พาราสาวะถี

ยังคงเป็นปุจฉาที่ต้องเร่งหาคำตอบให้สาธารณชนหายข้องใจโดยเร็ว กับกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้อง วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส กระทิงแดง จนกระทั่งเกิดเป็นกระแสสังคมกดดันไปยังทุกฝ่าย สุดท้ายต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แม้กระทั่งรัฐบาลเองที่ท่านผู้นำก็ประกาศปาว ๆ ไม่เกี่ยวข้องไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่ทานแรงต้านของสังคมไม่ไหว ต้องไปขุดคุ้ยหาความจริงให้เป็นที่ประจักษ์


อรชุน

ยังคงเป็นปุจฉาที่ต้องเร่งหาคำตอบให้สาธารณชนหายข้องใจโดยเร็ว กับกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้อง วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส กระทิงแดง จนกระทั่งเกิดเป็นกระแสสังคมกดดันไปยังทุกฝ่าย สุดท้ายต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แม้กระทั่งรัฐบาลเองที่ท่านผู้นำก็ประกาศปาว ๆ ไม่เกี่ยวข้องไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่ทานแรงต้านของสังคมไม่ไหว ต้องไปขุดคุ้ยหาความจริงให้เป็นที่ประจักษ์

ขณะที่อีกด้านคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคสืบทอดอำนาจเป็นประธาน เมื่อวันพุธที่ผ่านมาได้เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงทั้งจากอัยการและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ปรากฏว่าในส่วนของอัยการที่มีการเชิญ เนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ผู้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องไม่ได้เดินทางมาให้ข้อมูล มี ปรเมศร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี อัยการคนดังและ ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกอัยการสูงสุดมาชี้แจงแทน

ส่วนทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมากันพร้อมหน้า ตั้งแต่ พลตำรวจเอกชนสิษฎ์ วัฒนวรากูร จเรตำรวจแห่งชาติ ไปจนถึงพลตำรวจตรีชุมพล พุ่มพวง ผู้บังคับการตำรวจภูธรสมุทรปราการ อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ และพันตำรวจเอกสัมพันธ์ เหลืองสัจจกุล ผู้กำกับการสน.ทองหล่อคนปัจจุบัน โดยที่บรรดากรรมาธิการต่างพากันรุมถามพุ่ง เป้าไปในหลายประเด็นที่สำคัญ โดยมีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องการปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สนช.

จากคำชี้แจงของฝ่ายอัยการและตำรวจนั้น ที่ต้องขีดเส้นใต้คงเป็นในส่วนของพลตำรวจเอกชนสิษฎ์ที่บอกว่า แม้แต่ตนและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ยังสงสัย ทำไมไม่สั่งฟ้อง” แต่ก็รีบออกตัวว่า วันนี้หน่วยงานต่าง ๆ ตั้งคณะกรรมการมาสอบสวนถึง 3 ชุด จึงขอเวลาในการสอบสวนข้อมูลทั้งหมดก่อน แล้วจะมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการในสัปดาห์หน้า เช่นเดียวกับอัยการที่อ้างว่าตอนนี้อัยการทั้ง 7 คนที่อสส.ตั้งขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงอยู่ระหว่างตรวจสอบสำนวนโดยละเอียด จึงขอเลื่อนการตอบคำถามต่าง ๆ ในสัปดาห์หน้า

ด้านอดีตคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ สนช. ก็ส่ง ธานี อ่อนละเอียด อดีตกรรมาธิการออกมาชี้แจง ไม่มีประเด็นอะไรมาก แค่อ้างว่าทางฝ่ายบอส กระทิงแดงมาร้องขอความเป็นธรรมเมื่อเข้าข่ายตามระเบียบก็ดำเนินการ และมีหน้าที่ในการตรวจสอบ รวบรวมข้อมูลส่งให้หน่วยงานเท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะไปสั่งให้หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนตามที่คณะกรรมาธิการเสนอ มันก็ต้องออกมาในรูปแบบนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเมื่อมองไปยังคนที่นั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้ที่เป็นน้องชายของพี่ใหญ่จึงไม่น่าจะธรรมดา

อย่างที่กรรมาธิการกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรตั้งคำถามต่อผู้ที่มาชี้แจงนั่นแหละว่า คณะกรรมาธิการกฎหมายฯ สนช.มีอำนาจอะไรสั่งการให้อัยการพิจารณาประเด็นที่บอส กระทิงแดง ร้องขอความเป็นธรรม ทั้งที่เดิมอัยการไม่มีการรับคำร้องขอความเป็นธรรมจากผู้ร้องแต่อย่างใด ตรงนี้แหละที่ต้องขีดเส้นใต้ ทำไมจึงพลิกพลิ้วกันขนาดนั้น ไม่นับรวมประเด็นอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเร็วของรถที่ลดลงอย่างผิดปกติ หรือการดึงคดีให้เนิ่นช้ากว่าที่ควรจะเป็น

ฟากผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ออกมาแตะเบรกขอให้ใจเย็น ๆ รอผลสอบของคณะกรรมการทุกชุดที่มีการแต่งตั้งกันขึ้นมา พร้อมกับคาถานกแก้วนกขุนทองที่พูดมาตลอดนับแต่การยึดอำนาจนั่นก็คือ ต้องดูความเป็นไปเป็นมาของกฎหมายหลายตัว ต้องไปดูขั้นตอนต่าง ๆ ว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร และต้องย้อนกลับไปดูต้นทางอีกครั้งว่ามีปัญหาตรงไหน ซึ่งต้องไปแก้ทั้งระบบด้วย เพื่อให้เกิดความชอบธรรมให้มากที่สุด และเพื่อให้ได้รับการยอมรับและความเชื่อมั่น

นอกจากนั้น สิ่งที่ท่านพูดก็ดูเหมือนจะเข้าใจการทำงานของแวดวงสีกากี นี่เป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น การทำคดีและจัดทำสำนวนต้องรอบคอบและระมัดระวัง เพื่อไม่ให้การกระทำความผิดต่าง ๆ ได้รับการละเว้น ซึ่งมีหลายกลไกด้วยกัน คงเข้าใจแล้วกระมังที่สังคมตั้งคำถามเรื่องสองมาตรการต่อกระบวนการยุติธรรมนั้น มันไม่ได้หมายถึงความยุติธรรมปลายทางอันหมายถึงศาลสถิตยุติธรรม แต่มันคือกระบวนการยุติธรรมตั้งต้นนี่แหละ

ไม่เฉพาะตำรวจ เวลานี้ยังหมายรวมถึงองค์กรอิสระบางแห่งด้วย ที่พบว่าการดำเนินคดีและการไต่สวนนั้นหาได้มีความเป็นกลางไม่ โดยเฉพาะเรื่องเงื่อนเวลาในการดำเนินการเอาผิดกับบางคน บางพวก เปรียบเทียบในคดีเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน จะเห็นความลักลั่นและเลือกปฏิบัติได้อย่างชัดเจน ดังนั้น สิ่งที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอ้างมาตั้งแต่วันที่ยึดอำนาจเรื่องการปฏิรูปทั้งหลาย อย่าเป็นเพียงวาทกรรมลวงโลกหรือการอุปโลกน์สิ่งใดขึ้นมาเพื่อให้คนคล้อยตาม เพียงเพื่อความชอบธรรมของตัวเองและคณะเท่านั้น

ไม่ต่างกันกับกรณีของม็อบนักศึกษา ปากของท่านผู้นำและคนที่เกี่ยวข้องต่างก็บอกว่าเป็นห่วงเรื่องม็อบชนม็อบ ซึ่งไม่ต้องไปเพ่งเล็งหรือสั่งการเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงว่าต้องดูแลอย่างไร ดีที่สุดคือ สั่งให้คนที่ปลุกม็อบมาเชลียร์รัฐบาลนั่นแหละ หยุดความเคลื่อนไหว เพราะมันไม่เกิดประโยชน์ มีแต่จะเข้ามาสร้างความวุ่นวาย เพื่อนำไปสู่ปลายทางของความขัดแย้ง สวนทางกับแนวทางรวมไทยสร้างชาติอย่างสิ้นเชิง ขณะที่ฝ่ายต่อต้านเมื่อยืนอยู่ที่ 3 ข้อเรียกร้องก็จะเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจของคนที่เป็นผู้นำ

เมื่อย้ำมาโดยตลอดว่าไม่ขัดข้องที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อเที่ยวโพนทะนาว่าสิ่งที่ทำมาไม่ใช่ขบวนการสืบทอดอำนาจ ก็ควรที่จะตั้งวงถกกับกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาเสียให้รู้แล้วรู้รอดว่าต้องการอะไร แล้วข้อเรียกร้องเหล่านั้นจะบรรลุกันแบบไหน แสดงความจริงใจและจริงจังของฝ่ายรัฐบาลว่าได้ทำอะไรไปแล้วไม่ ไม่ใช่ยื้อยึดอย่างที่เป็นอยู่ แม้แต่พวกเดียวกันอย่างประชาธิปัตย์ยังออกมากระทุ้งว่าแก้รัฐธรรมนูญเริ่มต้นได้แล้ว เพราะนี่คือนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล การอ้างโน่นอ้างนี่ก็เท่ากับการซื้อเวลาไปวัน ๆ เท่านั้นเอง

Back to top button