“พาณิชย์” ชี้ส่งออกไทยได้ประโยชน์การค้าสหรัฐ-จีน พร้อมลุยศึกษา FTA ไทย-UK หลัง Brexit

"กระทรวงพาณิชย์" มองส่งออกไทยได้ประโยชน์จากเจรจาการค้าสหรัฐ-จีนบรรลุข้อตกลง เฟสแรก พร้อมศึกษา FTA ไทย-อังกฤษ หลัง Brexit


น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน และผลเลือกตั้งของสหราชอาณาจักรว่า ขณะนี้สหรัฐฯและจีนยืนยันบรรลุข้อตกลงการค้าระยะแรก(Phase-1) เรียบร้อยแล้ว ขณะที่นายบอริส จอห์นสัน หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมคว้าชัยชนะการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ด้วยคะแนนเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งในสหราชอาณาจักร(UK)

ทั้งนี้ แม้สหรัฐฯ-จีน จะยังไม่เปิดเผยเนื้อหาข้อตกลงระยะแรกอย่างเป็นทางการ ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทบทวนทางกฎหมาย และขัดเกลาถ้อยคำก่อนเข้าสู่กระบวนการลงนามต่อไป การยืนยันจากทั้งสองประเทศจะช่วยให้บรรยากาศทางการค้าดีขึ้น และคลายความกังวลว่าสงครามการค้าจะไม่ลุกลามไปถึงการขึ้นภาษีนำเข้าเต็มจำนวน โดยปรากฏรายละเอียดข้อตกลงบางส่วน ได้แก่ สหรัฐฯ เสนอว่า 1. ยกเลิกการขึ้นภาษี 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมสินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือ แล็บท็อปคอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นวิดีโอเกม โทรทัศน์ วิทยุ จอคอมพิวเตอร์ และสินค้าผู้บริโภคอื่นๆ เช่น นาฬิกา ของเล่น รองเท้าและเครื่องแต่งกาย(กำหนดเดิมวันที่ 15 ธค. 62)  2. ปรับลดภาษีสินค้า 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเหลืออัตรา 7.5% (จากเดิม 15% และบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 62) ทั้งนี้ จะยังคงภาษี 25% สำหรับสินค้ามูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่จีนตกลงในประเด็น 1. การซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเวลา 2 ปี โดยจีนเน้นย้ำว่าจะต้องสอดคล้องกับความต้องการตลาดและเป็นไปตามข้อตกลงภายใต้ WTO  2. ลดอุปสรรคทางการค้าในภาคการบริการ อาทิ การเงินสาขาการธนาคาร การประกันภัย และหลักทรัพย์  3. แก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับการบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี และละเว้นการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศเพื่อการครอบครองเทคโนโลยีต่างชาติ  4. ละเว้นการดำเนินนโยบายค่าเงินที่สร้างความได้เปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม พร้อมกันนี้ สหรัฐฯ ประกาศเดินหน้าเจรจาข้อตกลงระยะสอง(Phase-2 Deal) ทันที

นอกจากนี้ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ(USTR) เปิดเผยว่า เนื้อหาของข้อตกลง Phase-1 Deal ประกอบด้วยประเด็นสำคัญเชิงโครงสร้างและการขยายการค้าระหว่างกัน ได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญา, การถ่ายทอดเทคโนโลยี, สินค้าเกษตร, การบริการทางการเงิน, อัตราแลกเปลี่ยน, การขยายการค้า(ครอบคลุมสินค้าอุตสาหกรรม อาหาร สินค้าเกษตรและอาหารทะเล พลังงาน และภาคบริการ)  และกลไกการระงับข้อพิพาท(Dispute Resolution)

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จของการเจรจา Phase-1 Deal นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องที่สหรัฐฯ ผลักดันให้จีนแก้ไข โดยประเมินว่าทั้งสองฝ่ายต่างต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและผลกระทบต่อธุรกิจและผู้บริโภค โดยข้อตกลงระยะแรก จะช่วยลดภาระภาษีนำเข้าแก่ผู้ประกอบการสหรัฐฯ และช่วยลดแรงกดดันด้านราคาต่อผู้บริโภค รวมถึงการบรรเทาภาวะการส่งออกและเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อน โดยคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนขยายตัวดีขึ้น อีกทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลก รวมถึงการส่งออกไทยให้ขยายตัวได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการ สนค. ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อตกลงระยะแรกไม่ระบุเงื่อนไขให้จีนลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ดังนั้นไทยจึงควรเร่งใช้โอกาสในการทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ต่อไป อย่างไรก็ดี ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 62 พบว่าไทยสามารถทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในจีนได้ดี โดยจีนนำเข้าจากสหรัฐฯ ลดลง 31.9% ขณะที่นำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น 1.5% โดยเฉพาะอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เครื่องประดับ และเครื่องสำอาง และสิ่งมีชีวิต/ส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิต

ขณะที่การลดภาษีนำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ อาจทำให้ไทยได้ประโยชน์ลดลงจากการเบี่ยงเบนทางการค้า(Trade Diversion) เนื่องจากสินค้าจีน จะกลับเข้าไปในตลาดสหรัฐฯ มากขึ้น ทั้งนี้ ไทยควรกระชับมิตรผู้นำเข้า ควบคู่กับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดให้มีเสถียรภาพ โดย 3 ไตรมาสแรก ปี 62 สหรัฐฯ นำเข้าจีนลดลง 14% ขณะที่นำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น 2.9% โดยกลุ่มสินค้าส่งออกไทยที่ทดแทนสินค้าจีนได้ดี ได้แก่ สินค้าเกษตรกรรม อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักร เครื่องมือและส่วนประกอบ เหล็กและอลูมิเนียม และของใช้ในบ้านและสำนักงาน

สำหรับประเด็นการเลือกตั้งสหราชอาณาจักร(UK) เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 62 นั้น น.ส.พิมพ์ชนก ให้ข้อมูลว่า พรรคอนุรักษ์นิยมของนายบอริส จอห์นสัน คว้าชัยชนะได้เสียงข้างมาก 364 จาก 650 ที่นั่งในรัฐสภา ซึ่งการชนะเสียงข้างมากของพรรคอนุรักษ์นิยมสร้างความชอบธรรมในการนำ UK เดินหน้าออกจากสหภาพยุโรป(EU) และคาดว่านายบอริส จอห์นสัน จะเร่งผลักดันร่างกฎหมายการถอนตัวจากสหภาพยุโรป(Withdrawal Agreement Bill) ให้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา UK ได้ก่อนวันที่ 31 ม.ค.63(กำหนดวันเบร็กซิท) ซึ่งจะทำให้ UK มีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน(Transition Period) 11 เดือน ถึงสิ้นปี 63 ที่สองฝ่ายจะมีการเจรจาความสัมพันธ์ในอนาคตด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคง

โดยในด้านเศรษฐกิจ อาจเป็นการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งจากการประเมินเห็นว่า การเจรจาความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างสองฝ่ายอาจไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ทันในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน และมีโอกาสที่จะขยายเวลา ซึ่งในร่างกฎหมายการถอนตัวฯ ระบุว่าถ้าสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันก็สามารถขยายเวลาได้มากที่สุด 2 ปี(จนถึงสิ้นปี 65)

ในส่วนของความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าอันดับที่ 20 ของไทย และอันดับที่ 2 จาก EU (รองจากเยอรมนี) มีมูลค่าการค้ามากกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยกระทรวงพาณิชย์มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าและสร้างเครือข่ายธุรกิจกับ UK อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการขายสินค้าไทยบนเว็บไซต์ซูเปอร์มาเก็ตออนไลน์ อาทิ Ocado นอกจากนี้ คณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์มีกำหนดเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรปี 63 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุน ผลักดันการจัดตั้งคณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างไทยกับ UK (Joint Trade Committee: JTC) ระดับรัฐมนตรี เพื่อเป็นกลไกการหารือระดับทวิภาคีในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า การทบทวนนโยบายการค้า(Trade Policy Review) และการต่อยอดไปสู่การจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหราชอาณาจักรต่อไป

ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยอยู่ระหว่างจัดทำรายงานทบทวนนโยบายการค้ากับ UK เพื่อปูทางไปสู่การจัดทำเอฟทีเอระหว่างกันในอนาคต หากทั้งสองฝ่ายมีความพร้อมและเห็นว่าเป็นประโยชน์ ขณะเดียวกัน ทางกรมฯ เตรียมจ้างหน่วยงานวิจัยภายนอก ศึกษาประโยชน์และผลกระทบต่อไทย หากมีการทำเอฟทีเอกับ UK  รวมทั้งจัดรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และภาคประชาสังคม เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลเสนอระดับนโยบายตัดสินใจเรื่องการทำเอฟทีเอระหว่างสองประเทศต่อไป

ทั้งนี้  UK เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 20 ของไทย และอันดับที่ 2 จากสหภาพยุโรป (รองจากเยอรมนี) โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม – ตุลาคม) การค้ารวมมีมูลค่า 5,285.17 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 3,282.10 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น รถยนต์และอุปกรณ์ ไก่แปรรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น และนำเข้า 2,003.07 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ น้ำมันดิบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องดื่ม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เป็นต้น

Back to top button