ระวัง..สิ้นสุดทางเลื่อนห้างญี่ปุ่น.!?

เป็นที่ร่ำลือกันมาพักใหญ่.!? ว่าบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN เจ้าของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ จะมีการขอคืนพื้นที่จากผู้เช่ารายใหญ่ เพื่อสร้างเป็นเดสติเนชั่นแห่ง Urban Lifestyle โฉมใหม่มีกำหนดดำเนินการช่วงต้นปี 2564


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

เป็นที่ร่ำลือกันมาพักใหญ่.!? ว่าบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN เจ้าของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ จะมีการขอคืนพื้นที่จากผู้เช่ารายใหญ่ เพื่อสร้างเป็นเดสติเนชั่นแห่ง Urban Lifestyle โฉมใหม่มีกำหนดดำเนินการช่วงต้นปี 2564

จนล่าสุด “เซอิจิ อาโอยามา” ประธานกรรมการ ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ประเทศไทย  ส่งจดหมายฉบับลงวันที่ 16 มีนาคม 2563 ถึงลูกค้าห้างสรรพสินค้าอิเซตันว่า ห้างดังกล่าว จะเลิกกิจการบนศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์วันที่ 31 สิงหาคม 2563 นี้ โดยไม่ต่อสัญญาเช่าพื้นที่กับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ให้ห้างสรรพ สินค้าอิเซตัน เช่าพื้นที่บนศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ อีกต่อไป

เนื้อหาจดหมายชี้แจงว่า เป็นการสิ้นสุดสัญญาเช่า โดยห้างสรรพสินค้าอิเซตัน เปิดกิจการในไทย มาเป็นเวลา 28 ปี หรือตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา มีทั้งหมด 6 ชั้นบนศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2558 ห้างดังกล่าว ได้ใช้เงินมูลค่า 1,000 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงโฉมใหม่ทั้งหมดหลังเปิดมานานถึง 23 ปี

ต้นกำเนิด อิเซตัน (Isetan) คือห้างสรรพสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2429 (ค.ศ. 1886) ที่แขวงชิโยดะ โดย Tanji Kosuge โดยมีสาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในกรุงเทพฯ, จี่หนาน, กัวลาลัมเปอร์, ลังงอร์, เซี่ยงไฮ้, สิงคโปร์, เทียนจิน, ฮ่องกง, ลอนดอน และ เวียนนา และเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) อิเซตันและมิตสึโคชิ ถูกรวมกิจการภายใต้บริษัท อิเซตันมิตสึโคชิโฮลดิ้ง จำกัด

นี่ถือเป็นการปิดตำนาน “อิเซตัน” ในประเทศไทย ที่เปิดให้บริการมาถึง 28 ปี

กลายเป็น “ลางบอกเหตุ” ชี้นำให้เห็นสัญญาณชัดว่าเผ่าพันธุ์ “ห้างญี่ปุ่น” กำลังจะสูญหายไปจากประเทศไทย หลังก่อนหน้า “ห้างสรรพสินค้าโตคิว” อีกหนึ่งสายพันธุ์ห้างญี่ปุ่น เพิ่งมีการปิดห้างสรรพสินค้าโตคิว สาขาศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค (ศรีนครินทร์) เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 ทั้งที่เปิดบริการไม่ถึง 3 ปี จากเม็ดเงินลงทุน 400-500 ล้านบาท

ทำให้ “ห้างสรรพสินค้าโตคิว” เหลืออยู่เพียงสาขาเดียวเท่านั้นคือศูนย์การค้า MBK นั่นเอง..!!

การจากไปของ “อิเซตัน” เซ็นทรัลเวิลด์ มีแผนลงทุนปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวครั้งใหญ่ จากพื้นที่รวมกว่า 27,000 ตารางเมตร จำนวน 6 ชั้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการสร้างรายได้ และการเข้าสู่ Global Lifestyle Destination มีการดึงพันธมิตรรายใหม่ ระดับนานาชาติหลายราย

บทเรียนการปิดตำนาน “อิเซตัน” ครั้งนี้..ทำให้เห็นถึงเกมการปิดล้อมของ “ห้างไทย” จนทำให้ห้างญี่ปุ่น ถูกจำกัดอยู่ในวงแคบที่เล็กลงมากยิ่งขึ้น ขณะที่กระแส Disruption และการเข้ามาของ Digital Transformation ยิ่งทำให้ “ห้างญี่ปุ่น” อยู่ยากมากขึ้น

ที่แน่ ๆ เมื่อ “ห้างสรรพสินค้าโตคิว” สิ้นสุดสัญญาเช่ากับ MBK แล้ว จะลงเอยเช่นไร.!? หรือลงเอยเช่นเดียวกับ “อิเซตัน” ไปอีกราย..!?

X
Back to top button