“หมอเลี้ยบ” ชี้โครงสร้าง ศก. ไทย ไม่สมดุล แนะรัฐ เร่งแก้ปัญหาให้ตรงจุด ก่อนเจอมหาวิกฤต

"หมอเลี้ยบ" ชี้โครงสร้าง ศก.ไทย ไม่สมดุล แนะรัฐ เร่งแก้ปัญหาให้ตรงจุด ก่อนเจอมหาวิกฤต


นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนา “BATTLE STRATEGY แผนฝ่าวิกฤต พิชิตสงคราม EPISODE II : DON’T WASTE A GOOD CRISIS พลิกชีวิตด้วยวิกฤตการณ์” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ในหัวข้อ “มหาวิกฤต ปากท้องคนไทย…รดน้ำอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นตัว”

โดย นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า การจะแก้ปัญหาให้เศรษฐกิจอย่างถูกต้องและตรงจุด ประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก

ประเด็นที่ 1 จะต้องเริ่มจากวิธีคิด (Mindset) ว่ามองปัญหาออกมาอย่างไรก่อน ในกรณีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิดนั้น หากมีความคิดว่าสถานการณ์จะไม่รุนแรง ก็อาจทำให้ไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือหรือเตรียมมาตรการไว้รองรับเมื่อเกิดปัญหา แต่หากมองว่าสถานการณ์มีความน่าเป็นห่วง ก็อาจจะทำให้มีการเตรียมวางมาตรการให้พร้อมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีกว่า

          “ดังนั้น Mindset ของการในการมองวิกฤตปัญหาข้างหน้า จึงมีได้ 2 แบบ แบบแรกอาจเป็นการมองแบบหวาดระแวง พารานอยด์ และอีกแบบ ที่มีความยืดหยุ่น และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง” นพ.สุรพงษ์ กล่าว

ประเด็นที่ 2 โครงสร้างเศรษฐกิจมีปัญหาในจุดไหน เกิดความบิดเบือน ไม่สมดุลหรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทย จะพบว่าสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ไม่สมดุล เพราะต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก

การที่ไทยและอีกหลายประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว จากเหตุที่นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้เลย ทำให้ขาดรายได้ในส่วนนี้ไปมาก

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เนื่องจากภาครัฐใช้วิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยมุ่งช่วยเหลือกลุ่มทุน และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพียงเพราะหวังว่าเมื่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่เดินต่อได้ ก็จะมีแรงส่งผ่านไปถึงธุรกิจรายย่อยได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แนวคิดดังกล่าวไม่น่าจะถูกต้อง และไม่ได้ช่วยให้ภาคธุรกิจรายย่อยอยู่รอดได้จริง

          “มันเป็นการรดน้ำที่ยอด เพื่อให้ใบเขียว ไม่ได้รดน้ำที่ราก หากกระตุ้นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กลุ่มทุน เพื่อหวังผลว่าจะส่งลงมาข้างล่างให้เติบโตได้ แต่ปัจจุบันแนวคิดนี้ไม่ได้รับการยอมรับเท่าไรนัก การเน้นสนับสนุนกลุ่มทุนใหญ่ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ อาจไม่มีผลช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมรายเล็กรายย่อยให้เติบโตได้อย่างจริงจัง เมื่อปลาใหญ่ ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ปลาเล็กก็มีโอกาสเติบโตได้น้อยลง และแข่งขันได้น้อยลง” นพ.สุรพงษ์ กล่าว

ดังนั้น พอเกิดความไม่สมดุลของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เมื่อเกิดสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งเข้ามากระทบ จึงทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่สามารถรักษาสมดุลของการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศได้ดีกว่า

ประเด็นที่ 3 การมีข้อมูลที่ถูกต้องต่อสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในช่วงแรกของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทุกคนต่างตื่นตระหนก หวาดกลัว เนื่องจากเป็นไวรัสชนิดใหม่โลกเพิ่งเป็นที่รู้จัก ทำให้ในช่วงแรกของการระบาด ทุกประเทศยังขาดความรู้และประสบการณ์ในระบบการรักษาและดูแลผู้ป่วย ส่งผลให้มีอัตราการตายจากโควิดอยู่ในระดับที่สูง

แต่ปัจจุบัน สถานการณ์ผ่านไป 9 เดือน การแพทย์และสาธารณสุขของแต่ละประเทศเริ่มมีความเข้าใจสถานการณ์ของโรคได้มากขึ้น จึงทำให้อัตราการตายจากโรคนี้เริ่มลดน้อยลง

ประเด็นที่ 4 แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด จะต้องเริ่มจากการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นก่อน ตราบใดที่ยังสร้างความหวาดกลัวให้เกิดแก่ประชาชนว่าสถานการณ์มีความน่ากลัว มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเป็นส่วนในการดูแลและป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโควิดในประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักลง สิ่งเหล่านี้ทำให้ความเชื่อมั่นไม่เกิดขึ้น และไม่สามารถทำให้ทุกอย่างเดินไปข้างหน้าได้

          “ความเชื่อมั่นจะต้องเริ่มจากการลดความหวาดกลัว ทำให้ทุกอย่างสามารถเดินหน้าไปได้ ควรต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะการมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะยิ่งทำให้คนเห็นว่าโควิดจะยังอยู่กับเราต่อไป” นพ.สุรพงษ์ กล่าว

ประเด็นที่ 5 การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องปรับทิศทางใหม่ ลดบทบาทของภาคราชการ และส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนให้มากขึ้น เปิดเสรีในกิจการบางประเภท เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้เข้ามามีบทบาทในการสร้างธุรกิจ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น เพื่อมีส่วนในการช่วยฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ

          “วันนี้อยู่ที่เรามองปัญหาอย่างไร หากเรามองว่าเดี๋ยวก็ดีขึ้น ก็จะไม่ต้องทำอะไร จะไม่มีมาตรการที่ชัดเจนออกมา…เราอยากเห็นมีการตั้งวอร์รูมในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ทำงานให้เกิดความมั่นใจ หากเดินหน้าแบบนี้ไม่ได้ โอกาสที่จะเจอมหาวิกฤต ก็จะได้เห็นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า” อดีตรองนายกฯ และรมว.คลัง ระบุ

Back to top button