พลังของ ‘วันคนโสด’

ผ่านไปอีกปี กับ “วันคนโสด”  หรือ Singles Day มหกรรมช้อปปิ้งออนไลน์ซึ่งตรงกับวันที่ 11 เดือน 11  วันนี้ถือกำเนิดมาจากประเทศจีน แต่ในขณะนี้กำลังจะลุกลามไปทั่วโลก  โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตกำลังโตอย่างร้อนแรง


พลวัตปี 2019 : ฐปนี แก้วแดง(แทน)

ผ่านไปอีกปี กับ “วันคนโสด”  หรือ Singles Day มหกรรมช้อปปิ้งออนไลน์ซึ่งตรงกับวันที่ 11 เดือน 11  วันนี้ถือกำเนิดมาจากประเทศจีน แต่ในขณะนี้กำลังจะลุกลามไปทั่วโลก  โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตกำลังโตอย่างร้อนแรง

ลาซาด้าเปิดเผยว่า ได้รับออเดอร์กว่า 3 ล้านออเดอร์ภายใน 60 นาทีแรกของการช้อปปิ้งในวันซิงเกิลส์เดย์ ของปีนี้  โดยตลาดหลักของลาซาด้าคือ  6 ตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย

ในขณะเดียวกัน อาลีบาบา ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของลาซาดา รายงานว่า  ปริมาณสินค้ารวม (GMV) (ซึ่งเป็น ตัวชี้วัดที่สำคัญในอุตสาหกรรม ต่อมูลค่าเงินในรูปเงินดอลลาร์ทั้งหมดของสินค้าที่ขายออนไลน์) อยู่ที่ 38,400 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าปีที่แล้ว    ซึ่งทำยอดขายได้ 213,500 ล้านหยวน หรือ เกือบ 30,500 ล้านดอลลาร์

ช้อปปี้ ซึ่งเป็นอี-คอมเมิร์ซของกลุ่มซี-กรุ๊ป ก็ได้รับคำสั่งซื้อในชั่วโมงแรกของวันที่ 11 เดือน 11 มากกว่าปีที่แล้วถึงสามเท่า เช่นกัน

นี่คือพลังของมหกรรมช้อปปิ้งวันคนโสดที่แรงยังไม่ตกลงแม้แต่น้อย  แม้ว่าได้ทำแคมเปญนี้มานานหลายปีแล้วก็ตาม

วันคนโสดเริ่มขึ้นในประเทศจีนเมื่อ 10 ปีก่อน โดยมีต้นกำเนิดมาจากมหาวิทยาลัยหนานจิง เมื่อปี 2536  จากนั้นการเฉลิมฉลองได้แพร่ไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ

คำว่า Singles day   หรือ Guanggun Jie ในภาษาจีน เป็นวันที่หนุ่มสาวชาวจีนฉลองให้กับความเป็นโสด และที่เลือกวันที่ 11 เดือน 11 เพราะว่า เลข “1” เหมือนคนที่อยู่คนเดียว

อย่างไรก็ดี วันนี้ยังได้กลายเป็นวันที่คนนิยมฉลองความสัมพันธ์เช่นกัน โดยในปี 2554  มีคู่รักชาวจีนแต่งงานในกรุงปักกิ่งถึง 4,000 คู่ จากที่มีการแต่งงานเฉลี่ยเพียง 700 คู่ต่อวัน

จากวันฉลองแก้เซ็งของคนโสดธรรมดา กลายมาเป็นวันทำเงินให้กับบริษัทออนไลน์ ได้อย่างมหาศาล

เว็บไซต์ของอาลีบาบา ทั้ง Tmall และ Taobao  ได้ทำยอดขายทะลุ 5,800 ล้านดอลลาร์ ในปี 2556  จากนั้นเพิ่มเป็น 9,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2557  และขยับขึ้นเป็น 14,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2559 และเป็น 17,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2559 และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 25,400 ในปี 2560   พอปี 2561 ยอดขายยังเพิ่มต่อเป็น 30,700 ล้านดอลลาร์  และในปีนี้ยอดขายทะลุไป 38,400 ล้านดอลลาร์

ความร้อนแรงของมหกรรมช้อปปิ้งในวันคนโสด ได้ลุกลามมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างรวดเร็ว มีรายงานจากฟอร์เรสเตอร์ รีเสิร์ชที่ชี้ให้เห็นว่า  อี-คอมเมิร์ซจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดยเชื่อว่าภายในปี 2568  เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีมูลค่าถึง 300,000 ล้านดอลลาร์

คาดว่า ยอดค้าปลีกออนไลน์ในภูมิภาคจะโตจาก 19,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2561 เป็น 53,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2569 หรือมีสัดส่วนประมาณ 6.5% ของยอดขายปลีก และยอดขายปลีกออนไลน์ส่วนใหญ่จะมาจากโทรศัพท์มือถือ

เสี่ยงเฟ็ง หวาง นักวิเคราะห์อาวุโสของ ฟอร์เรสเตอร์ รีเสิร์ช  กล่าวว่า  อี-คอมเมิร์ซจะโตอย่างรวดเร็วและ Marketplace จะมีอิทธิพลมาก

Marketplace หมายถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซรูปแบบหนึ่งที่บริษัทหนึ่งสร้างแพลตฟอร์ม หรือ Marketplaceขึ้นมา เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายที่เป็นบุคคลที่สาม มาทำธุรกรรมกัน ซึ่งแตกต่างจากผู้ค้าปลีกออนไลน์ที่ส่วนใหญ่ขายผลิตภัณฑ์ของตนเองบนเว็บไซต์ ในขณะนี้ marketplaces มีความแข็งแกร่งมาก โดยมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และในบางประเทศได้มีการควบรวมกันจนเหลือแต่รายใหญ่ ๆ

บริษัทอย่างลาซาด้า ช้อปปี้  และ โตโคปีเดีย และบูคาลาปักในอินโดนีเซีย  ถือเป็นตัวหลักที่ควบคุมการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่ทำกำไรงามให้แก่บริษัทอินเทอร์เน็ต เพราะมีว่าอัตราการใช้สมาร์ตโฟนในระดับสูง  การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตปรับปรุงได้ดีขึ้น และมีประชากรเพิ่มขึ้น  ในภาคค้าปลีก การช้อปปิ้งส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคงทำแบบออฟไลน์ ซึ่งมีพื้นที่เหลือเฟือสำหรับบริษัท อี-คอมเมิร์ซที่จะหาลูกค้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะเดียวกัน ผู้ค้าปลีกออฟไลน์กำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบดิจิทัลและยอมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วย

ปิแอร์ ปัวยองต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลาซาด้า กรุ๊ป กล่าวว่า ในขณะนี้บริษัทกำลังเน้นสร้างฐานลูกค้าให้โตขึ้น โดยจากตัวเลขถึงวันที่ 31 สิงหาคม ลาซาด้ามีผู้ใช้ใน 6 ตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มากกว่า 50 ล้านคนต่อปี

ปัจจัยที่กำลังเร่งให้เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงเป็นดิจิทัล  คือ   การเติบโตของภูมิภาคและสภาพแวดล้อมทางมหภาค พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและการลงทุนในภูมิภาคอยู่ในระดับสูง

จุนจี้ โจว ซีอีโอของช้อปปี้ ก็มอง ตลาดอี-คอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านบวกเช่นกัน  โดยเชื่อว่ายังอยู่ในช่วงที่กำลังโตอย่างรวดเร็ว และมองว่าค้าปลีกออนไลน์ยังคงมีเปอร์เซ็นต์น้อยมากเมื่อเทียบกับการค้าปลีกทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกัน มันกำลังโตเร็วกว่ามาก เมื่อเทียบกับการค้าปลีกออฟไลน์แบบดั้งเดิม

อย่างไรก็ดี รายงานของฟอร์เรสเตอร์ ระบุว่า  ในที่สุดแล้ว ผู้เล่นในอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซที่มีบริษัทใหญ่ ๆ หนุนหลัง จะเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กว่าบริษัทอื่น ๆ เมื่อการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น  บริษัทต่าง ๆ จะพยายามเอาชนะบริษัทอื่น ๆ ให้ได้เพื่อที่จะได้ครองส่วนแบ่งตลาด ซึ่งผู้ที่มีเงินหนากว่า เท่านั้นจึงก็จะอยู่ได้

เชื่อว่า พลังแห่ง “วันคนโสด” จะไม่มีวันเสื่อมมนต์ขลังง่าย ๆ และนับวันน่าจะยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะตามธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ว่าจะโสดหรือไม่โสด  ลองมีคนมาเสนอขายของถึงบ้าน มีหรือจะไม่สนใจ  ยิ่งได้เห็นป้ายลดราคามาเตือนวิบวับทั้งวัน  ใครมันจะอดใจไหวเป็นต้องกดเข้าไปดูทุกราย และแล้วก็เรียบร้อยเสร็จโรงเรียน ลาซาด้า” ทุกราย

 

Back to top button