เลือก อบจ. อัศวินอยู่ต่อ

หลังจากลากถูมาเกือบ 2 ปี ครม.เพิ่งมีมติให้เลือกตั้ง อบจ. 76 จังหวัด ซึ่ง กกต.จะกำหนดวันเลือกตั้ง 13 หรือ 20 ธ.ค.นี้


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

หลังจากลากถูมาเกือบ 2 ปี ครม.เพิ่งมีมติให้เลือกตั้ง อบจ. 76 จังหวัด ซึ่ง กกต.จะกำหนดวันเลือกตั้ง 13 หรือ 20 ธ.ค.นี้

นี่เป็นชุดแรกเท่านั้นสำหรับการเลือกตั้ง อปท. ยังมีเทศบาลนครและเทศบาลเมืองอีก 225 แห่ง เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง อบต. 5,300 แห่ง รวมทั้ง กทม.และเมืองพัทยา

กว่าจะได้เลือกตั้งหมด ไม่รู้เมื่อไหร่ กว่าคน กทม.จะได้เลือกผู้ว่าฯ ของตัวเอง แทน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ คสช.ตั้งให้ ซึ่งพอสิระ เจนจาคะ ล่า 50,000 ชื่อไล่ ท่านก็ตอบโต้ว่า “ไม่เอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ”

ความเป็นสิระ เจนจาคะ อาจจะไม่ค่อยมีต้นทุน แต่ถ้าพิมเสน หมายถึงการยกตนอยู่อีกชนชั้น เพราะมาจากเผด็จการแต่งตั้ง แล้วเหยียดผู้มาจากเลือกตั้งเป็นเกลือ สิระก็น่าจะมีราคากว่า

คนไทยไม่ได้เลือกตั้ง อปท.มามากกว่า 7 ปี ซ้ำยังถูกแช่แข็งด้วยคำสั่ง คสช. ซึ่งบางแห่งก็ตั้งข้าราชการไปรักษาการ บางแห่งก็ตั้งนักการเมืองในเครือข่ายเข้าไปนั่งเก้าอี้ บางแห่ง อยู่ดี ๆ ก็โดนคำสั่ง คสช.แขวน แล้วอยู่ดี ๆ ก็ปลดคำสั่ง สืบไปสืบมา ที่แท้มีความโยงใยกับพรรคการเมืองที่ตั้งมาสืบทอดอำนาจนั่นเอง

การออกกฎหมาย ประกาศ ระเบียบต่าง ๆ ในช่วง 5 ปีรัฐประหาร รวมทั้งถูก สตง.เข้าไปไล่จับ เช่นไม่ยอมให้ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า ทำให้ อปท.ทำงานแทบไม่ได้ กลายเป็นหน่วยงานใต้คำสั่งราชการ ใต้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ (แต่ถ้าสมประโยชน์กัน ไม่เป็นไร)

ไม่ได้บอกว่านักการเมืองท้องถิ่นดีเด่อะไร แต่ข้อดีของการเลือกตั้งท้องถิ่น คือพื้นที่เล็ก ประชาชนเห็นผลงานได้ชัดเจน ใครห่วย ใครแย่ ใครโกง แม้ไม่มีหลักฐานก็ปิดชาวบ้านไม่มิด ดังนั้น การเลือกตั้งทุกสี่ปีจึงกำจัดคนที่ประชาชนไม่ต้องการ นักการเมืองก็ต้องขยัน กระตือรือร้นอยู่เสมอ

แต่นี่บางแห่งไม่เลือกตั้งมา 8 ปี กทม. 10 ปี ก็ไม่ต้องขมีขมัน นักการเมืองเลวก็ปากมัน พวกมาจากแต่งตั้งก็ไม่รู้สึกรู้สา สภา กทม.ทุกวันนี้ล้วนแต่ข้าราชการเกษียณที่ คสช.ตั้ง ผู้มาจากแต่งตั้งอาจรู้ว่าน้ำท่วม แต่จะเดือดร้อนแทนชาวบ้านเท่านักการเมืองที่พนมมือหาเสียงไหม

รัฐประหารรัฐราชการไม่ให้ความสำคัญ อปท. มองนักการเมืองท้องถิ่นชั่วเลว ทั้งที่ อปท.เข้าใจท้องถิ่นตัวเองมากกว่า พัฒนาถูกจุดตรงเป้ากว่าระบบราชการ 6 ปีที่ผ่านมาโครงการของรัฐที่หว่านลงไปผ่านเครือข่ายราชการ มีจำนวนมากล้มเหลว เพราะไม่ตรงความต้องการชาวบ้าน เช่น ไปสร้างตลาดร้าง เอางบไปทำโครงการที่ไร้ประโยชน์ ต่อยอดไม่ได้ ข้าราชการสักแต่ใช้งบ บางโครงการชุมชนพัฒนาเองเช่นตลาดน้ำ ก็เอาชื่อไปสวมเป็นตลาดประชารัฐ

อปท.ถูกมัดมือมัดเท้า เช่นจะก่อสร้างต้องให้โยธาธิการจังหวัดอนุมัติ จะแจกอุปกรณ์กันหนาว ต้องอุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศา 3 วัน (แต่ทหารแจกผ้าห่มไม่ต้องวัดอุณหภูมิ)

การจะมายึกยื้อ จัดเลือกตั้งทีละส่วน ๆ อบจ.ก่อน แล้วค่อยเทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล แล้วค่อย อบต. แล้วค่อย กทม. จึงยิ่งถ่วงความเจริญ จากที่ถ่วงมาหลายปี

ไม่มีเหตุผลเลยที่จะลากถู แม้อ้างว่า กกต.ต้องการให้เลือกทีละส่วน ทำไมจะเลือกพร้อมกันไม่ได้ ทำไมจัดการไม่ได้ ง่ายเสียอีก ประหยัดงบ ประชาชนแต่ละคนก็หย่อนบัตร 2 ชุด เลือก อบจ. กับเลือกเทศบาลหรือ อบต.ในพื้นที่ตัวเอง

หรืออย่างน้อย เลือกผู้ว่า กทม.พร้อมนายก อบจ.ก็ยังได้ นี่ให้ 76 จังหวัดเลือกนายกฯ คนกรุงเทพฯ ตาปริบ ๆ รออัศวินสู้น้ำท่วมอีกปี

อย่าบอกนะว่าเหตุผลคือรัฐบาลยังไม่พร้อมส่งคนของตัวเอง เลยต้องลากถูต่อ ปล่อยให้ชัชชาติฟุตเวิร์คมาเป็นปี

คน กทม.เห็นทีจะต้องไปลงชื่อกับสิระ หรือล่าชื่อกันเอง ไล่อัศวินออกจะได้เลือกตั้งพร้อม 76 จังหวัด

Back to top button