AEC พุ่ง 12% รับผถห.ไฟเขียวเพิ่มทุนขยายธุรกิจ เชื่อผลงาน Q3 ฟื้น-ปี 64 เทิร์นอะราวด์

AEC พุ่ง 12% รับผถห.ไฟเขียวเพิ่มทุนขยายธุรกิจ เชื่อผลงาน Q3 ฟื้น-ปี 64 เทิร์นอะราวด์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC ล่าสุด ณ เวลา 11.35 น. อยู่ที่ระดับ 0.28 บาท ปรับตัวขึ้น 0.03 บาท หรือ 12% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.10 ล้านบาท

โดยราคาหุ้นในวันนี้ปรับตัวขึ้นแรงหลังจาก วานนี้ (20 ก.ค.) ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น บล.เออีซี (AEC) อนุมัติการเพิ่มทุนเป็น 5.8 พันล้านบาท จาก 1.22 พันล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 4.59 พันล้านหุ้น โดยจะจัดสรรจำนวน 3.06 พันล้านหุ้นเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น อัตราส่วน 0.4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 0.10 บาท และอนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 2 พันล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และรองรับการเข้าลงทุนในธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต

ทั้งนี้ นายประพล มิลินทจินดา ประธานคณะกรรมการบริหาร AEC และในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ยืนยันที่จะใช้สิทธิเพิ่มทุนตามสัดส่วน โดยปัจจุบันถือหุ้นใน AEC อยู่ที่ 23.56% โดยการเพิ่มทุนของบริษัทครั้งนี้คาดว่าจะได้รับเงินระดมทุนราว 300 ล้านบาท เพื่อที่จะนำมาใช้ในการขยายธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดี

นอกจากนี้ จะใช้เงินเพิ่มทุนบางส่วนในการพัฒนาด้านไอที ทั้งแพลตฟอร์มการซื้อขายหุ้นผ่านระบบ Online, การยืนยันตัวตนผ่าน Online การส่งข่าวสารผ่านระบบ Online และการติดต่อลูกค้าผ่านระบบ Online เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ มากขึ้น ทั้งรายย่อย รายกลาง และรายใหญ่

ขณะเดียวกัน หลังจากนี้บริษัทจะกลับมาเน้นการดำเนินธุรกิจในส่วนของงานด้านวาณิชธนกิจ (IB) เนื่องจากมองว่ามีธุรกิจจำนวนมาก ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องการโอกาสเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งหาแหล่งเงินทุนด้านต่าง ๆ เข้ามาช่วยให้สามารถกลับมาดำเนินกิจการต่อไปได้

“บริษัทมีโอกาสเข้าลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพที่จะช่วยสร้างการเติบโตและสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับบริษัทได้” นายประพล กล่าว

โดย ผลประกอบการจะกลับมาฟื้นตัวได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/2563 นี้ และคาดว่าจะกลับมามีผลกำไรได้ในปี 2564 โดยบริษัทจะเน้นการเติบโตในธุรกิจ IB ที่ปัจจุบันมีลูกค้ารายใหญ่ในมือแล้ว 2-3 ราย และหลังจากนี้คาดว่าความต้องการที่ปรึกษาทางการเงินจะมีมากขึ้นอีกหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการหลายกลุ่ม

 

 

Back to top button