“รฟม.” มั่นใจชนะคดี ไม่มีเสียค่าโง่ ปมแก้ TOR สายสีส้ม เหตุ BTS ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหาย

“รฟม.” มั่นใจชนะคดี ไม่มีเสียค่าโง่ ปมแก้ TOR สายสีส้ม เหตุ BTS ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหาย


นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวชี้แจงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) หลังจากที่มีการขายซองประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) โดยระบุว่าอาจทำให้เสียค่าโง่

โดยผู้ว่า รฟม.กล่าวว่า เนื่องจากคำฟ้องของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) หรือ BTS ที่คัดค้านประเด็นการเปลี่ยนแปลง RFP ขอให้ศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับการคัดเลือกโครงการนี้ ไม่ได้เรียกร้องค่าเสียหาย ดังนั้น ถึงแม้ที่สุดอาจแพ้คดีก็ไม่ได้จะทำให้รัฐต้องจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใด

“ในคำร้องไม่ได้พูดถึงค่าเสียหาย เป็นเพียงการขอเพิกถอนมติ ไม่มีการจ่ายชดเชยใดๆทั้งสิ้น” นายภคพงศ์ กล่าว

ส่วนประเด็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข RFP ยืนยันยันว่าสามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และมีข้อสงวนไว้ใน RFP โดยความเสียหายยังไม่เกิดขึ้น เพราะอยู่ในช่วงให้เอกชนเตรียมข้อเสนอก่อนนำมายื่นให้กับคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลังการยื่นข้อเสนอของเอกชน พร้อมกันนั้น ยังได้ขยายเวลาให้เอกชนจัดเตรียมข้อเสนอเป็นเวลามากกว่า 70 วัน จากเดิม 60 วัน จุดนี้ก็ไม่น่าจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของเอกชน เพราะทุกรายมีเวลาปรับปรุงข้อเสนอได้อยู่แล้ว

“เรามั่นใจว่าชนะคดี มั่นใจไม่ยืดเยื้อ เรายังไม่เห็นผู้ฟ้องคดีเสียหายอะไร เราไม่ได้เพิกถอนสิทธิกับผู้ฟ้องคดี เพียงปรับปรุงข้อเสนอ ซึ่งผู้ซื้อเอกสารก็แจ้งกับทุกราย …ขอให้รอดูผลคำสั่งศาลจะคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่” ผู้ว่าการ รฟม.กล่าว

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนในวันที่ 14 ต.ค.63 เป็นครั้งแรก

ส่วนประเด็นข้อสงวนใน RFP นายภคพงศ์ กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36ฯ สามารถดำเนินการได้ และจะเป็นประโยชน์กับโครงการเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินโครงการสำเร็จ โดยได้ปรับการให้คะแนนเทคนิค (ซอง 2) และคะแนนผลตอบแทน (ซอง 3)มาพิจารณาคัดเลือกเอกชน ให้ใช้คะแนนเทคนิค 30% และคะแนนผลตอบแทน 70% จากเดิมพิจารณาซอง 2 ก่อนหากผ่านจะพิจารณาซอง 3

โดยเหตุผลที่ให้นำคะแนนเทคนิคมาประกอบการพิจารณาก็เพื่อความปลอดภัยเพราะเป็นสาธารณประโยชน์ เนื่องจากเส้นทางก่อสร้างสายสีส้มตะวันตกเป็นเส้นทางใต้ดินเป็นอุโมงค์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ที่ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของบ้านเรือนที่เป็นอาคารเก่า จึงต้องคำนึงถึงผลกระทบในด้านนี้ รวมถึงการให้บริการการเดินรถก็ต้องมีความปลอดภัยด้วย ยกตัวอย่างการซื้อรถยนต์ที่มีออพชั่นมากกว่าราคาย่อมสูงกว่า

ผู้ว่า รฟม.ระบุอีกว่า ในเอกสาร RFP ระบุว่าจะต้องมีประสบการณ์สร้างอุโมงค์ใต้ดินขนาด 5 เมตร มีประสบการณ์ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า แต่ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นผู้ซื้อเอกสาร RFP จะใช้ผู้รับเหมาช่วง (Subcontract) ก็ได้ เพื่อให้มั่นใจว่างานก่อสร้างโครงการจะสำเร็จ

ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะกำหนดกรอบดุลพินิจของคณะกรรมการในการพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิคหลังจากรับข้อเสนอของเอกชนครบถ้วนแล้ว เพราะหากกำหนดก่อนก็เหมือนข้อสอบรั่ว พร้อมกับการพิจารณาผลตอบแทน นอกจากนี้ กรรมการก็ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย จึงเชื่อมั่นได้ว่าจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ยังให้น้ำหนักการพิจารณาด้านผลตอบแทนมากถึง 70% ที่เอกชนจะให้ผลประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ แลกกับสัมปทานเดินรถ 30 ปี โดยได้กำหนดค่าตอบแทนกลางเท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value) 1 พันล้านบาท บนอัตราค่าโดยสารที่กำหนดไว้ชัดเจนที่ 16-42 บาท เท่ากับค่าโดยสารสายสีน้ำเงิน และรัฐจะจ่ายค่างานโยธาหลังจากก่อสร้างแล้ว 2 ปี และทยอยจ่ายเป็นระยะเวลา  7 ปี โดยมีมูลค่างานโยธา 9.6 หมื่นล้านบาทซึ่งส่วนนี้ต้องเสนอราคาต่ำ

นายภคพงศ์ กล่าวว่า ระยะเวลาดำเนินการหลังจากที่เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 9 พ.ย.63 คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 สัปดาห์เปิดข้อเสนอคุณสมบัติ (ซอง 1) ประมาณปลายเดือน พ.ย.63 หลังจากนั้นจะเปิดซอง 2 และซอง 3 พร้อมกัน จากนั้นจะพิจารณาอีก 1 เดือน คาดว่าต้นปี 64 น่าจะรู้ผลผู้ชนะการประมูล

อนึ่ง ผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอร่วมลงทุน 10 บริษัท ได้แก่ 1.บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 2.บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) 3.บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) 4.บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) 5.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) 6.บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) 7.บมจ. ช.การช่าง (CK) 8.บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) 9.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด 10.บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาทมีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ระยะทาง. 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

Back to top button