5G ของขมในขนมหวาน

พลวัตด้านเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายไทย กำลังก้าวข้ามผ่านยุค 4G เข้าสู่ยุค 5G หลังกสทช.จัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการ 5G วันที่ 16 ก.พ.นี้ กำหนดเป้าหมายผลักดันให้เกิดการเปิดให้บริการบางพื้นที่ภายในกลางปีนี้ โดยมี 4 คลื่นความถี่ที่นำมาประมูลครั้งนี้ คือ คลื่น 700 MHz, คลื่น 1800 MHz, คลื่น 2600 MHz และคลื่น 26 GHz


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

พลวัตด้านเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายไทย กำลังก้าวข้ามผ่านยุค 4G เข้าสู่ยุค 5G หลังกสทช.จัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการ 5G วันที่ 16 ก.พ.นี้ กำหนดเป้าหมายผลักดันให้เกิดการเปิดให้บริการบางพื้นที่ภายในกลางปีนี้ โดยมี 4 คลื่นความถี่ที่นำมาประมูลครั้งนี้ คือ คลื่น 700 MHz, คลื่น 1800 MHz, คลื่น 2600 MHz และคลื่น 26 GHz

ล่าสุดเอกชนทั้ง 5 ราย สอบผ่านคุณสมบัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั่นคือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ ADVANC บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ DTAC บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT)

โดยคลื่น 700 MHz มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล 3 ราย คือ ADVANC, TRUE, CAT เช่นเดียวกับคลื่น 2600 MHz มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล 3 รายคือ ADVANC, TRUE, CAT และคลื่น 26 GHz มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล 4 ราย คือ ADVANC, TRUE, DTAC, TOT ส่วนคลื่น 1800 MHz ไม่มีรายใดเข้าประมูลเลย..!!

ผลการประมูลจะออกมาเป็นอย่างไร ค่ายไหนจะได้คลื่นอะไรหรือกี่ใบอนุญาต 16 ก.พ.นี้ได้รู้กัน..!??

ทว่า..ประเด็นน่าสนใจอยู่ที่การลงทุนเทคโนโลยี 5G พร้อมภาระต้นทุนที่ค่ายต่าง ๆ (ที่ชนะประมูล) ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละค่ายจะได้ใบอนุญาตหรือคลื่นความถี่ที่แตกต่างกันไป

มีการประเมินกันว่าช่วง 3 ปีแรก ความต้องการใช้บริการ 5G อยู่ในวงจำกัด จึงเป็นโจทย์ให้ค่ายสื่อสารต่าง ๆ ต้องไปขบคิดกันว่าจะวางแผนการเงินอย่างไร การเลือกลงทุนบนพื้นที่ใดบ้าง กลุ่มลูกค้าอยู่ตรงไหน และที่สำคัญการกำหนดค่าบริการ 5G ที่ต้องไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป

ตัวเลขจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ต้นทุนการลงทุนโครงข่าย 5G จะสูงกว่าการลงทุนโครงข่าย 4G ประมาณ1.8 เท่า โดยเฉพาะเริ่มต้นของการลงทุนอุปกรณ์โครงข่าย 5G มีระดับราคาสูง นั่นเท่ากับว่าหากต้องการลงทุนโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เม็ดเงินลงทุนจะอยู่ประมาณ 450,000 ล้านบาท เทียบกับการลงทุนโครงข่าย 4G ที่ใช้เม็ดเงินประมาณ 255,000 ล้านบาท

อีกเงื่อนไขที่ “เป็นของขม” ของผู้ชนะประมูล คือ เงื่อนไขที่ผู้ชนะการประมูลต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ของพื้นที่ EEC ภายใน 1 ปีและครอบคลุม 50% ของประชากรพื้นที่สมาร์ตซิตี้ ภายใน 4 ปี

นั่นจึงทำให้ต้องลงทุนโครงข่ายช่วง 3-4 ปีแรก เม็ดเงินจะมากกว่า 60-70% ของต้นทุนโครงข่ายที่ต้องลงทุนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ในความเป็นจริง พื้นที่ EEC ที่ต้องการใช้บริการ 5G อยู่ตรงไหนยังไม่ชัด ภายในพื้นนิคมอุตสา หกรรม หรือพื้นที่นอกนิคมอุสาหกรรม หรืออยู่ตรงส่วนไหนของจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง

จึงต้องมาดูกันว่า 5G ที่เปรียบดั่ง “ขนมหวาน” ที่หลายฝ่ายแย่งชิงเพื่อต้องการลิ้มลอง จะซ้อนเร้น “ความขม”ให้กับผู้ประกอบการมากน้อยเพียงใด..เพราะนั่นหมายถึงผู้บริโภคต้องร่วมลิ้มลอง “ของขมในขนมหวาน” นี้ด้วยเช่นกัน..!!

Back to top button