ลูกหนี้มีเฮ! “ธปท.” เตรียมดันโครงการรีไฟแนนซ์ ลดดอกเบี้ยพิเศษเหลือ 7-12%

"ธปท." เตรียมดันโครงการรีไฟแนนซ์ ช่วยลูกหนี้บัตรเครดิต-บัตรกดเงินสด วินัยดี ปรับลดดอกเบี้ยพิเศษเหลือ 7-12%


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมผุด “โครงการรีไฟแนนซ์” ให้กับลูกหนี้กลุ่มบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดที่มีวินัยในการชำระหนี้  ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงร่างรายละเอียด คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในต้นปี 63 ทั้งนี้ เบื้องต้นผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพียง 7-12% จากอัตราดอกเบี้ยปกติที่ 18-28%

โดย ธปท.เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อช่วยลดภาระการเงินให้กับประชาชนที่มีวินัยการชำระหนี้เป็นอย่างดีท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อีกทั้งยังเป็นการช่วยป้องกันลูกหนี้กลุ่มนี้ไม่ให้ตกชั้นกลายเป็นหนี้เสีย เนื่องจากปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณผิดนัดชำระหนี้ที่มากขึ้น

ซึ่งผู้ที่จะเข้าโครงการนี้ได้ อย่างน้อยต้องเป็นลูกหนี้ที่มีวินัยดี โดย ธปท.ขีดเงื่อนไขเบื้องต้นว่า ต้องผ่อนชำระต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 12 เดือน และต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ประจำ อายุไม่เกิน 70 ปี ณ วันสิ้นสุดสัญญา ส่วนรูปแบบการชำระ ต้องผ่อนชำระคงที่ตลอดสัญญา โดยระยะเวลาผ่อนอยู่ในช่วง 1-4 ปี วงเงินไม่เกินรายละ 1 แสนบาท นอกจากนั้นผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการต้องยินยอมให้ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เครดิตบูโร) สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทุกเดือน

ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจะขึ้นกับสาขาอาชีพและระยะเวลาผ่อนชำระ โดยกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานและลูกจ้างองค์กรของรัฐ ที่มีรายได้ประจำ มีระดับความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ต่ำกว่า 5% จะได้รับการคิดดอกเบี้ย 7-10% ขึ้นกับระยะเวลาการผ่อนชำระ ส่วนประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ต่ำกว่า 8% จะได้รับการคิดอัตราดอกเบี้ย 9-12% ขึ้นกับระยะเวลาผ่อนชำระ

อย่างไรก็ตาม มีการประมาณการกันว่าผู้ที่จะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการรีไฟแนนซ์ของ ธปท. มีราว 4.7 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้รวมประมาณ 1.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น “ลูกหนี้บัตรเครดิต” ที่มีประวัติผ่อนชำระต่อเนื่อง 12 เดือน ราว 3 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 9 หมื่นล้านบาท คิดเป็นยอดเฉลี่ยต่อบัญชี 3 หมื่นบาท ส่วน “ลูกหนี้บัตรกดเงินสด” ที่ชำระหนี้ต่อเนื่อง 12 เดือน มีราว 1.7 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 6 หมื่นล้านบาท คิดเป็นยอดเฉลี่ยต่อบัญชีราว 3.5 หมื่นบาท

Back to top button