้มีผลบังคับใช้วันที่ 25 เม.ย.63 ฉุดให้มีแรงขายนำหุ้นกลุ่มส่งออก

ขณะเดียวกันแม้ว่าช่วงนี้เหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกงได้กลับมารุนแรงและกดดันภาวะการลงทุนรอบใหม่ อีกทั้งการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีความไม่แน่นอนอีกครั้ง หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ออกมาบอกว่า ยังไม่ได้ตกลงที่จะลดภาษีสินค้านำเข้าสินค้าให้กับจีน และก็แสดงความไม่เห็นด้วยตลาดฯจึงมีความกังวล

อย่างไรก็ตามแม้ว่าทิศทางการลงทุนจะผันผวนแต่ขณะนี้ดัชนีขึ้นมายืนเหนือระดับ 1600 จุด ได้อีกครั้ง เนื่องจากนักลงทุนเข้ามาซื้อซื้อสะสมหุ้นกลุ่ม Big Cap ที่ปรับฐานลงมาแรง และราคาแกร่งกว่าตลาดช่วยหนุนให้ดัชนีมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ ดังนั้นทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการสำรวจกลุ่มหุ้น SET ในช่วง 10 เดือนมานำเสนอ โดยครั้งนี้นำเสนอเพียง 7 อันดับแรกที่ราคาปรับตัวแรงเกิน 100% มานำเสนอดังตารางประกอบ

โดยอันดับ 1 คือ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG โดยราคาหุ้นในช่วง 10 เดือนปรับตัวขึ้นถึง 173.98%  จากยืนที่ระดับ 30.75 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.61 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 84.25 บาท ณ วันที่ 31 ต.ค.62 โดยได้รับแรงหนุนจากแผนธุรกิจเด่นและผลประกอบการสดใสอีกทั้งคาด่าปีนี้จะเป็นปีทองของ CBG

ล่าสุดกำไรไตรมาส 3/62 อยู่ที่ 732.02 ล้านบาท โต187% จากปีก่อนอยู่ที่ 255.25 ล้านบาท ทำจุดสูงสุดใหม่ เนื่องจากกรายได้จากการขายรวมเพิ่มขึ้นทั้งยอดขายในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการและบริหารปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า CBG แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 102 บาท/หุ้น กำไรในไตรมาส 4/62 คาดว่าจะดียิ่งขึ้นอีก จากช่วง high season และมาร์จิ้นที่เพิ่มขึ้น

 

อันดับ 2 บริษัท อิชิตันกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI โดยราคาหุ้นในช่วง 10 เดือนปรับตัวขึ้นถึง 126.51%  จากยืนที่ระดับ 2.98 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.61 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.75 บาท ณ วันที่ 31 ต.ค.62

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 อยู่ที่ 72.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 23.70 ล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายรวมไตรมาส 3/62 อยู่ที่ระดับ 1,068.85 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 1,222.87 ล้านบาท

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ICHI (BUY, TP20F THB 9.05): ผู้บริหารได้ให้มุมมองที่ Positive ขึ้นมากต่อภาพรวมธุรกิจ ด้วยกัน 4 ประเด็น เริ่มจาก 1) ยอดขายรวมเติบโตสูง +23.4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากยอดขายในประเทศที่เติบโตดีจากชา ชิซึโอกะ เป็นหลัก โดยในไตรมาส 2/62 ยอดจำหน่าย ชิซึโอกะ เติบโตเป็น 10.6% ของยอดขายรวม ทำให้อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) เร่งตัวจาก มาร์จิ้นที่สูงกว่าสินค้าประเภทอื่น และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการเพิ่มสินค้าใน Modern trade ประเภทต่างๆ และมีแนวโน้มนำสินค้าเข้า Traditional trade ในอนาคต

 

อันดับ 3 บริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMANAH โดยราคาหุ้นในช่วง 10 เดือนปรับตัวขึ้นถึง 119.12%  จากยืนที่ระดับ 1.36 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.61 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.98 บาท ณ วันที่ 31 ต.ค.62

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้(7ต.ค.62) ว่า AMANAH คงคำแนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 3.60 บาท อิง 2020E PBV 2.2x (+2.5SD above 3-yr average PBV) บริษัทรายงานกำไรสุทธิไตรมาส3/62 ที่ 69 ล้านบาท (+76% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, +18% เทียบไตรมาสก่อนหน้า) ดีกว่าคาด จากสินเชื่อขยายตัว +11% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, +6% เทียบไตรมาสก่อนหน้า ตามยอดอนุมัติสินเชื่อใหม่ 477 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์, NPLs ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 6.1% และ Non-NII ปรับตัวเพิ่มขึ้น +70% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, +40% เทียบไตรมาสก่อนหน้า

โดยกำไรสุทธิ 9 เดือนปี 2563 คิดเป็น 74% ของกำไรสุทธิปี 2563 จึงคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2019E/20E ที่ 238 และ 290 ล้านบาท (+45%, +22% ตามลำดับ) โดยคาดว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 4/62  จะยังดีต่อเนื่อง เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ เทียบไตรมาสก่อนหน้า ทำให้มี upside ต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 ขั้นต่ำ +3% ขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 39% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาจากการคาดหวังผลประกอบการที่ดีขึ้นเป็นหลัก

ทั้งนี้ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” เนื่องจากโอกาสในการขยายสินเชื่อที่ aggressive มากขึ้น และบริษัทจะเพิ่มการยึดรถแทนการประนีประนอมของ NPLs ที่จะส่งผลบวกต่อ LGD ที่ลดลง และค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯที่ลดลง ซึ่งก่อให้เกิดโอกาสที่จะ Reverse สำรองส่วนเกินกลับมาเป็นรายได้ในอนาคต ซึ่งเรายังไม่รวมในประมาณการ

 

อันดับ 4 บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ราคาหุ้นในช่วง 10 เดือนปรับตัวขึ้นถึง 109.30%  จากยืนที่ระดับ 8.60 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.61 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 18.00 บาท ณ วันที่ 31ต.ค.62

บล.ทิสโก้ ระบุว่า คาดปีนี้ PTG จะทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,559 ล้านบาท เติบโต 149% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยผลักดันหลักยังมาจากปริมาณขายที่เติบโตและค่าการตลาดน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง และคาดเริ่มเก็บเกี่ยวรายได้จากธุรกิจ Non-Oil จากแนวโน้มธุรกิจร้านกาแฟทั้งร้านกาแฟพันธุ์ไทยและ Coffee World ที่คาดจะถึงจุดคุ้มทุนในปีหน้า และคาดจะเริ่มเห็นธุรกิจอื่นๆ เริ่มทยอยคุ้มทุนในปีต่อไป อีกทั้งยังได้ผลบวกจากการเริ่มบังคับใช้น้ำมัน B10 ในปี 2020F ดังนั้นยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” สำหรับ PTG เป้าหมาย 24 บาท

 

อันดับ 5 บริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ BFIT ราคาหุ้นในช่วง 10 เดือนปรับตัวขึ้นถึง 107.10%  จากยืนที่ระดับ 16.90 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.61 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 35.00 บาท ณ วันที่ 31ต.ค.62 คาดเข้ามาไล่ราคาหลัง SAWAD เข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัท 82% หนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/62 กำไรสุทธิ 321.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 221.37 ล้านบาท หรือ 191.76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีกำไรสุทธิ 110.23 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 265.26 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจำนวน 212.89 ล้านบาท สอดคล้องกับการเติบโตของพอร์ตลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้น และการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจำนวน 52.37 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับเงินให้สินเชื่อจำนวน 11.54 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของพอร์ตลูกหนี้ของบริษัท ขณะที่ยังมีการลดลงของรายการหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 44.58 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทได้นำมูลค่าของหลักประกันมาหักออกจากราคาตามบัญชีของลูกหนี้ก่อนการกันเงินสำรอง ทั้งนี้ การปฏิบัติดังกล่าวสอดคล้องกับแนวนโยบายการจัดชั้นและการกันสำรองตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

อันดับ 6 บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TQM ราคาหุ้นในช่วง 10 เดือนปรับตัวขึ้นถึง 103.95%  จากยืนที่ระดับ 22.80 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.61 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 46.50 บาท ณ วันที่ 31 ต.ค.62 เนื่องจากพื้นฐานหุ้นแข็งแกร่งทำให้นักลงทุนเข้ามาไล่ราคาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 มีกำไร 127.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากปีก่อนอยู่ที่ 93.14 ล้านบาท โดยรายได้รวมของไตรมาสนี้เพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของค่าเบี้ยประกันวินาศภัย โดยเบี้ยประกันภัยประเภทรถยนต์มีการเพิ่มขึ้น 5.84% และประกันภัยประเภทเบ็ดเตล็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.21 ตามสถิติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

 

อันดับ 7 บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART โดยราคาหุ้นในช่วง 10 เดือนปรับตัวขึ้นถึง 103.59%  จากยืนที่ระดับ 4.74  บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.61 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 9.65 บาท ณ วันที่ 30 ต.ค.62

โดย บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น JMART ประเมินราคาเป้าหมาย 12.40 บาท/หุ้น ประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 3/62 ที่ระดับ 150.3 ล้านบาท ทำจุดสูงสุดใหม่รายไตรมาสตั้งแต่เข้าตลาดฯ เติบโตก้าวกระโดด 5,637% เมื่อเทียบจากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน นำโดย JMT (ถือหุ้น 55.8%) จากพอร์ตหนี้เสียบางส่วนตัดเงินลงทุนหมด ส่งกำไรให้ JMART สูงถึง 98 ล้านบาท และ SINGER นำเงินเพิ่มทุนไปต่อยอด ปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์เต็มไตรมาส คาดส่วนแบ่งกำไร 17.2 ล้านบาท

ทั้งนี้หากกำไรไตรมาส 3/62 ออกมาตามคาด รวมกำไรช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 จะมีสัดส่วนเท่ากับ 78% ของประมาณการทั้งปี ในขณะที่แนวโน้มกำไรไตรมาส 4/62 มีโอกาสเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปี จึงเริ่มเห็น Upside risk ของฐานกำไรปี 2562

ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button