โรงกลั่นกับโอกาส IMO 2020

เริ่มต้นปี 2020 มาพร้อมกับมาตรการ IMO 2020 ที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) บังคับให้เรือทุกลำในโลก จะต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงไม่ให้มีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์เกิน 0.5% จากเดิมเคยใช้อยู่ที่ประมาณ 3.5%


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

เริ่มต้นปี 2020 มาพร้อมกับมาตรการ IMO 2020 ที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) บังคับให้เรือทุกลำในโลก จะต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงไม่ให้มีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์เกิน 0.5% จากเดิมเคยใช้อยู่ที่ประมาณ 3.5%

มาตรการดังกล่าว ทำให้กองเรือ ต้องเปลี่ยนจากน้ำมันเตาที่มีกำมะถันสูง (High Sulfur Fuel Oil: HSFO) มาเป็นน้ำมันเตาที่มีกำมะถันต่ำไม่เกิน 0.5% (Low Sulfur Fuel Oil: LSFO) หรือเปลี่ยนเป็นน้ำมันดีเซลสำหรับเดินเรือ (High Speed Diesel/ Marine Gas Oil: MGO) หรือเชื้อเพลิงอื่นที่สะอาดกว่าอย่าง LNG

Wood Mackenzie ประเมินว่า มาตรการนี้จะทำให้ความต้องการใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดเพิ่มขึ้นราว 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน สวนทางกับปริมาณการใช้ HSFO ที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ..!!

จุดกำเนิดมาตรการนี้มาจากข้อมูล ที่พบว่า เรือขนส่งระหว่างประเทศ เป็นแหล่งกำเนิดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2 ที่เป็นอันตรายต่อทั้งสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ) โดยการปล่อย SO2 จากเรือขนส่ง มีตัวเลขสูงกว่า SO2 จากรถยนต์ดีเซลในยุโรปถึง 3,500 เท่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจำนวนมาก จากโรคหัวใจและมะเร็งปอด..!!

ทำให้หลายประเทศจึงกำหนดเขตควบคุมความเข้มข้นของซัลเฟอร์ในเชื้อเพลิงของเรือ (Emission Control Area: ECA) เช่น แถบอเมริกาเหนือและยุโรปเหนือ (ไม่เกิน 0.1%) และจีน ประกาศเขตควบคุมซัลเฟอร์ใน 3 เขตท่าเรือ ได้แก่ แยงซี, เพิร์ล และอ่าว Bohai โดยจำกัดซัลเฟอร์ไม่เกิน 0.5% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2017 ที่ผ่านมา

สำหรับ “กลุ่มกองเรือ” ถือว่าได้รับผลกระทบ เพราะต้องเปลี่ยนมาใช้ MGO หรือ LSFO ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นและอาจกระทบต่อกำไรหากไม่สามารถผลักภาระไปให้ลูกค้าได้ โดยระยะยาวเรือขนส่งต้องเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงอื่น เช่น LNG หรือ ติดตั้ง Scrubber เพื่อกำจัดกำมะถันส่วนเกิน

ขณะที่กลุ่มที่ได้ประโยชน์คือ “กลุ่มโรงกลั่น” ด้วยมาตรการนี้ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันดีเซลที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ LSFO และ MGO เพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ ช่วง 2-3 ปีแรก จนกว่ากองเรือ จะปรับตัวหาวิธีอื่น ๆ ที่ดีกว่าหรือถูกกว่าได้

โดยโรงกลั่นที่มีสัดส่วนการผลิตน้ำมันกลุ่มดีเซลมากจะได้ประโยชน์มาก เนื่องจากค่าการกลั่นจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือโรงกลั่นที่มี Middle Distillate มาก จะได้ประโยชน์มากสุด ทำให้อนาคตของน้ำมัน HSFO จะมีราคาถูกลงมาก จนทำให้เกิดการนำน้ำมันเตาไปใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้าแทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือนำไปเผาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมหนักมากขึ้น

โดยมีการประเมินกันว่า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันต่ำ จะเริ่มปรับลดลงช่วงปี 2021-2022 หลังปรับเพิ่มขึ้นปี 2020 อีกทั้งการเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงกำมะถันต่ำยังนำมาซึ่งผลกระทบอีกหลายประการ

กล่าวคือ..ผู้ส่งสินค้าจะมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับค่าธรรมเนียมน้ำมันผู้ให้บริการขนส่งสินค้าจะหลีกเลี่ยงการใช้งานเรือขนาดเล็กซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ติดตั้งระบบบำบัดอากาศเสียหรือใช้เครื่องยนต์รุ่นเก่า พื้นที่ระวางการบริการจะปรับลดลง จากการเลิกใช้เรือขนส่งสินค้าที่ล้าสมัย และสายการเดินเรือ ที่ปรับตัวล่วงหน้าและติดตั้งใช้งานระบบบำบัดอากาศเสียในกองเรือจะมีความได้เปรียบเหนือผู้ให้บริการรายอื่น ๆ

Back to top button