เปิดหุ้นรับอานิสงส์มาตรการเยียวยาโควิดเฟส 3

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.ก. จำนวน 3 ฉบับ เพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 3 ในวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท


เส้นทางนักลงทุน

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.ก. จำนวน 3 ฉบับ เพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 3 ในวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท

สำหรับพ.ร.ก. 3 ฉบับมีเนื้อหาดังนี้

พ.ร.ก.ฉบับที่ 1 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 2 แผนงาน แผนงานที่ 1 วงเงิน 600,000 ล้านบาท แผนงานด้านสาธารณสุขและเยียวยาให้กับประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และแผนงานที่ 2 วงเงิน 400,000 ล้านบาท ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม สนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่

พ.ร.ก.ฉบับที่ 2 กำหนดให้ ธปท. สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ให้แก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี วงเงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจไปปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถพักชำระหนี้เดิมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้เอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท

พ.ร.ก.ฉบับที่ 3 ดูแลเสถียรภาพการเงิน 400,000 แสนล้านบาท โดยจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund: BSF) และให้ ธปท.สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว

ทั้งนี้ จากพ.ร.ก.จำนวน 3 ฉบับ เพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 3 ซึ่งอาจมีผลบวกสู่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เกี่ยวข้องตามมาตรการเยียวยา

ดังนั้น จากข้อมูลของ บล.โกลเบล็ก คาดว่าบริษัทเหล่านี้ที่อาจจะได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว อาทิเช่น  

สำหรับการเยียวยาให้กับประชาชน และเยียวยาเกษตรกร ซึ่งคาดหลักทรัพย์ที่ได้ประโยชน์ ได้แก่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO และ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC

ต่อมาส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่ ซึ่งคาดหลักทรัพย์ที่ได้ประโยชน์ ได้แก่  บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO, บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA, บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA และ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA

และมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งคาดหลักทรัพย์ได้ประโยชน์ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ  BBL

ส่วนทาง บล.เคทีบี (ประเทศไทย) มีมุมมองเป็นบวกจากข่าวข้างต้นต่อกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจธนาคาร และ Finance จาก พ.ร.ก.ที่ ครม. ออกมาตรการดูแลและเยียวยา COVID-19 ระยะที่ 3 มูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท และมาตรการ ธปท. ที่ช่วยเหลือ SMEs และดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้เอกชน โดยได้รับผลบวก ดังนี้

1) มาตรการวงเงินกู้ 6 แสนล้านบาท (ผ่านการให้เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน) สามารถช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้ 20 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 และไม่อยู่ในประกันสังคม ได้แก่ กลุ่มรากหญ้าและกลุ่มค่าจ้างรายวัน ที่จะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีเงินใช้จ่าย มีความสามารถในการจ่ายชำระหนี้เพิ่มขึ้น และจะทำให้การเร่งตัวขึ้นของ NPLs ไม่สูงมาก ส่งผลบวกเล็กน้อยต่อกลุ่ม Finance ที่มีสัดส่วนสูงต่อการปล่อยกู้ให้กลุ่มรากหญ้า อย่าง บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 52 บาท และ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWADให้คำแนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 48 บาท

2) มาตรการซอฟท์โลน วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อดูแลธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs โดยคาดว่าธนาคารพาณิชย์จะได้ประโยชน์จากสินเชื่อที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น จากเดิมที่คาดว่าจะทรงถึงหดตัว รวมทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นที่อัตราดอกเบี้ย 1.99% ส่งผลบวกต่อธนาคารพาณิชย์ที่มีสัดส่วนลูกหนี้ SMEs สูง อย่าง ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ให้คำแนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 106 บาท, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ให้คำแนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 72 บาท

ในขณะที่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ให้คำแนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 13 บาท คาดว่าจะมีส่วนแบ่งในสินเชื่อเหล่านี้ เนื่องจากเป็นธนาคารของภาครัฐ

3) ลดเงินนำส่ง FIDF ลงเป็น 0.23% จากเดิม 0.46% ของฐานเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยคาดว่าจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์มีทุนประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท/ปี (อิงฐานเงินฝากในระบบเมื่อ ม.ค. 2563 อยู่ที่ 14.3 ล้านล้านบาท) และสามารถนำมาใช้ในการขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้น ส่งผลบวกต่อกลุ่มธนาคารที่มีฐานเงินฝากสูง อย่าง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 140 บาท, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ให้คำแนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 106 บาท, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ให้คำแนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 72 บาท และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ให้คำแนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 13 บาท

หลักทรัพย์ที่นำเสนอเป็นเพียงสมมติฐานว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการดูแลและเยียวยาจากผลกระทบของ COVID-19 ระยะที่ 3 ซึ่งเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเงินก็จะไหลเข้าสู่หลักทรัพย์ดังกล่าวไม่มากก็น้อย !!!

Back to top button