การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ช่วงเวลาหลังจากนี้จุดโฟกัสของการระบาด Covid-19 กำลังจะค่อยๆเปลี่ยนมุมมาเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจ คำถามที่จะได้ยินคือ เศรษฐกิจโลกหลังและเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร


การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ระยะเวลาสองเดือนก่อนหน้านี้ เป็นเวลาที่คนไทยและคนทั้งโลกใจจดจ่อกับภาวะการระบาดของโรค Covid-19 ตัวเลขที่เราสนใจเป็นตัวเลขของผู้ติดเชื้อในแต่ละประเทศ จำนวนผู้เสียชีวิต และ จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา แต่หลังจากที่การระบาดของโรคดำเนินไปสักระยะหนึ่ง รัฐบาลแต่ละประเทศเริ่มตั้งตัวได้ เริ่มมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการยับยั้งการระบาดของโรคชัดเจน บางประเทศทำได้ดีมาก เช่น ประเทศไทย แต่บางประเทศก็ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคให้ลดต่ำลงมาได้ นั่นคือเรื่องราวของโลกในสองเดือนที่ผ่านมา

ช่วงเวลาหลังจากนี้จุดโฟกัสของการระบาด Covid-19 กำลังจะค่อยๆเปลี่ยนมุมมาเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจ คำถามที่จะได้ยินคือ เศรษฐกิจโลกหลังและเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พยากรณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะหดตัวลงประมาณ 3% และเศรษฐกิจไทยปีนี้จะมีการขยายตัวในอัตรา -6.7% ซึ่งเป็นตัวเลขการหดตัวของเศรษฐกิจที่มากกว่าช่วงวิกฤติการเงินโลกในปี ค.ศ. 2008-2009 เมื่อเทียบการอีกหลายประเทศจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยถูกประเมินในขยายติดลบต่ำมากเทียบกับหลายๆประเทศ ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบในเรื่องนี้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว และ การส่งออก ซึ่งทั้งสองถือเป็นแหล่งรายได้หลักของไทยมาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ถ้าเทียบจากความรุนแรงของวิกฤติครั้งนี้กับวิกฤติที่ผ่านข้อมูลต่างๆนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤติครั้งนี้รุนแรงมากที่สุดเพราะเป็นการเกิดพร้อมๆกันไปทั้งโลกอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าถามด้วยคำถามว่าวิกฤตินี้จะเหมือนกันกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่สร้างความเสียหาย ร้ายแรง ยาวนาน ต่อไป อีกไหม คำตอบจะมีได้หลากหลายแล้วแต่จะมองในมุมไหน อย่างไรก็ตาม มีเหตุผลบางประการที่ผมอยากพาให้ทุกคนมองในอีกมุมว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นเฉียบพลันครั้งนี้จะไม่ได้กลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่เหมือน The Great Depression วิกฤติซับไพรม์ หรือ วิกฤติต้มยำกุ้ง เหตุผลดังกล่าวนี้คือ

1) ต้นตอของวิกฤติครั้งนี้มีจุดเริ่มที่วิกฤติทางด้านสุขอนามัย ซึ่งลุกลามกลายเป็นวิกฤติของชีวิตและทำให้คนล้มตายกันมาก วิกฤติได้ลุกลามไปถึงภาคการผลิต (Real Sector) ทั่วโลก แต่วิกฤติการเงินที่เคยสร้างความเสียหายครั้งก่อนส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากวิกฤติที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน คู่มือการวิเคราะห์วิกฤติการเงินบอกว่า เมื่อใดก็ตามที่ความเสียหายไปถึงระบบของสถาบันการเงินขอให้ เตรียมรับวิกฤติได้เลย หันมามองวิกฤติในปัจจุบัน เรายังคงเห็นสถาบันการเงินมีศักยภาพในระดับหนึ่งที่จะรับมือกับวิกฤติเพราะมีการสำรองทุนเผื่อหนี้สูญไว้สูง ระบบการเงินนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อมั่น

และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมากับวิกฤติความเชื่อมั่นปัญหาของ Bank Run[*1] ซึ่งเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้สถาบันการเงินในระบบที่มีอยู่ประสบปัญหาได้ในเวลารวดเร็ว ระบบการธนาคาร (Banking) ทำหน้าที่เป็นเหมือนเส้นเลือดที่พาเลือดไปเลี้ยงในร่างกายของคน เมื่อระบบเลือดเสียหายสิ่งที่ตามมาคือความสูญเสียต่ออวัยวะอื่นด้วย ในวิกฤติครั้งนี้ธนาคารยังมีเงินฝาก มีสภาพคล่อง ทุนสำรองไม่ได้เหลือน้อยมากเหมือนคราวต้มยำกุ้ง ฐานะการเงินของแต่ละประเทศไม่ได้บอบช้ำเหมือนคราววิกฤติใหญ่ 1930 ที่ทุกประเทศต้องใช้เงินหมดไปกับสงครามโลก

การมีทุนสำรองใช้ในการฉุกเฉินทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ดีระดับหนึ่ง ประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังต่อไปถ้าการระบาดของโรคยังไม่ยุติคือ ปัญหาหนี้เสียที่ของธนาคารต่างที่จะสูงขึ้น ซึ่งนั่นอาจจะทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเสียหายมากว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกทุกครั้งได้ กุญแจสำคัญจึงมีอยู่ว่า การระบาดนี้จะยาวนานแค่ไหน เมื่อใดการพัฒนาวัคซีนจึงจะเห็นผลชัด หรือไม่ก็พบเครื่องมือตรวจวัดโรคที่สามารถทราบผลได้รวดเร็ว

2) การมองว่าหลังจากนี้ จะเป็นเหมือน วิกฤติใหญ่ของโลก (The Great Depression) ดูเป็นการมองข้ามประเด็นสำคัญไปเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ความรู้ของการจัดการวิกฤติได้รับพัฒนาให้ใช้ได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต องค์กรการเงิน เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศผ่านการเรียนรู้ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์มาแล้วหลายครั้ง ตอนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่กลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจไปทั่วโลก กองทุนการเงิน ระหว่างประเทศ (IMF) รู้จักแต่ยาสำคัญสูตรเดียวคือ ลดการใช้จ่าย ลดขนาด รัดเข็มขัด แปรรูป หรือ ปิดสถาบันการเงินที่อ่อนแอ ผลก็คือความอ่อนแอทั้งทางด้านกำลังซื้อ และ กำลังการผลิตที่เป็นอัมพาติไปอย่างน้อยสองถึงสามปี

ทั้งอุปสงค์และอุปทาน หายไป และใช้เวลานานสำหรับการฟื้นตัว คนในยุคนั้นเรียกว่าเป็นยาแรง IMF เองเริ่มมองเห็นว่าการแก้ปัญหาด้วยการลด เปลี่ยน และปิด ทำให้เศรษฐกิจถอยหลังไปไกลกว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ ถ้าวิเคราะห์จากข้อมูล ณ วันที่ 16 เมษายน ตัวเลขการใช้เงินเพื่อเยียวยาภาวะเศรษฐกิจอยู่ประมาณ 9% ของ GDP ซึ่งจะมากขึ้นในช่วงของการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากนี้ มองไปในประเทศต่างๆ ก็เห็นภาพเดียวกันว่าแทบทุกประเทศ ใช้วิธีการเดียวกัน มากบ้าง น้อยบ้าง ตามกำลังของแต่ละประเทศ นโยบายเช่นนี้นอกจากจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของคนในประเทศแล้วยังทำเป็นการสงวนกำลังซื้อหรืออุปสงค์ไว้ ในขณะที่ภาคการผลิตที่เป็น Supply ก็จะยังมีความสามารถในการกลับมาผลิตได้โดยมีรูปแบบและวิธีการที่อาจแตกต่างไปจากเดิมบ้าง ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าความตกต่ำของเศรษฐกิจนั้น รุนแรงแน่แต่การกลับมาเดินต่อได้อาจใช้เวลาไม่นานเมื่อเทียบกับวิกฤติใหญ่ในอดีตที่ผ่านมา

3) วิกฤติที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อจะมีค่าสูงมาก วิกฤติต้มยำกุ้ง อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 18% อัตราดอกเบี้ยที่สูงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเป็นอุปสรรคขัดขวางการลงทุนของโลก ในวิกฤติครั้งนี้อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย มีอัตราต่ำมาก แถมราคาน้ำมันก็ต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ตัวแปรเหล่านี้ล้วนเอื้อต่อการลงทุนใหม่ในอนาคตและเอื้อต่อการฟื้นตัวในทางเศรษฐกิจในอนาคตเมื่อการระบาดเริ่มลดลง

4) ในขณะที่เรากำลังเห็นภาพว่าเศรษฐกิจของทั้งโลกกำลังอยู่ในภาวะการหยุดชะงัก และทำให้เข้าใจว่าทุกอุตสาหกรรมมีลักษณะชะงักงัน ถดถอยไปหมด ซึ่งการมองแบบนี้ทำให้เกิดความรู้สึกด้านลบจนไม่อยากทำอะไร ไม่อยากลงทุนอะไรใดๆ ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจที่กำลังถดถอยต่ำลงยิ่งกว่าเดิมเหมือนเกลียวสว่านที่หมุนลงลึกไปเรื่อยๆ ถ้าพิจารณาจากข้อมูลแล้ว จะเห็นว่ายังมีอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นหรือฟื้นตัวได้เร็วกว่าอุตสาหกรรมอื่น

ตารางการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมของประเทศแสดงให้เห็นว่าขณะที่ดัชนีของตลาดโลกที่วัดโดย MSCI World Index ต่ำลง ร้องละ 21 บางอุตสาหกรรมในไทยมีการตกต่ำลงมากกว่าตลาดโลกโดยเฉลี่ยมาก แต่อย่างไรก็ตามในตลาดยังมีอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตเป็นบวก เช่น อินเทอร์เน็ต โทรคมนาคมไร้สาย ไบโอเทคโนโลยี ซอฟท์แวร์ เป็นต้น อุตสาหรรมเหล่านี้ทำให้เข้าใจได้ชัดว่าการตกต่ำของเศรษฐกิจนั้นยังมีบางอุตสาหกรรมที่ยังเดินต่อไปได้

[*1] Bank Run มาจากการที่ผู้ฝากเงินกับธนาคารเกิดความไม่เชื่อมั่นกับธนาคารจึงแห่ไปถอนเงินกับธนาคารทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่องและนำไปสู่ปัญหาการล้มละลายได้ ชื่อของ Bank Run มาจากการขาดของถุงน่องที่สุภาพสตรีใช้ ที่เมื่อเกิดการขาดไปเส้นหนึ่งจะสาวต่อไปจนทำให้ถุงน่องเสียหายได้

ข้อเท็จจริงนี้เป็นการหักล้างความคิดทางลบที่สุดโต่งที่มองว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำไปอย่างยาวนานทุกหย่อมหญ้า แน่นอนไม่มีใครปฏิเสธการตกต่ำของเศรษฐกิจแต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะหยุดเดินไปหมด เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังเดินต่อไป อาจเดินถอยหลังบ้างในช่วงนี้ แต่ ไม่นานจะกลับมาเดินต่อด้วย speed ช้าๆ เดินต่อด้วย speed เร็วขึ้นในอีกไม่ช้า

ถึงแม้การระบาดของโรค Covid-19 จะยังไม่ลดลงจนเป็นศูนย์ในช่วงเวลาอันใกล้นี้ โลกในทางเศรษฐกิจจะต้องกลับมาเดินหน้าต่อไปด้วย new normal บางอย่าง การเชื่อมต่อของอุตสาหกรรมจะเป็นเหมือนการเสียบปลั๊ก Global Supply Chain ที่ถูกถอดออกไป ให้กลับมาเดินหน้าต่อไป ข้อมูลต่างๆข้างต้นอาเป็นคำตอบที่มีสติต่อวิกฤติครั้งนี้และทำให้เราไม่หดหู่จนท้อแท้กับวิกฤติครั้งนี้

รศ. ดร. รวี ลงกานี

ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Back to top button