DTAC ค่าเสียโอกาสจากการไม่เข้าร่วมประมูลมากเกินไป

DTAC จะสร้างรายได้จากบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากการลงทุนขยายโครงข่าย 4G บนคลื่น 2.3 GHz ไปได้มาก


นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ระบุถึงบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ดังนี้

แนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 68.75 บาท: เชื่อว่า DTAC จะสร้างรายได้จากบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากการลงทุนขยายโครงข่าย 4G บนคลื่น 2.3 GHz ไปได้มาก และเริ่มเปลี่ยนโครงข่าย 3G/850 MH เป็นคลื่น 4G/900 MHz เสร็จสิ้นภายในปี 2563 ซึ่งจะทำให้ DTAC เพิ่มความสามารถในการแข่งขันเทียบเคียงกับอีกสองผู้ประกอบการ นอกจากนั้นชอบ DTAC ที่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึง DTAC สามารถควบคุมเงินลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ DTAC มีกระแสเงินสดเหลือพอที่จะจ่ายเงินปันผลได้เพิ่มขึ้นในอนาคต

ราคาหุ้น DTAC ชนะ SET index ในปี 2562: ราคาหุ้น DTAC ปรับตัวขึ้นมา 27% จากสิ้นปี 2561 นับว่าแข็งแรงกว่า SET index ที่ปรับตัวขึ้นเพียง 0.5% อันเนื่องมาจากสภาพการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่อนคลายลง และ DTAC สามารถพลิกฟื้นจนมีรายได้จากการบริการเติบโตขึ้นเป็นครั้งแรกนับแต่ไตรมาส 3/62 โดยมองว่าการมาของเทคโนโลยี 5G ทำให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องรีบเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากการลงทุนใน 4G เพื่อเตรียมเข้าสู่วัฏจักรการลงทุน 5G นอกจากนั้น สภาพของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีผู้เล่นเพียง 3 ราย โดยแต่ละรายต่างมีทรัพยากร ทั้งปริมาณคลื่นความถี่ โครงข่าย และคุณภาพบริการ ไม่แตกต่างกันมากนัก ส่งผลให้สภาพของการแข่งขันด้านราคาผ่อนคลายลงตามลำดับ

เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต: เชื่อว่าผู้บริหาร DTAC จะเรียนรู้จากความผิดพลาดในการประมูลคลื่น 4G และจะตัดสินใจเข้าร่วมประมูลคลื่น 2.6 GHz ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 โดยคาดว่า DTAC จำเป็นต้องได้คลื่น 2.6 GHz อย่างน้อย 30 – 40 MHz เพื่อจะทำให้ DTAC สามารถเปิดตัวบริการ 5G สำหรับผู้บริโภคได้อย่างเทียบเท่ากับ ADVANC และ TRUE ขณะเดียวกัน ฝ่ายวิจัยจะผิดหวังอย่างมากหาก DTAC ตัดสินใจไม่เข้าประมูลคลื่น 2.6 GHz ในครั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า DTAC จะเข้าประมูลคลื่น 3.5 GHz ในรอบถัดไป โดยเชื่อว่าการสูญเสียโอกาสในการเข้าตลาด 5G สำหรับผู้บริโภค และความไม่แน่นอนสำหรับการประมูล และการใช้งานคลื่น 3.5 GHz จะสร้างค่าเสียโอกาสทางธุรกิจให้แก่ DTAC อย่างมาก

เงื่อนไขการประมูลคลื่น 2.6 GHz มีความสำคัญ: ไม่แปลกใจหาก ADVANC และ TRUE จะพยายามประมูลคลื่น 2.6 GHz ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำในบริการ 5G สำหรับผู้บริโภค ดังนั้น หาก กสทช.ปรับลดระดับเพดานปริมาณคลื่น 2.6 GHz ต่อผู้ประมูล ลงจาก 100 MHz จะทำให้การแข่งขันในการประมูลสมเหตุสมผล และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อ DTAC มากที่สุด นอกจากนั้นยังมีมุมมองเป็นบวกต่อผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หาก กสทช.ตัดสินใจถอดคลื่น 700 MHz จากการประมูลรอบนี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอันใดก็ตาม เพราะเท่ากับว่าผู้ที่สนใจจะเข้าสู่ตลาด 5G จะไม่สามารถเข้าถึงคลื่นช่วงต่ำ ซึ่งจะทำให้มีข้อจำกัดพอสมควรในการที่จะขยายโครงข่ายเพื่อที่จะแข่งขันกับรายเก่าได้

ผลักดันการใช้โครงข่ายร่วมกัน: ทั้งนี้มีมุมมองเป็นบวกต่อ DTAC จากการที่ผู้บริหารพยายามผลักดันการใช้โครงข่ายร่วมกัน ซึ่งจะช่วยลดขนาดของเงินลงทุนในเสาและโครงข่ายโทรคมนาคมที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างผู้ประกอบการ โดยเชื่อว่ามีโอกาสที่ผู้ประกอบการประเภทโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมข้ามชาติจะเข้ามาสร้างธุรกิจและเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการ นอกจากนั้นมองว่ารัฐวิสาหกิจอย่าง TOT และ CAT น่าจะมีความเหมาะสมที่จะเสนอตัวเป็นผู้ลงทุนและให้เช่าโครงสร้างพื้นฐานแก่ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มากกว่าที่จะเข้ามาสู่การแข่งขันในตลาดบริการสำหรับผู้บริโภค

Back to top button