ตลท. แจงกำไรบจ.ปี 62 ลด 6% รับผลสงครามการค้า-เงินบาทแข็งค่า

ตลท. แจงกำไรบจ.ปี 62 ลด 6% รับผลสงครามการค้า-เงินบาทแข็งค่า


นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท) เปิดเผยว่า หลักทรัพย์จดทะเบียนใน SET และ mai จำนวน 704 หลักทรัพย์ หรือคิดเป็น 97.1% จากทั้งหมด 725 หลักทรัพย์ (ไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC และบริษัทที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด หรือ NPG) นำส่งผลการดำเนินงานปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.62 พบว่าหลักทรัพย์ที่รายงานผลกำไรสุทธิมีจำนวน 537 หลักทรัพย์ คิดเป็น 74.6% ของหลักทรัพย์จดทะเบียนที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด

สำหรับผลการดำเนินงานปี 62 หลักทรัพย์จดทะเบียนใน SET มียอดขายรวม 11,604,409 ล้านบาท ลดลง 2.5% โดยมีกำไรจากการดำเนินงานหลัก (Core operating profit) 896,611 ล้านบาท ลดลง 16.5% และมีกำไรสุทธิ 866,133 ล้านบาท ลดลง 5.9% จากปีก่อน อย่างไรก็ดี ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกที่ลดลง 15.4% จากปีก่อนหน้า

โดยผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/62 ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/62 อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/61 หลักทรัพย์จดทะเบียนมียอดขายรวม 2,870,642 ล้านบาท ลดลง 7.6% แต่มีกำไรจากการดำเนินงานหลัก 201,671 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.1% และมีกำไรสุทธิ 198,912 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.2% กลุ่มธุรกิจที่ปรับดีขึ้น มาจากหมวดธุรกิจขนส่ง (สายการบิน) และหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำ ณ สิ้นปี 61

“ในปี 62 หลักทรัพย์จดทะเบียนไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากสงครามทางการค้า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น อัตรากำไรของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมลดลง และการลดลงของอุปสงค์ในผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ทำให้กระทบต่อกำไรจากการดำเนินงานหลักและกำไรสุทธิปรับลดลงจากปีก่อน โดยหลักทรัพย์จดทะเบียนไทยมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานหลักลดลงมาอยู่ที่ 7.7% เทียบกับในปีก่อนที่ 9.0% ขณะที่อัตรากำไรสุทธิลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 7.0% เทียบกับในปีก่อนที่ 7.3%” นายแมนพงศ์ กล่าว

สำหรับฐานะการเงินของกิจการ ณ สิ้นไตรมาส 4/62 หลักทรัพย์จดทะเบียนไทยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.34 เท่า จากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ 1.30 เท่า

ส่วนปี 62 หมวดธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานเติบโตได้ดี คือ หมวดอาหารและเครื่องดื่มจากการขยายตลาดไปกลุ่มประเทศ CLMV และหมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ ตามการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อบัตรเครดิต

ด้านนายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใน mai จำนวน 160 บริษัท คิดเป็น 95% จากทั้งหมด 169 บริษัท (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC บริษัทที่ปิดงบไม่ตรงตามปีปฏิทิน และบริษัทที่ส่งงบไม่ทันตามกำหนด) นำส่งผลการดำเนินงานปี 62 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.62 ทั้งนี้ พบ บจ. ที่รายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 114 บริษัท คิดเป็น 71% ของบริษัทที่นำส่งผลการดำเนินงานทั้งหมด

ผลการดำเนินงาน บจ.ในปี 62 มียอดขายรวม 185,163 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ ต้นทุนรวมที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงเล็กน้อย มาอยู่ที่ 21.29% กำไรจากการดำเนินงาน (Core operating profit) อยู่ที่ 6,760 ล้านบาท ลดลง 7.3% อัตรากำไรจากการดำเนินงานลดลงจาก 4.04% มาที่ 3.65% และกำไรสุทธิรวม 9,884 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.9% ซึ่งเป็นกำไรพิเศษจาก บจ. ในกลุ่มบริการที่รับรู้กำไรจากการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลในไตรมาส 2 และกลุ่มทรัพยากรที่รับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนในไตรมาส 3

“ในปี 62 ยังพบการเติบโตของยอดขาย แต่จากการที่กำลังซื้อในประเทศชะลอตัว ทำให้ บจ. ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น รวมถึงการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารสูงขึ้น ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานลดลง อย่างไรก็ตามในปี 62 บจ. บางรายมีการบันทึกกำไรจากรายการพิเศษ ทำให้กำไรสุทธิรวมของ บจ. mai สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ในส่วนของฐานะทางการเงิน บจ. mai มีสินทรัพย์รวม 275,458 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.2% จากสิ้นปี 2561 ขณะที่โครงสร้างเงินทุนรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแรง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 1.03 เท่า ลดลงจากสิ้นปีที่แล้วที่ 1.06 เท่า” นายประพันธ์กล่าว

ปัจจุบันมี บจ. ใน mai 169 บริษัท (ข้อมูล ณ 11 มี.ค.63) ดัชนี mai ปิดที่ระดับ 257.10 จุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) อยู่ที่ 177,487 ล้านบาท มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 597 ล้านบาทต่อวัน

Back to top button