ตู่ออกลดกดดัน

นักเคลื่อนไหวในอดีตทั้งสองสี ตำหนิ “คณะราษฎร 2563” ทำไมไม่ไล่ประยุทธ์เท่านั้น ไปเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน ทำให้ถูกต่อต้าน จะทำให้ประยุทธ์ลอยนวล


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

นักเคลื่อนไหวในอดีตทั้งสองสี ตำหนิ “คณะราษฎร 2563” ทำไมไม่ไล่ประยุทธ์เท่านั้น ไปเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน ทำให้ถูกต่อต้าน จะทำให้ประยุทธ์ลอยนวล

มีคำถามย้อน แล้วทำไมพวกที่ตำหนิ ไม่ไปตั้งม็อบไล่ประยุทธ์เสียเอง เผื่อจะมีคนเป็นแสนเป็นล้าน อานนท์ เพนกวิน รุ้ง ฯลฯ จะได้หมดบทบาทการนำ ไม่มีใครเอา

ขณะเดียวกันก็ชวนคิดกลับข้าง ถ้าประยุทธ์ลาออก ยอมให้การเมืองกลับสู่ระบอบปกติ พรรครัฐบาลและ 250 ส.ว.ยอมแก้รัฐธรรมนูญ ตัดอำนาจโหวตนายกฯ แรงกดดันทั้งหมดจะลดลงไหม

สังคมไทยควรยอมรับ ข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่เกิดจากธรรมชาติของเขา ที่ต่อต้านความคิดอนุรักษนิยม คนรุ่นใหม่ทุกรุ่นนั่นแหละ ไม่พอใจกับการเติบโตขึ้นมาภายใต้อำนาจต่าง ๆ ในสังคมไทย

แต่คนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบันมีลักษณะพิเศษ คือหนึ่ง เติบโตมากับโลกออนไลน์ ที่ทำให้เขารู้กว้าง ซ้ำยังโตมาอย่างเสมอภาคเท่าเทียม เพราะในโลกออนไลน์ ทุกคนเท่ากัน มีชื่อเสียงโด่งดังมียศถาบรรดาศักดิ์ ถ้าแสดงความคิดเห็นเห่ย ๆ ก็โดนทัวร์ลงทั้งนั้น

คนรุ่นใหม่จึงรู้สึกว่าเขาถูกกดทับกดขี่จากผู้ใหญ่ในโลกออฟไลน์ ไม่ว่าครู ครอบครัว หรืออำนาจอื่นใด เพียงแต่ครอบครัวยังมีความรักความใส่ใจใกล้ชิด คนอื่น ๆ มาจากไหน ไม่ใช่พ่อแม่ มาใช้อำนาจกดทับได้อย่างไร

สอง โลกปัจจุบันเป็นยุค Disruption ที่คนรุ่นใหม่มองเห็นอนาคตไม่แน่นอน พวกเขาต้องพึ่งตัวเอง ต้องมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ต้องการอิสระในการตัดสินใจ ไม่ต้องการให้อำนาจกฎระเบียบจารีตต่าง ๆ มาเป็นอุปสรรคโดยไม่จำเป็น

คนรุ่นใหม่ต้องการระบบการศึกษาที่เปิดกว้าง บริการสาธารณะ รัฐสวัสดิการรองรับ แล้วเขาจะเลือกทางชีวิตของเขาเอง ต่อสู้ชีวิตเอง ดังจะเห็นจากคำพูดเด็กมัธยมอย่าง “ขิม” ที่มหาสารคาม “เมนู” ที่เชียงใหม่ และอีกมากมายทั่วประเทศ

ซึ่งมันตรงข้ามกับรัฐราชการเป็นใหญ่ ระบอบประยุทธ์ รัฐประหารสืบทอดอำนาจ ที่ไม่ใช่แค่ทัศนะล้าหลัง #ผนงรจตกม แต่ตัวระบบขัดขวางไปทุกอย่าง

ภาพรวมคือ คนรุ่นใหม่ฉลาดขึ้น รู้กว้างขึ้น พ่อแม่ยุคใหม่ก็สนับสนุนให้ลูกรู้จักคิดวิเคราะห์ แต่อำนาจรัฐถอยหลัง นอกจากผูกขาดอำนาจทางการเมือง ยังมุ่งเข้าไปควบคุมความคิดเด็กในโรงเรียน ด้วยการอบรม เพิ่มหลักสูตร เพิ่มความเข้มงวดของครู

ในทางการเมือง การยุบพรรคอนาคตใหม่ทำให้เกิดแฟลชม็อบลุกฮือแทบทุกมหาวิทยาลัย เพราะคนรุ่นใหม่ชื่นชอบพรรคอนาคตใหม่ ที่มีทัศนะใกล้เคียงกันที่สุด ไม่ใช่แค่ต่อต้านสืบทอดอำนาจ เลิกเกณฑ์ทหาร ยังเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการ สร้างการศึกษาที่มีคุณภาพ

นี่คือการตัดโอกาสที่คนรุ่นใหม่จะมีตัวแทนในสภา ในการช่วงชิงอำนาจตามระบอบ ถูกบังคับให้ลงถนน

แต่สังเกตไหมว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ พลังที่ร้อนแรงกลายเป็นเด็กมัธยม ซึ่งไม่เคยเลือกพรรคอนาคตใหม่ด้วยซ้ำ สะท้อนว่าปัญหาอำนาจกดทับ ทำให้เด็กมัธยมตื่นตัวอย่างร้อนแรง ไม่ว่าจะมีพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ก็ตาม

ฉะนั้นถ้ามองให้กว้าง เครือข่ายอำนาจควรตระหนักว่า ต่อให้ม็อบ 14 ตุลา “พ่ายแพ้” ทางหนึ่งทางใด เช่น ถูกจับถูกสลายถูกต้านคนไม่กล้าไปไม่สามารถบรรลุข้อเรียกร้องได้ ฯลฯ พลังคนรุ่นใหม่ก็ไม่หยุด

ถ้ามองให้ทะลุ ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน ที่มาจากธรรมชาติคนรุ่นใหม่ จะไม่รุมเร้าสร้างความขัดแย้งเพียงนี้ ถ้าโครงสร้างการเมือง ระบบการศึกษา การใช้อำนาจด้านต่าง ๆ ไม่กดทับสังคมขนาดนี้

คนรุ่นใหม่ก็รู้ดี ข้อเรียกร้องนี้ไม่มีทางบรรลุในเวลาอันสั้น จึงใช้คำว่า “ความฝัน” ถ้าปลดล็อกการเมืองก่อน แรงกดดันก็จะลดลง แล้วยังมีเวลาปรับตัวกัน

Back to top button