สัญญาณสามค่ายมือถือ Q3/63 กำไรยังไม่ฟื้น!

เนื่องจากการประกาศผลการดำเนินงานออกมาในแต่ละช่วงไตรมาส มักมีผลกับราคาหุ้นบนกระดาน “ออกมาดีราคาหุ้นตอบรับ แต่ออกมาแล้วไม่ดีราคาหุ้นก็ไม่ตอบรับ”


เส้นทางนักลงทุน

ก่อนถึงการประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปี 2563 ของหุ้นสามค่ายมือถือที่จะออกมาอย่างเป็นทางการนั้น! ทางผู้เขียนจึงขอสแกนข้อมูลจากบทวิเคราะห์นำมาเสนอแก่นักลงทุนให้รับรู้คร่าวๆ ก่อนคิดจะเข้าลงทุน

เนื่องจากการประกาศผลการดำเนินงานออกมาในแต่ละช่วงไตรมาส มักมีผลกับราคาหุ้นบนกระดาน “ออกมาดีราคาหุ้นตอบรับ แต่ออกมาแล้วไม่ดีราคาหุ้นก็ไม่ตอบรับ” ดังนั้นการสำรวจผลการดำเนินงานล่วงหน้ามาให้นักลงทุนได้พิจารณา ถือเป็นเรื่องดีสำหรับการตัดสินใจต่อการลงทุนในช่วงถัดไปในอนาคต

หลังจากหนึ่งในค่ายมือถืออย่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC มีการประกาศผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 3 ปี 2563 ออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว พบว่าผลการดำเนินงานต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์และตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

DTAC ประกาศกำไรปกติไตรมาส 3 ปี 2563 อยู่ที่ 1,435.66 ล้านบาท ลดลง 24% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 1,888.95 ล้านบาท และลดลง 21% จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,756.73 ล้านบาท โดยผลประกอบการต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 1,600 ล้านบาท และนักวิเคราะห์คาดที่ 1,590 ล้านบาท

สืบเนื่องจากรายได้จากการให้บริการไม่รวม IC 1.7% จากไตรมาสก่อน, แต่ลดลง 7.6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน หดตัวแรงกว่าคาด แม้ Net Add จะติดลบเพียง 1.1 แสนราย (ไตรมาส 2/2563 ติดลบกว่า 7 แสนราย) แต่ถูกกดดันจาก ARPU ที่หดตัวแรงจากผลกระทบของสภาพเศรษฐกิจรวมถึงการแข่งขันที่ยังสูง แม้จะมีมาตรการควบคุมต้นทุนโดยเฉพาะด้านค่าใช้จ่ายโครงข่าย แต่ชดเชยได้ไม่หมด ส่งผลให้ EBITDA Margin ในไตรมาสนี้ขยับลงเป็น 40.7% จาก 42.3% และ 39.4% ในไตรมาส 2 ปี 2563 และไตรมาส 3 ปี 2562 ตามลำดับ

ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปี 2563 ออกมาหดตัวแล้ว อย่างไรก็ดีมีการประเมินกำไรไตรมาส 4 ปี 2563 คาดยังมีความเสี่ยง พร้อมกับคาดว่ากำไรปกติปี 2563 จะทำได้ราว 5.5 พันล้านบาท

นอกจากนี้ ประเมินผลประกอบการปี 2564 คาดว่าจะยังหดตัวลงต่อเนื่องเหลือ 4.44 พันล้านบาท จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) และการทยอยลงทุน 5G ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่อย ๆ ขยับเพิ่มขึ้น

ส่วนอีกสองค่ายมือถือที่ยังไม่ประกาศงบฯ สำหรับผลการสำรวจจากบทวิเคราะห์แต่ละสำนักที่ออกบทวิเคราะห์มาก่อนหน้านี้ พบว่ามีการวิเคราะห์กันว่าทั้งสองค่ายมือถือ อย่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ประเมินว่าจะประกาศผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 3 ปี 2563 กำไรสุทธิยังคงออกมาไม่ดี! โดยลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า และลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน

รายละเอียดจากบทวิเคราะห์มีการประเมินดังต่อไปนี้

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC โดยมีการประเมินว่าในไตรมาส 3 ปี 2563 จะยังคงมีผลการดำเนินงานหลักขาดทุน 840 ล้านบาท ซึ่งจากในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 ที่เคยขาดทุนเพียง 543 ล้านบาท แต่ทรงตัวจากไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ขาดทุน 846 ล้านบาท

ถึงแม้ว่ารายได้ในไตรมาส 3 ปี 2563 จะเพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน เป็น 3.48 หมื่นล้านบาท เนื่องจากรายได้จากทุก ๆ กลุ่มธุรกิจดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ทั้งธุรกิจมือถือ (True Move H) ธุรกิจบรอดแบนด์ (True Online) และธุรกิจทีวี (True Vision)

แต่ทว่าผลประกอบการหลักถูกกดดันจาก 1) ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสก่อน จากการขยายโครงข่าย และต้นทุนค่าคอนเทนต์รายการของ True vision ที่เพิ่มขึ้น 2) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อนและเมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อน ผลประกอบการหลักถูกกดดันจากรายได้ที่ลดลง 5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นถึง 93% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามีการคาดว่า TRUE จะขาดทุนจากธุรกิจหลักในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 ก็ตาม แต่ทางนักวิเคราะห์ยังคงคาดว่า TRUE จะยังมีกำไรสุทธิ 630 ล้านบาท จะลดลง 50% จากไตรมาสก่อน และลดลง 78% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เมื่อเทียบกับในไตรมาส 2 ปี 2563 และไตรมาส 3 ปี 2562 ที่มีกำไรพิเศษประมาณ 2.1 พันล้านบาท และ 3.4 พันล้านบาทตามลำดับ เนื่องจากจะมีกำไรพิเศษจากการขายหน่วยลงทุนบางส่วนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล

ถึงกระนั้นแม้จะมีการประเมินผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปี 2563 หดตัว แต่ยังเชื่อว่าผลประกอบการจากธุรกิจหลักจะดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 จากปัจจัยฤดูกาล โดยคาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 4 ปี 2563 จะได้แรงหนุนจากรายได้จากการให้บริการที่เพิ่มขึ้นตามการใช้งานมือถือที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ยอดขายเครื่องและมาร์จิ้นจากการขายเครื่องจะได้อานิสงส์จากการออกวางจำหน่ายของไอโฟน 12 ซึ่งตั้งเป้าจะเปิดตัวในปลายเดือนตุลาคม 2563

ดังนั้นจึงยังคงประมาณการผลขาดทุนจากธุรกิจหลักปี 2563 เอาไว้ที่ 2.9 พันล้านบาท และคาดว่าผลขาดทุนจะลดลงในปี 2564 เหลือ 1.1 พันล้านบาท ตามฐานรายได้ที่คาดจะเพิ่มขึ้น

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC โดยมีการประเมินว่าในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 ทางกำไรสุทธิจะหดตัวอยู่ที่ 6.45 พันล้านบาท ลดลง 4% จากไตรมาสก่อน และลดลง 24% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกำลังซื้อชะลอลง และรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวหดตัว ทำให้รายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง 7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่ทรงตัวจากไตรมาสก่อน

อีกทั้งกำไรหลักที่มีแนวโน้มลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน สะท้อนผลกระทบทางลบจากโควิด-19 และฐานกำไรที่สูงมากในไตรมาส 3 ปี 2563

อย่างไรก็ดี มีการประเมินว่า ADVANC ผ่านจุดต่ำสุดช่วงโควิด-19 ในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปีนี้ไปแล้ว โดยในเดือน ก.ค. ฟื้นกลับมาหลังปิดเมือง แม้ว่าในเดือน ส.ค. ความต้องการกลับชะลอตัวลงไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการใช้งานจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในไตรมาส 4 ปี 2563

พร้อมกันนี้ จากการเปิดให้บริการ 5G น่าจะเห็นการทำตลาดเชิงรุกในไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่ง ADVANC ได้เปรียบจากการมีคลื่นความถี่มากที่สุด น่าจะให้บริการ 5G ได้ดีกว่าคู่แข่ง โดยเริ่มต้นจากตลาดโพสต์เพด หรือลูกค้ารายเดือน จากนั้นในระยะกลางถึงระยะยาวน่าจะเริ่มให้บริการกับกลุ่มอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ มีการประเมินทั้งปี 2563 คาดว่าผลประกอบการอ่อนแอ โดยประเมินกำไรหลักจะอยู่ที่ราว 27,333 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ 29,887 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการบริการเติบโตต่ำกว่า 0.5% มาที่ 1.8 แสนล้านบาท และคาดว่าในปี 2564 กำไรหลักน่าจะฟื้นตัวขึ้นมาเป็น 28,160 ล้านบาท

ข้อมูลที่นำเสนอเป็นเพียงการประเมินจากบทวิเคราะห์ต่อผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 ของหุ้นค่ายมือถือ ปรากฏว่าสถานการณ์ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ของทั้งสามค่ายสัญญาณยังไม่ฟื้น!!!

Back to top button