โลกที่จะไม่ทน

#saveวันเฉลิม พุ่งในโลกออนไลน์ไทย คู่ขนานไปกับ #BlackLivesMatter หากถอยออกมาจากความเห็นด้วยไม่เห็นด้วย แล้วอธิบายปรากฏการณ์ ก็คือพลังประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่ NGO คณาจารย์ ดาราคนดัง “เหลืออด” กับการอุ้มหายผู้ลี้ภัยการเมือง เป็นรายที่ 9


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

#saveวันเฉลิม พุ่งในโลกออนไลน์ไทย คู่ขนานไปกับ #BlackLivesMatter หากถอยออกมาจากความเห็นด้วยไม่เห็นด้วย แล้วอธิบายปรากฏการณ์ ก็คือพลังประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่ NGO คณาจารย์ ดาราคนดัง “เหลืออด” กับการอุ้มหายผู้ลี้ภัยการเมือง เป็นรายที่ 9

การแสดงออกครั้งนี้ กว้างขวางกว่าครั้งก่อน ๆ เพราะไม่ใช่แค่คนที่อยู่ข้าง “เสื้อแดง” นี่ไม่ใช่ว่า วันเฉลิมพิเศษกว่าคนอื่น ๆ แต่สังคมเห็นว่า เหตุการณ์แบบนี้ไม่ควรจะมีอีกแล้ว ทำไมยังเกิดขึ้นอีก ซ้ำยังเกิดกลางกรุงพนมเปญ ต่อหน้าคนจำนวนมาก ระหว่างโทรศัพท์คุยกับพี่สาว “ผมหายใจไม่ออก”

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนความสะเทือนใจ ไม่พอใจ ต่อการกระทำอันโหดร้ายอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่างอะไรกับม็อบต่อต้านการเหยียดผิว ซึ่งเก็บกดมานาน แม้มีการไล่ออก ดำเนินคดีตำรวจที่ใช้เข่ากดคอ จอร์จ ฟลอยด์ รวมเพื่อนอีก 3 คน

เพราะเรื่องตำรวจใช้อำนาจเกินกว่าเหตุกับคนผิวดำ มีมานาน ขณะเดียวกันยังผสมความเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจ จากภัยพิบัติโควิด ซึ่งทำให้มีคนตกงานจำนวนมาก เครียดกันทุกฝ่าย ทั้งคนผิวขาวผิวสี คนเหยียดผิว คนต้านการเหยียดผิว

มองไปทั่วโลกก็คล้ายกัน ปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งแบ่งฝ่ายทางการเมือง เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง แล้วโควิดก็มาซ้ำเติม ให้ยิ่งหนักหน่วง อารมณ์สังคมยุคหลังโควิด จึงจะตึงเครียดกว่าก่อนโควิด ที่เครียดอยู่แล้ว

ไม่ต้องดูอื่นไกล แค่ความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ ก็ซัดกันอย่างเปิดเผย ไม่มีอ้ำอึ้ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ โอดครวญคนดีไม่มีที่ยืน กรรมการบริหารพรรคก็ไล่ให้ไปทำงานอื่น

การเมือง สังคม ตึงเครียดขึ้น แม้กระทั่งปัญหาส่วนบุคคล ซึ่งมีข่าวฆ่าตัวตายทุกระยะ โควิดเข้ามาเร่งปัญหาที่มีอยู่ก่อน จึงไม่ใช่ว่าพบวัคซีนเมื่อไหร่ ทุกอย่างจะกลับไปเหมือนเดิม ยกตัวอย่างสหรัฐฯ ไม่ว่าทรัมป์ชนะหรือแพ้เลือกตั้ง ความขัดแย้งแตกแยกก็ไม่จบ

การเมืองไทยก่อนโควิด ก็ร้อนแรงด้วยแฟลชม็อบนักศึกษา หลังยุบพรรคอนาคตใหม่ อย่าหลอกตัวเองว่าหลังใช้อำนาจฉุกเฉิน 3 เดือน ประกาศ “ไทยชนะ” จัดการโควิดได้แล้วจะคุมอำนาจต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

รัฐทั่วโลก ไม่ใช่แค่รัฐไทย จะต้องหาทางประนีประนอมกับสังคม ไม่ใช่ฉวยโอกาสกระชับอำนาจ ยกตัวอย่างจีน แม้ดูประสบความสำเร็จจากการควบคุมโควิดจนแข็งกร้าวกับฮ่องกง แต่เศรษฐกิจจีนก็มีปัญหาภายในอย่างน่ากลัว ถดถอยครั้งแรกตั้งแต่เริ่มประกาศจีดีพี มีหนี้เสียจำนวนมาก มีปัญหารัฐวิสาหกิจ ความเหลื่อมล้ำ คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบจะตกงาน อาจกลายเป็นพลังต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์

หวนกลับมามองการเคลื่อนไหว #saveวันเฉลิม ก็ไม่รู้ว่าตำรวจไทยเฉลียวฉลาดอย่างไร จับนักศึกษาผูกโบว์สีขาว โดยใช้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด การใช้กฎหมายหยุมหยิมอย่างนี้ ถามว่าจะยับยั้งการเคลื่อนไหวได้ หรือยิ่งสร้างประเด็นกระพือความไม่พอใจ

นี่ไม่ใช่พูดแค่ฝ่ายที่ถูกมองเป็นขาประจำ “ชังชาติ” ต่อต้านรัฐบาล แต่ลองไปดูอารมณ์สังคมเรื่องอื่น ๆ เช่น กองเชียร์ประยุทธ์ก่นด่านักการเมือง พปชร. กรณีวุฒิสภาตั้ง ป.ป.ช.จากอดีต สนช. ซึ่งถูกคัดค้านจนประธานวุฒิสภายังไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ จะเห็นความหงุดหงิดโกรธเคืองแฝงอยู่ทุกเรื่อง

ปัจจัยการเมืองในช่วงนี้ จึงต้องมองด้วยว่า สังคมจะไม่ทนต่อความไม่ถูกต้อง ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ด้วยอารมณ์ที่พลุ่งพล่านกว่าเดิม แม้กระทั่งความไม่พอใจต่อเรื่องต่าง ๆ ของชาวบ้าน ที่อาจไม่เกี่ยวกับขั้วทางการเมืองเลย ก็จะร้อนแรงกว่าเดิม

การบริหารประเทศที่เคยมักง่าย เอาอำนาจเอาอารมณ์ตัวเองเป็นใหญ่ ก็จะไม่ง่ายเหมือนเดิม

Back to top button