กระตุ้นศก.1.7ล้านล.

เมื่อวันศุกร์ที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

เมื่อวันศุกร์ที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา

มีการประชุมคณะรัฐมนตรี นัดพิเศษ

พร้อมกับเห็นชอบมาตรการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจระยะ 3 ชุดใหญ่ ครอบคลุมทุกมิติในระยะ 6 เดือน

แบ่งมาตรการเป็น 3 กลุ่ม

และคาดว่าจะใช้เม็ดเงินประมาณ 10% ของจีดีพี หรือ 1.7 ล้านล้านบาท และจะเสนอเข้าครม.ได้ภายในวันนี้ (7 เม.ย.)

เห็นว่า แหล่งเงินที่มาใช้บางส่วนมาจาก “งบประมาณ” บางส่วนมาจากการกู้ยืม (ในประเทศ)

มาตรการที่ออกมารอบนี้รัฐบาลบอกว่า “มีความครอบคลุมในทุกมิติ”

มาตรการที่ออกมา ที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วนนี้ มีทั้งการดูแลเยียวยาประชาชน, การดูแลเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าไม่ให้หยุดนิ่ง และการรักษาระบบเศรษฐกิจเพื่อให้กลไกทุกอย่างสามารถเดินหน้าไปได้

วงเงินที่ใช้ถือว่าใกล้เคียงกับรัฐบาลของประเทศอื่น ๆ ที่ได้ดำเนินการ หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของ GDP

หลายคนเห็นตัวเลขนี้แล้ว อาจจะมองสูงมาก

แต่อย่างที่บอกไปว่า หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว

มาตรการที่ออกมาแทบไม่ได้แตกต่างกัน และวงเงินที่เมื่อเทียบกับจีดีพี (ของประเทศตัวเอง) นับว่าใกล้เคียงกัน

ล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทย นำข้อมูลกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมาเล่าสู่กันฟัง

มาตรการต่าง ๆ พอสรุปได้ เช่น มาตรการการคลัง (ของแต่ละประเทศ) เน้นไปที่การช่วย “ลดภาระรายจ่ายของครัวเรือน และธุรกิจ” รวมถึงการประคองให้ครัวเรือนและธุรกิจยังคงมีรายได้เข้ามา

มาตรการทางการเงินเน้นไปที่การเสริมสภาพคล่อง เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

และการผ่อนปรนภาระหนี้สิน

ในหลาย ๆ ประเทศจะให้ความสำคัญกับ “มาตรการทางการคลัง” เพราะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจได้กว้างกว่า

และดำเนินการได้เร็วกว่ามาตรการทางการเงิน

มาตรการเงินอุดหนุนค่าจ้าง หรือ Job retention scheme

มาตรการนี้มีความน่าสนใจ เพราะรัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายสำหรับค่าจ้างกับสถานประกอบการ

เป้าหมายเพื่อ “ไม่ให้ต้องปลดคนงาน”

แน่นอนว่า จะช่วยลดผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ครัวเรือนได้ตรงจุด

ประเทศที่ใช้มาตรการนี้ เช่น อังกฤษ และเดนมาร์ก ให้เงินอุดหนุน 75-80% ของรายจ่ายค่าจ้างทั้งหมด

นอกจากนี้ สิงคโปร์ก็ใช้มาตรการนี้เช่นกัน ให้เงินอุดหนุน 25% ของรายจ่ายค่าจ้างทั้งหมด เป็นระยะเวลา 9 เดือน

มาถึง “มาตรการให้เงินเปล่า” หรือ Cash handout

นี่ก็เป็นมาตรการที่มีการถกเถียงเป็นอย่างมาก เพราะต้องใช้เงินมหาศาล

และกลุ่มเป้าหมายบางรายอาจจะยังมีความจำเป็นน้อยที่จะต้องได้รับเงิน

ทว่า มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่แทบทุกประเทศหยิบยกมาใช้ในระดับที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในสหรัฐฯ  ให้พลเมืองชาวอเมริกันที่มีรายได้ในปี 2562 ต่ำกว่า 75,000 เหรียญ  คนละ 1,200 เหรียญ

ส่วนครอบครัวที่มีบุตร จะเพิ่มเงินให้ครอบครัวละ 500 เหรียญ ต่อบุตร 1 คน

ในสิงคโปร์ ให้พลเมืองชาวสิงคโปร์คนละ 300-900 ดอลลาร์สิงคโปร์ (209-627 ดอลลาร์สหรัฐ)

อีกทั้งยังให้แรงงานรายได้น้อยอีกคนละ 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (2,000 ดอลลาร์สหรัฐ) รวมถึงให้แรงงานอาชีพอิสระอีกคนละ 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (696 ดอลลาร์สหรัฐ) เป็นเวลา 9 เดือน

เกาหลีใต้ เป็นการให้เงินครอบครัวละ 1 ล้านวอน (820 ดอลลาร์สหรัฐ)

ประชาชนจะได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าวทุกครอบครัว

ยกเว้นกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด 30% ของประเทศ

สำหรับประเทศไทย สนับสนุนเงินคนละ 5,000 บาท ต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม

มาตรการเสริมสภาพคล่อง มักนิยมนำออกมาใช้ในช่วง “วิกฤติเศรษฐกิจ”

วิธีการคือ อัดฉีดสภาพคล่องสู่ตลาดเงินผ่านทางการเข้าซื้อพันธบัตร และสินทรัพย์ต่าง ๆ

และรวมถึงการทำธุรกรรมซื้อคืน หรือ Repurchase agreement : Repo ของธนาคารกลาง ถือเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ ช่วยป้องกันปัญหาการขาดสภาพคล่อง

เกือบทุกประเทศมีการดำเนินมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปล่อยสินเชื่อระยะสั้นให้ธนาคารพาณิชย์ผ่านทางการทำ Reverse Repo Operations เป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญ

เฟดยังได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรเอกชน รวมถึง Mortgage-backed securities กว่า 1.3 ล้านล้านเหรียญ

ธนาคารกลางอังกฤษ ปล่อยสินเชื่อ ให้ธนาคารพาณิชย์มูลค่า 3 แสนล้านปอนด์

และเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรเอกชนอีก 2 แสนล้านปอนด์

สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการเสริมสภาพคล่องวงเงิน 1 ล้านล้านบาท

ด้วยการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด ที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี โดยที่ธนาคารพาณิชย์สามารถนำหน่วยลงทุนเหล่านี้มาเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องกับธปท.

และจากเกือบทุกประเทศทั่วโลกกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบโควิด-19 นี้

ถือว่าเป็นวงเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์

X
Back to top button