กสทช.เล็งเอาผิดสื่อทีวี Live สดเหตุกราดยิงกลางโคราช กระทบชีวิตปชช.-จนท.

กสทช.เล็งเอาผิดสื่อทีวี Live สดเหตุกราดยิงกลางโคราช กระทบชีวิตปชช.-จนท.


พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. เตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการเร่งด่วนในการร่างเกณฑ์วิธีปฏิบัติในการนำเสนอข่าวในภาวะวิกฤต ให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานการนำเสนอข่าวและข้อมูลของสื่อมวลชน

โดย พล.ท.พีระพงษ์ กล่าวภายหลังการเชิญผู้ประกอบการและสื่อมวลชนมาร่วมประชุมเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวและข้อมูลเหตุการณ์โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นใน จ.นครราชสีมา ซึ่งปรากฏว่าสื่อมวลชนบางรายได้นำเสนอรายการข่าวด้วยรูปแบบการรายงานสด live สด รายงานสถานการณ์ และข้อมูลต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน ความปลอดภัยและความตึงเครียดของสังคมและประชาชนในบริเวณโดยรอบ ตลอดจนผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน และอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้

ด้าน กสทช.เห็นว่า สื่อมวลชนจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ในการพิจารณาคัดกรองข้อมูล และข้อเท็จจริงที่สมควรแก่การนำเสนอ หากสื่อมวลชนนำเสนอข่าวละข้อมูลโดยขาดองค์ความรู้ การนำเสนอข่าวนั้นอาจเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้ที่ รวมถึงทำให้ผู้กระทำความผิดทราบถึงแผนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้

นอกจากนี้ อาจส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น ทำให้ผู้กระทำความผิดกลายเป็น “ฮีโร่” และอาจทำให้เด็กและเยาวชนซึมชับเรื่องความรุนแรงเห็นเป็นเรื่องปกติ ส่งผลกระทบต่อวิธีคิดและพฤติกรรมในระยะยาว

“กสทช. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำเสนอข่าวและข้อมูลที่เกิดขึ้น จึงจะจัดทำแนวทางการนำเสนอข่าวและข้อมูลในลักษณะดังกล่าวในระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งมีมาตรการลงโทษที่เข้มข้นมากขึ้น เช่น การระงับการออกอากาศรายการในทันที่ที่เห็นว่ารายการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และความปลอดภัยของประชาชน ตลอดจนผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน พร้อมทั้งจัดทำบทลงโทษด้านอื่นๆ” พล.ท.พีระพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบการรายงานข่าวในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีช่องทีวีดิจิทัลจำนวน 2-3 รายนำเสนอข่าวในรูปแบบดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น สำนักงาน กสทช. จะมีการเชิญช่องทีวีดิจิทัลดังกล่าวเข้ามาหารือในวันอังคารที่ 18 ก.พ.63

อย่างไรก็ตาม บทลงโทษจะเป็นไปตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งบทลงโทษจะเริ่มตั้งแต่สถานเบาไปหนัก หรือ ตักเตือน ปรับ พักใช้ใบอนุญาตฯ จนไปถึงเพิกถอนใบอนุญาต หากผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับลงโทษ สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้

ส่วนกรณีที่มีสื่อได้ live สดบนสื่อออนไลน์ สำนักงาน กสทช.ยอมรับว่าอยู่นอกเหนือการกำกับดูแล เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจแก่กสทช.ในการจัดการ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดการต่อไป แต่ที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลฯ ก็สามารถจัดการได้ดีอยู่แล้ว เช่น กรณีข่าวปลอม เป็นต้น

Back to top button