สัญญาณฟื้นตัวเชื่องช้า.!

ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย หลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 ชักเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวเป็นไปอย่างเชื่องช้า แม้สถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศเป็นไปด้วยดี แต่ทว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศ ยังขยายวงกว้างมากขึ้น จึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย หลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 ชักเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวเป็นไปอย่างเชื่องช้า แม้สถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศเป็นไปด้วยดี แต่ทว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศ ยังขยายวงกว้างมากขึ้น จึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 ที่ผ่านมา หดตัวต่อเนื่อง GDP มีโอกาสติดลบ 12-13% หรืออาจติดลบมากกว่า GDP ไตรมาส 2/41 ที่ติดลบ 12.5% และประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 ช่วงประมาณปี 2565 ด้วยเหตุกำลังซื้อภาคครัวเรือนอ่อนตัว จากตลาดแรงงานที่ต้องใช้เวลาฟื้นตัวยาวนาน 1-2 ปี หลังจากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือเรื่องการว่างงานอย่างต่อเนื่อง จากหลายหน่วยงานประเมินว่า ปีนี้การว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 5 ล้านคน จากจำนวนแรงงานทั้งหมดกว่า 38 ล้านคน ถือเป็นตัวเลขสูงและอาจหนักหน่วงกว่าปี 2540

ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่ตัวเลข GDP เดือนมิ.ย. 63 หากออกมาดีกว่าที่ประเมินไว้ ธปท.อาจปรับคาดการณ์ทั้งปีให้หดตัวน้อยลง แต่หากออกมาแย่กว่าที่ประเมินไว้ต้องปรับตัวเลขแย่กว่าเดิม โดยช่วงเดือนก.ย. 63 ธปท.จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 อีกครั้ง เงื่อนไขหลักอยู่ที่การระบาดของโควิด-19 ในประเทศต่าง ๆ

ตัวเลขดัชนีชี้วัดสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างการส่งออกรวมเดือนมิ.ย. 63 อยู่ที่ติดลบ 24.6% ขณะที่มูลค่าการส่งออก ไม่รวมทองคำ อยู่ที่ติดลบ 18.4% ถือว่าหดตัวน้อยลงตามการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามภูมิภาค เมื่อเทียบเดือนพ.ค. 63 ที่ผ่านมา

ส่วนตัวเลขการท่องเที่ยวเดือนมิ.ย. 63 ยังไม่ฟื้นตัว หลังรับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของไทยและต่างประเทศ ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 3 (นับจากเดือนเม.ย. 63) ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีไม่ถึง 10 ล้านคน จากปี 2562 อยู่ที่ระดับ 39 ล้านคน

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนเดือนมิ.ย. 63 ติดลบ -4.7% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ถือว่าหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายเริ่มปรับดีขึ้น เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ทำให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น โดยมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและเดบิตภายในประเทศ ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดือนเม.ย. 63 ที่ติดลบเกือบ 50% ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนถือว่าหดตัวสูง ตามปัจจัยด้านรายได้และความเชื่อมั่นที่ยังอ่อนแอนั่นเอง

สำหรับการลงทุนภาครัฐ ด้านการใช้จ่ายของภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ส่วนรายจ่ายการลงทุนเพิ่มขึ้นตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง เพื่อการซ่อมบำรุงถนนเป็นหลัก แต่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว

จากตัวเลขดังกล่าวพอจะเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้น แต่มีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงทำให้ความคาดหวังที่จะได้เห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวช่วงปลายปี 2564 จึงแทบเป็นไปไม่ได้

ความหวังที่จะได้การฟื้นตัวแบบ Nike-Shaped จึงเป็นได้ยาก แต่จะเป็น U-Shape ที่ทอดยาวแค่ไหนเท่านั้นเอง..!!

Back to top button