แบงก์ตั้งสำรองสูง ‘ฉุดกำไรวูบ’

เส้นทางนักลงทุน ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพ …


เส้นทางนักลงทุน

ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้ง 10 ธนาคาร !!! มีการรายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2563 และงวด 6 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ออกมาครบถ้วนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สรุปว่าผลกำไรสุทธิรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงไตรมาส 2/2563 ทำกำไรสุทธิทั้งสิ้น 30,386.49 ล้านบาท ลดลง 41.09% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2/2562 ที่มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 51,579.16 ล้านบาท

ส่วนงวด 6 เดือนแรกของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยทำกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 77,224.20 ล้านบาท ลดลง 26.89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 105,631.60 ล้านบาท

เหตุผลที่กำไรสุทธิรวมทรุดหนัก เนื่องด้วยบรรดาธนาคารส่วนใหญ่มีการตั้งเงินสำรองที่สูงขึ้น ในการประมาณการถึงผลจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/2563 ชะลอตัวอย่างรุนแรง และความไม่แน่นนอน โดยได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)   โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าที่หดตัวลงอย่างมาก

เช่นเดียวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่ซบเซาลง ซึ่งทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาที่ระดับ 0.50% ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และเริ่มใช้มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ รวมถึงวางแนวทางสำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน

ดังนั้นบรรดาธนาคารถือปฏิบัติตามมาตรฐานทางการเงินที่เกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงิน รวมถึง TFRS 9 ซึ่งมีผลต่อการจัดประเภทรายการใหม่ การวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินและหนี้สินทางการเงิน การตั้งด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงิน และการบัญชีป้องกันความเสี่ยง โดยปรับปรุงผลกระทบสะสมจากการปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว

ทั้งนี้จึงไม่แปลกใจที่ได้เห็นงบการเงินในช่วงไตรมาส 2/2563 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยออกมาวูบหนักนั่นเอง

เดี๋ยวไปเจาะผลประกอบการรายตัวของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 10 ธนาคารว่ากำไรสุทธิจะทรุดมากน้อยเพียงใด และมีธนาคารตัวไหนบ้างที่ยังรักษากำไรสุทธิโตกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ผลที่ออกมากลับพบว่าธนาคารที่สามารถทำกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีเพียง TMB และ CIMBT ส่วนธนาคารที่เหลือ อย่าง BAY, KKP, SCB, TISCO, LHFG, KTB, BBL และ KBANK ล้วนกำไรวูบทั้งในส่วนของไตรมาส 2/2563 และงวด 6 เดือนแรก

สำหรับรายละเอียด ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 3,094.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.42% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 1,917.32 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 6 เดือนแรกของปี 2563 มีกำไรสุทธิ 7,258.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107.61% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 3,496.16 ล้านบาท สาเหตุหลักเป็นผลจากการรับรู้รายได้ของ TBANK เข้ามา ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นผลการดำเนินงานของ TMB เพียงธนาคารเดียว

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 306.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.43% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 200.77 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 6 เดือนแรกของปี 2563 มีกำไรสุทธิ 1,385.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 115.58% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 642.85 ล้านบาท สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานร้อยละ 10.5 และการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นร้อยละ 6.6 สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานร้อยละ 5.8

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2563 บริษัทกำไรสุทธิ 6,507.73 ล้านบาท ลดลง 7.17% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 7,010.19 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 6 เดือนแรกของปี 2563 กำไรสุทธิ 13,540.32 ล้านบาท ลดลง 31.43% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 19,746.94 ล้านบาท เหตุเพราะรายได้ที่อ่อนแอลงในทุกด้านโดยเฉพาะ non-NII ที่ลดลง จากค่าธรรมเนียมที่ลดลง โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อรายย่อย (บัตรเครดิต, เช่าซื้อรถยนต์) และปริมาณการซื้อขายที่ลดลง แต่ชดเชยด้วยการควบคุมต้นทุน และการตั้งสำรองที่ต่ำกว่าคาด

ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2563 บริษัทกำไรสุทธิ 1,184.19 ล้านบาท ลดลง 19.47% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 1,470.57 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 6 เดือนแรกของปี 2563  กำไรสุทธิ 2,668.26 ล้านบาท ลดลง 1.13% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 2,698.73 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss-ECL) ตาม TFRS 9 ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ลดลงเพราะกำไรจากเงินลงทุนที่ลดลง และรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจจัดการกองทุน รวมถึงธุรกิจวาณิชธนกิจที่ลดลง

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2563 บริษัทกำไรสุทธิ 8,359.77 ล้านบาท ลดลง 23.83% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 10,975.61 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 6 เดือนแรกของปี 2563  กำไรสุทธิ 17,610.77 ล้านบาท ลดลง 12.52% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 20,132.11 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงจาก  Net Interest Margin ที่ลดลงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์บวกด้วยการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยหลังขายหุ้น SCBLIFE ออกไปปีก่อน  และการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss-ECL) ที่เพิ่มขึ้น

บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2563 บริษัทกำไรสุทธิ 1,333.38 ล้านบาท ลดลง 25.85% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 1,798.15 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 6 เดือนแรกของปี 2563  กำไรสุทธิ 2,819.45 ล้านบาท ลดลง 20.08% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 3,527.75 ล้านบาท สาเหตุจากรายได้ดอกเบี้ย และรายได้ค่าธรรมเนียมลดต่ำลง นอกจากนี้การตั้งสำรองยังเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีก่อนมาก ถึงแม้ว่าจะลดค่าใช้จ่ายลงได้ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่หายไปได้

บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2563 บริษัทกำไรสุทธิ 500.89 ล้านบาท ลดลง 34.19% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 761.06 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 6 เดือนแรกของปี 2563  กำไรสุทธิ 1,329.66 ล้านบาท ลดลง 15.19% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 1,567.77 ล้านบาท สาเหตุจากทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมลดลงและการตั้งสำรองที่เพิ่มสูงขึ้นมาก

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2563 บริษัทกำไรสุทธิ 3,829.22 ล้านบาท ลดลง 53.13% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 8,169.68 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 6 เดือนแรกของปี 2563  กำไรสุทธิ 10,295.75 ล้านบาท ลดลง 33.45% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 15,470.76 ล้านบาท สาเหตุเกิดจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นมากเพื่อกันสำรองสำหรับความไม่แน่นอนที่อาจเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลกระทบของโควิด-19 และส่วนหนึ่งเป็นการตั้งสำรองเต็มจำนวนของสินเชื่อที่ปล่อยให้กับ THAI นอกเหนือจากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2563 บริษัทกำไรสุทธิ 3,094.98 ล้านบาท ลดลง 66.89% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 9,347.01 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 6 เดือนแรกของปี 2563  กำไรสุทธิ 10,765.49 ล้านบาท ลดลง 41.41% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 18,375.30 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss-ECL) ตาม TFRS 9 ที่เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2563 บริษัทกำไรสุทธิ 2,175.35 ล้านบาท ลดลง 78.09% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 9,928.80 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 6 เดือนแรกของปี 2563  กำไรสุทธิ 9,550.23 ล้านบาท ลดลง 52.18% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 19,973.23 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยนั้นลดลงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมก็ลดลงด้วย แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้กำไรลดลงมาก คือการตั้งสำรองที่สูงถึง 20 พันล้านบาท

ด้วยข้อมูลข้างต้น กำไรสุทธิกลุ่มธนาคารถดถอยลง โดยหลักเกิดจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นมากเพื่อกันสำรองสำหรับความไม่แน่นอนที่อาจเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ทั้งสิ้น

ดังนั้นหากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายลงได้ ก็ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ในเร็ว นี้ โดยอาจมีความเป็นไปได้ว่าที่จะยังเห็นธนาคารมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอีกในครึ่งหลังปี 2563 !!!

Back to top button