“ครม.” ไฟเขียว “พลังงานสร้างไทย” ชู 3 ด้าน “ชุมชนเข้มแข็ง-รฟฟ.ชุมชน-นวัตกรรม” ฟื้นฟูศก.

ที่ประชุม “ครม.” ไฟเขียวมาตรการ “พลังงานสร้างไทย” ชู 3 ด้าน “ชุมชนเข้มแข็ง-รฟฟ.ชุมชน-นวัตกรรม” ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังวิกฤต "โควิด" คลี่คลาย


น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (30 มิ.ย.63) รับทราบมาตรการช่วยเศรษฐกิจ “พลังงานสร้างไทย” ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

การกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยมุ่งดำเนินการใน 3 ด้าน คือ 1.การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เช่น 1) ด้านการส่งเสริมสินค้าชุมชน ส่งเสริมการค้าขายผ่านตลาดนัดออนไลน์ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการจัดการ Living Community Market Place โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เพื่อเป็นการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคผ่านช่องทางการจำหน่ายในรูปแบบออนไลน์และสถานีบริการน้ำมัน 2) ด้านการท่องเที่ยว กระตุ้นและจูงใจให้เกิดการท่องเที่ยว อาทิ โครงการท่องเที่ยวเขื่อนของ กฟผ.ทั่วประเทศ และโครงการเที่ยวทั่วทิศกระตุ้นเศรษฐกิจกับ Blue Card ของ ปตท. 3) การพิจารณานำไฟฟ้าส่วนเกินมาใช้ประโยชน์ โดยจัดโครงการห้องเย็น บริเวณสถานีไฟฟ้าย่อย และให้เกษตรกรนำผลิตมาเก็บรักษาและคิดค่าบริการในราคาถูก ตั้งเป้าภาคละ 1 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในปี 2563-2564 มูลค่ากว่า 3,700 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานกว่า 1,000 คน

2.ด้านพลังงานทดแทน โครงการไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ดำเนินการใน 3 ส่วน คือ 1) โรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องขนาดกำลังผลิตแห่งละ 3 เมกกะวัตต์ ที่ กฝผ. อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ใช้หญ้าเนเปียร์เป็นเชื้อเพลิง และ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ใช้ซังข้าวโพดเป็นเชื้อเพลิง 2) โรงไฟฟ้าชุมชนรูปแบบ Quick win กำลังผลิตรวม 100 เมกกะวัตต์ โดยเชิญชวนผู้สนใจลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในปี 2563 และ 3)โรงไฟฟ้าชุมชนทั่วไป กำลังผลิตรวม 600 เมกกะวัตต์ ที่จะเริ่มประกาศชวนชวนผู้สนใจภายในปี 2563 และคาดว่าจะลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ ภายในปี 2564

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการปลูกต้นไม้โตเร็วเพื่อผลิตเชื้อเพลิง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ การส่งเสริมการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar rooftop) การใช้ระบบ Blockchain เข้ามาช่วยในการซื้อขายน้ำมันปาล์มในภาคพลังงานทั้งระบบ ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าว คาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานทดแทน และเกิดรายได้หมุนเวียนในปี 2563 -2564 กว่า 30,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานกว่า 8,000 คน

3.ด้านนวัตกรรม เช่น การส่งเสริมและการระดมทุนแก่ผู้ประกอบการ Startup ที่มีศักยภาพโดย ปตท. ผ่านกลไกของบริษัท Innospace ซึ่งช่วยต่อยอดรายได้และเพิ่มมูลค่าของผู้ประกอบการ Startup ไทย การจัดตั้ง Innovation Holding Company โดย กฟผ. เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมด้านไฟฟ้า เช่น สถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น การผลักดันการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่ใช้ไฟฟ้า (E-Transportation) ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานที่สร้างมูลค่าการลงทุนในปี 2563-2564 รวมกว่า 470 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 350 คน

น.ส.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพลังงานจะเร่งรัดการลงทุนด้านพลังงาน รวมกว่า 200,000 ล้านบาท ผ่านโครงการที่สำคัญ เช่น การลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม การรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม การลงทุนพัฒนาและปรับปรุงระบบสายส่งไฟฟ้าให้พร้อมรองรับพลังงานหมุนเวียน (Grid Modernization) และศึกษาความเป็นไปได้ของการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อการขายไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งจะเกิดการจ้างงานกว่า 10,000 คน

Back to top button