CMO รับรายได้ปีนี้หด 50% หลัง “โควิด-19” ทำงานอีเว้นท์หายเกลี้ยง

CMO รับรายได้ปีนี้หด 50% หลัง "โควิด-19" ทำงานอีเว้นท์หายเกลี้ยง


นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO เปิดเผยว่า บริษัทปรับเป้ารายได้ปีนี้ลดลง 50% หรือมาอยู่ที่ 700 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบของธุรกิจอีเวนท์จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นวิกฤติร้ายแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ตั้งแต่เกิดวงการอีเว้นท์ขึ้นมา โดยผลกระทบเริ่มชัดเจนมากที่สุดในเดือน มี.ค.63 ซึ่งงานทั้งหมดถูกเลื่อนและยกเลิกเกือบ 100% ซึ่งปกติในช่วงไตรมาสแรกของปีจะเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจอีเว้นท์

ทั้งนี้จากการประเมินสถานการณ์ในตอนนี้ ภาพรวมธุรกิจอีเว้นท์ในช่วงไตรมาส 1/63 และไตรมาส 2/63 ได้รับผลกระทบหนักมูลค่าความเสียหายตลาดอีเว้นท์อยู่ที่ประมาณ 50-60% จากภาพรวมตลาดอีเว้นท์ปัจจุบันที่มีมูลค่า 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท และคาดว่าทำให้บริษัทออแกไนซ์เซอร์ต้องปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก ยังไม่นับรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับธุรกิจการจัดงานคอนเสิร์ต ซึ่งในแต่ละปีมีการจัดงานทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่รวมกันมากกว่า 100 งาน ปัจจุบันต้องหยุดจัดงานไปทั้งหมด

ในส่วนของผลกระทบต่อบริษัท CMO ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดของการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงของวงการธุรกิจอีเว้นท์ด้วย โดยส่งผลกระทบต่อรายได้บริษัทในไตรมาส 1/63 และไตรมาส 2/63 คาดว่ารายได้จะลดลงไป 80% เนื่องจากอีเว้นท์หลายงานในช่วงนี้ต้องยกเลิก ซึ่งปกติเป็นช่วงที่ธุรกิจอีเว้นท์คึกคัก มีการจัดงานมอเตอร์โชว์, งานแสดงสินค้าต่างๆ, เปิดตัวสินค้า รวมทั้งในเดือนเม.ย.ที่ส่วนใหญ่จะมีจัดงานปาร์ตี้คอนเสิร์ต EDM ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งปีนี้ก็ต้องยกเลิกไป

สำหรับผลกระทบในครั้งนี้บริษัทได้แก้วิกฤติครั้งใหญ่เรื่องการบริหารงานบริหารคนเช่นกัน โดยจำเป็นต้องปรับลดวันทำงานของพนักงานจาก 5 วัน เหลือ 4 วัน/สัปดาห์ และขอปรับลดเงินเดือนพนักงานตามสัดส่วน ซึ่งได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับพนักงาน โดยทุกคนเข้าใจและยินยอมที่จะสู้ไปด้วยกัน แต่หากสถานการณ์ดีขึ้น กลับมาจัดงานอีเว้นท์ได้ตามปกติ บริษัทยังมีงานที่มีความต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ มูลค่ารวมกว่า 500  ล้านบาท แต่ก็ต้องขึ้นกับภาพรวมของเศรษฐกิจด้วย ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู

โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจอีเว้นท์ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อบริษัทออแกไนซ์เซอร์แล้ว ธุรกิจอื่นๆที่เชื่อมโยงกับการจัดงานอีเว้นท์อีกหลายธุรกิจก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ได้แก่ 1.ธุรกิจด้านซัพพลายอุปกรณ์ระบบภาพแสงเสียง 2.ธุรกิจการทำโครงสร้างเวที,ทำฉาก 3.ธุรกิจให้เช่าสถานที่จัดงาน เช่น ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติ, โรงแรม,ห้างสรรพสินค้า 4.ธุรกิจก่อสร้างบูธ, พาวิลเลียน 5.ธุรกิจรับจัดเลี้ยง(Catering)

นอกจากนี้ ยังกระทบไปถึงกลุ่มอาชีพอิสระที่เกี่ยวข้องในงานอีเว้นท์ อาทิ พิธีกร, พริตตี้ ,สตาฟรันงาน, ช่างภาพ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ได้รับความเสียหายหนักมาก โดยเฉพาะในบางบริษัทที่มีขนาดไม่ใหญ่ สภาพคล่องในกิจการไม่มากพอ อาจจะต้องถึงกับปิดตัวภายใน 2 เดือน ทั้งนี้ เมื่อธุรกิจดำเนินต่อไม่ได้ ก็ส่งผลกระทบต่อรายได้กิจการ และสุดท้ายส่งผลต่อพนักงานคนทำงานในอุตสาหกรรมอีเว้นท์ทั้งระบบจำนวนหลายหมื่นคน ที่บางคนต้องตกงาน หรือถูกลดเงินเดือน หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เชื่อว่าจะมีคนตกงานอีกเป็นจำนวนมากถึง 50-60%

ขณะเดียวกันบริษัทได้ปรับแผนบริหารความเสี่ยงมาโดยตลอด ซึ่งรับทำงานที่ไม่ใช่แค่งานอีเว้นท์ โดยมีหน่วยธุรกิจ CM Museum ที่รับดูแลงานด้านบริหารจัดการ รวมถึงก่อสร้างและพัฒนา Content ให้กับพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้หลายแห่งทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนนี้ปัจจุบันยังดำเนินงานต่อได้อยู่

นอกจากนี้ยังปรับแผนธุรกิจพัฒนาอีเว้นท์ขึ้นในรูปแบบการจัดงานแบบอีเว้นท์ออนไลน์ ซึ่งกลุ่มบริษัทมีหน่วยธุรกิจ CM Digital ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องให้บริการ Digital Solutions และ Data Management นำเทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยสร้างมิติใหม่ในการจัดงานอีเว้นท์ทุกประเภทอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยทำให้การจัดงานผ่านเทคโนโลยีออนไลน์และไลฟ์สตรีมมิงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 

Back to top button