“ปลัดคลัง” คาด “สคร.” อยู่ระหว่างเช็กสัญญาสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีเขียว ก่อนให้ฝ่ายนโยบายเคาะ

“ปลัดกระทรวงการคลัง” คาด “สคร.” อยู่ระหว่างเช็กสัญญาสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีเขียว ก่อนให้ฝ่ายนโยบายเคาะ


นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะคู่สัญญากับ บริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC ต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต 38 ปี ในเงื่อนไขแลกหนี้ 1 แสนล้านบาท กับค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย แต่ล่าช้าเพราะติดขัดในขั้นตอน ต้องรอให้ รมว.คลัง คนใหม่เห็นชอบก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น ตนเพิ่งได้ยินเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) คงกำลังพิจารณาอยู่ ทุกอย่างมีขั้นตอน พิจารณาเสร็จแล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายที่จะตัดสินใจ

“คลังรับมาศึกษาดูอยู่ ต้องไปถาม สคร. เพราะมีหลาย ๆ ประเด็น ที่สคร.น่าจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ” นายกฤษฎา กล่าว

ขณะเดียวกัน เมื่อเวลา 10.00 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมาที่ สคร. เพื่อร้องเรียน ตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยคณะกรรมการคัดเลือกตาม มาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ส.ค.63 เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารประกวดราคาใหม่ (TOR) หลังจากที่มีการขายซองประกวดราคาไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติและส่อไปในทางที่มิชอบด้วยกฎหมาย

การเปลี่ยนแปลง TOR ภายหลังการขายซองประกวดราคาไปแล้ว ถือว่าเป็นสาระสำคัญ และไม่เคยมีการดำเนินการลักษณะเช่นนี้กับโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนมาก่อน ซึ่งปกติทั่วไปจะใช้วิธีการพิจารณาจะแยกซองเทคนิค หากผ่านตามเกณฑ์ จึงจะเปิดซองการเงิน โดยผู้ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดจะได้รับการคัดเลือก

แต่คราวนี้กลับคัดเลือกโดยใช้ข้อเสนอทางเทคนิคร่วมกับซองการเงิน ซึ่งจะเป็นช่องทางที่ส่อไปในทางไม่สุจริต ไม่เป็นธรรม หรืออาจเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบริษัทใดบริษัทหนึ่งหนึ่งเป็นการเฉพาะหรือไม่ เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกได้มากกว่าแบบเดิม ซึ่งจะทำให้ได้ผู้ชนะการประมูลไม่ใช่ผู้ที่ให้ผลตอบแทนต่อรัฐสูงสุดก็ได้

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลง TOR ใหม่หลังจากที่มีการขายซองประกวดราคาไปแล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นการขัดต่อมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อ 28 ม.ค.63 และยังขัดต่อการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ ตาม มาตรา 6(3) และ มาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 ประกอบกับข้อ 8(4) ของคณะกรรมการนโยบายร่วมทุนฯ อีกด้วย

“ดังนั้น เมื่อ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ใช้อำนาจเปลี่ยนแปลง TOR ซึ่งจะยังผลให้ไม่เป็นไปตามมติ ครม.และกฎหมายดังกล่าวแล้ว เมื่อเกิดการฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล หากแพ้คดีขึ้นมา เสียค่าโง่ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ” นายศรีสุวรรณระบุ

Back to top button