เผด็จถุงก๊อบแก๊บ

400 โรงงานพลาสติกดิ้นขอรัฐเยียวยา หลัง ครม.มีมติ งดใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป จากเดิมที่วางโรดแมปไว้ 1 ม.ค. 2565 ร่นเวลาเร็วขึ้น 2 ปี มีมติล่วงหน้าไม่ถึง 2 เดือน (12 พ.ย. 2562) ออเดอร์หายวับทันที SME ปรับตัวไม่ทัน 50 โรงงานอาจต้องทยอยปิดงานเลิกจ้าง


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

400 โรงงานพลาสติกดิ้นขอรัฐเยียวยา หลัง ครม.มีมติ งดใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป จากเดิมที่วางโรดแมปไว้ 1 ม.ค. 2565 ร่นเวลาเร็วขึ้น 2 ปี มีมติล่วงหน้าไม่ถึง 2 เดือน (12 พ.ย. 2562) ออเดอร์หายวับทันที SME ปรับตัวไม่ทัน 50 โรงงานอาจต้องทยอยปิดงานเลิกจ้าง

บางคนอ่านข่าวแล้วโพสต์เฟซว่า สม หากินกับการทำลายสิ่งแวดล้อมมานาน แหม่ คงเป็นโรคชังถุงก๊อบแก๊บขึ้นสมอง ไม่มองว่าตัวเองก็ได้ความสะดวกมาหลายสิบปี การผลิตหรือใช้อะไรสมัยนี้กระทบสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น รถยนต์ น้ำมัน แบตเตอรี่ แอร์ อุปกรณ์มือถือ ก็ล้วนก่อมลภาวะ หมดอายุแล้วเป็นขยะกำจัดยาก เพียงแต่ถุงพลาสติกมันเยอะมากจนต้องรีบลดใช้

แต่ถ้าจะบอกถุงพลาสติกต้องหมดโลก หมดประเทศไทย ก็คงยาก ต้องประกอบกันทั้งลดใช้ คัดแยกขยะ รีไซเคิล

ถุงพลาสติกกำจัดหมดไม่ได้หรอก ดูง่าย ๆ ร้านสะดวกซื้อ “หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา” ลดใช้ถุงก็ยังขายข้าวกล่องไมโครเวฟ ช้อนส้อมใช้แล้วทิ้ง ซึ่งเป็นขยะเสียยิ่งกว่า แต่พอซื้อหมากฝรั่ง “รับถุงไหมคะ” ใครจะเอาวะ ก็กลายเป็นทำความดีกับพี่ตูนไปซะอีก

หลังวันที่ 1 ม.ค. ซื้อเนื้อสัตว์ในห้าง ก็ยังใส่ถุงใส่กล่องพลาสติก เพียงแต่ตอนจ่ายตังค์ไม่แจกถุงก๊อบแก๊บ อยากได้ต้องซื้อเอง หรือต้องพกถุงผ้า ซึ่งคนชั้นกลางบางคนทนรอแทบไม่ไหว พกถุงผ้าไว้เต็มรถ ซื้อแจกกันหลากลายหลายสีสัน ทั้งที่การผลิตถุงผ้าฝ้ายใช้ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมมากกว่าถุงพลาสติกหลายพันเท่า เอาเป็นว่า ถ้าจะใช้ให้คุ้มก็ควรใช้ซ้ำหลายร้อยครั้ง

พูดอย่างนี้ไม่ใช่แอนตี้ตะพึดตะพือ ไม่สงสารปลาพยูนเต่าทะเล แต่ภาพรวมก็คือผู้บริโภครับภาระ ต้องเตรียมถุงผ้า ต้องหาซื้อถุงขยะ จากเมื่อก่อนหิ้วถุงก๊อบแก๊บกลับบ้านแล้วรีไซเคิลเป็นถุงขยะ ขณะที่รัฐบาลได้ผลงาน ห้างร้านได้อวด CSR ลดต้นทุนค่าถุงอีกต่างหาก

แต่ถ้าประชาชนโวยก็เป็นคนผิด ไม่รักษ์โลก ถุงก๊อบแก๊บเป็นผู้ร้าย ทั้งที่ปัญหายังมีอีกมาก ขวดน้ำ หลอด แก้วกาแฟ ข้าวกล่อง ช้อนส้อม ของใช้แล้วทิ้งมีรอบตัว มันยังต้องมีเรื่องคัดแยกขยะ เพื่อรีไซเคิล ซึ่งเมืองไทยแทบจะเป็นศูนย์ ยังไม่เริ่มต้นเลย

พูดอีกอย่างคือ มาตรการเลิกใช้ถุงก๊อบแก๊บ ก็ยังมักง่าย ไม่มีโรดแมปจัดการปัญหาภาพรวมระยะยาว เพียงอาศัยกระแสรักษ์โลก เอาถุงก๊อบแก๊บเป็นผู้ร้ายไว้ก่อน

มีคำถามน่าสนใจว่า ทำไมรัฐบาลเผด็จการ หรือประชาธิปไตยปลอมอำนาจนิยม จึงดูให้ความสำคัญกับปัญหาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม รักษ์โลกรักษ์ป่า ปลอดสารพิษ แล้วใช้อำนาจเฉียบขาดเอาใจกระแส ซึ่งอยู่บนโลกสวยของคนชั้นกลางในเมือง

หรือมองกลับกัน กระแสรักษ์โลก อินทรีย์ ปลอดสารพิษ ก็มีความเป็นอำนาจนิยมอยู่ในตัว มุ่งผลักดันให้รัฐใช้อำนาจบังคับ โดยไม่สนว่าอำนาจและวิธีการชอบธรรมหรือไม่ เพราะถือว่าเราคือมาร์เวลกอบกู้โลก การปลุกกระแสต่าง ๆ จึงมักโหมข้างเดียว เช่นแบน 3 สารพิษ ดีเท่าไหร่ที่เก้อไป

ไม่ได้บอกว่ากระแสรักษ์โลกไม่ดี แต่ปัญหาคือความเชื่อยาแรง ซึ่งเข้ากันได้กับเผด็จการ แล้วก็มักจะถลำไปสู่การแก้แค่ปรากฏการณ์ เฉพาะหน้า วูบวาบหวือหวา แต่ไปไม่ถึงมาตรการจริงจัง อย่างแยกขยะ หรือไม่ได้ตรวจสอบอะไรจริงจัง อย่างโรงไฟฟ้าขยะ ที่แบ่งเค้กกันปากมัน

Back to top button