พาราสาวะถี

คดีความที่จะตามมาของม็อบเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้นคงมีอีกเพียบ แต่ปัญหาใหญ่คือหนนี้ไม่มีแกนนำหลัก ฝ่ายความมั่นคงจะเลือกจิ้มดำเนินคดีกับใคร ขณะที่อีกฝ่ายซึ่งออกมาเคลื่อนไหวไม่ต้องถามถึงเรื่องคดีความ แต่คำถามที่ตามมาต่อการขยับของพวกเดียวกันแต่คนละกลุ่มคือ ข้อเสนอให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจชัตดาวน์ประเทศ และให้ผบ.ทบ.ทำการรัฐประหารนั้น ถามว่ามีความผิดหรือไม่ ถ้ายึดตามกฎหมายถือว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองอย่างชัดเจน


อรชุน

คดีความที่จะตามมาของม็อบเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้นคงมีอีกเพียบ แต่ปัญหาใหญ่คือหนนี้ไม่มีแกนนำหลัก ฝ่ายความมั่นคงจะเลือกจิ้มดำเนินคดีกับใคร ขณะที่อีกฝ่ายซึ่งออกมาเคลื่อนไหวไม่ต้องถามถึงเรื่องคดีความ แต่คำถามที่ตามมาต่อการขยับของพวกเดียวกันแต่คนละกลุ่มคือ ข้อเสนอให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจชัตดาวน์ประเทศ และให้ผบ.ทบ.ทำการรัฐประหารนั้น ถามว่ามีความผิดหรือไม่ ถ้ายึดตามกฎหมายถือว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองอย่างชัดเจน

นี่เป็นความสุดโต่งในแง่ทัศนคติของฝ่ายที่อุ้มสมเผด็จการสืบทอดอำนาจ อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ถ้ามีเพียงข้อเสนอให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกและแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ ทุกอย่างคงจะดำเนินไปในอีกแบบ แต่พอมีข้อเสนอที่สามว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์พ่วงมาด้วย จึงกลายเป็นประเด็นที่ทำให้ฝ่ายสนับสนุนขบวนการสืบทอดอำนาจอยู่แล้ว หาเหตุที่จะออกมาเคลื่อนไหวได้ โดยทำให้สองเรื่องกลายเป็นเรื่องเดียวกันซึ่งรู้กันอยู่แก่ใจว่าไม่สมควร

สถานการณ์ที่เป็นไป มีบทความล่าสุดของ เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ นำเสนอไว้อย่างน่าสนใจ ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในเวลานี้อยู่ที่ประเด็นการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งฝ่ายเรียกร้องมองว่ามีปัญหานี้ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าไม่มี ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่อาจนำไปสู่การแตกหักในสังคมไทย ที่เห็นได้ชัดคือ การแบ่งฝ่ายในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังที่สื่อต่างประเทศเรียกฝ่ายหนึ่งว่า pro-democracy เรียกฝ่ายหนึ่งว่า pro-military หรือบางสื่อเรียก ultra-royalist

ยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายรัฐใช้นั้นเป็นยุทธศาสตร์โลกอย่างหนึ่งในยุคสงครามเย็นชื่อ ยุทธศาสตร์การตอบโต้ หรือ countervailing strategy ซึ่งประกอบด้วยยุทธศาสตร์ย่อย 2 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การลงโทษ หรือ punitive strategy และ ยุทธศาสตร์การปฏิเสธ หรือ denial strategy ตามทฤษฎีการยับยั้งการโจมตีจากฝ่ายตรงกันข้าม หรือ deterrence theory ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า ยุทธศาสตร์นี้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเช่นกัน

หลักของยุทธศาสตร์การตอบโต้ มาจากการต่อสู้ในสงครามนิวเคลียร์ พื้นฐานของความคิดคือ หากฝ่ายหนึ่งยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ออกมา อีกฝ่ายหนึ่งจะยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้ และสื่อว่าขีปนาวุธลูกหลังนี้มีอำนาจทำลายล้างมากกว่าลูกแรกของฝ่ายแรกอย่างมหาศาล เพื่อทำให้ฝ่ายแรกกลัวการสูญเสียด้วยกัน เมื่อฝ่ายแรกกลัวขีปนาวุธนิวเคลียร์ลูกที่สอง ก็ย่อมไม่กล้ายิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ลูกแรกออกมา ดังนั้น การสร้างม็อบอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมาตอบโต้ตามยุทธศาสตร์นี้ เป็นการประกาศว่า ฝ่ายข้าพเจ้าก็มีกำลังไม่แพ้กัน และหรือมากกว่าท่านหลายเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม การสร้างม็อบของอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมาตอบโต้นั้น มีผลทางลบตามมา และสะท้อนถึงความคิดบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการเจรจา ผลที่เกิดจากการสร้างม็อบมาตอบโต้ ได้แก่ การเบียดขับหรือผลักไสอีกฝ่ายหนึ่งออกไปจากพื้นที่ของการเจรจา ดังที่ภาษารัฐศาสตร์ เรียกว่า social exclusion ซึ่งเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำหลักทางการเมืองโลกในปัจจุบัน อีกทั้งยังสะท้อนถึงความคิดลึก ๆ ทำนองว่า “ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยกท่านขึ้นมาเป็นคู่เจรจาได้ ข้าพเจ้ายังขอยืนยันในจุดที่ข้าพเจ้าอยู่ ณ เวลานี้”

นักวิเคราะห์ที่มองโลกในแง่ดี มองว่า การสร้างม็อบตอบโต้ขึ้นมานั้น ก็เพื่อตบอีกฝ่ายหนึ่งให้เข้ากรอบและบีบให้ฝ่ายนั้นลดข้อเรียกร้องที่เป็นจุดสูงสุดลงมาอยู่ในจุดที่เป็นไปได้ เช่น ยกประเด็นปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ออกไป เหลือเพียงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าในมุมของเรืองวิทย์ซึ่งก็ไม่ต่างจากคนจำนวนไม่น้อยคือ หากผลจบลงตามนั้น ย่อมเป็นผลดีของประเทศและทุกฝ่ายอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถ้าไม่ใช่แล้วจะเป็นอย่างไร

หากอีกฝ่ายยังยืนกรานในข้อเรียกร้องข้อสามของตัวเอง การสร้างม็อบตอบโต้ดังกล่าว น่าจะยิ่งทำให้อีกฝ่ายเพิ่มกำลังตอบโต้ เพื่อให้แรงเหวี่ยงทางการเมืองหันเข้าหาตัวเอง หรือ gain momentum ก็จะยิ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายเพิ่มพลังม็อบและเผชิญหน้ากัน ไม่ต่างจากการเพิ่มพลังอาวุธนิวเคลียร์ในเวทีการเมืองระดับโลก เมื่อไปถึงจุดที่ไม่มีใครกลัวกัน การเมืองไทยจึงเหลือทางออกเพียงทางเดียวคือ การปฏิวัติ แต่มาถึงนาทีนี้ที่ผบ.ทบ.ประกาศชัดว่า รัฐประหารคือติดลบ แล้วจะจบกันแบบไหน

เมื่อไม่อยากให้เกิดการรัฐประหารที่จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติมหาศาล มันจึงเหลือทางเดินคือหันกลับมาทบทวนสมการของการชุมนุมซึ่งพบว่า การชุมนุมเป็นสมการของความกลัวกับความต้องการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่รัฐไทยต้องหันกลับมาดูว่าผู้ชุมนุมต้องการอะไร และรัฐบาลจะตอบสนองได้อย่างไร แต่รัฐไทยในปัจจุบันเป็นรัฐที่ยึดระบบราชการเป็นหลัก ซึ่งมีมุมมองที่แคบ และไม่สนองตอบต่อความต้องการของประชาชน

การแสวงหาทางออกของรัฐไทยจึงต้องสลัดตัวเองออกจากกรอบความคิดของรัฐที่ยึดระบบราชการเป็นหลักก่อน อาจต้องถึงขั้นเอาเทคโนแครตออกไปก่อน เพราะเทคโนแครตจะพูดถึงแต่ข้อจำกัดของการแก้ไขปัญหา เสร็จแล้วรัฐบาลก็หันมารับฟังเด็ก ๆ ดังตัวอย่างที่นักข่าวถามว่า “หนูอยากได้อะไร” เด็กตอบว่า “อยากให้รัฐบาลเห็นหัวคน” แน่นอนว่า มาจนถึงนาทีนี้ยังมองไม่เห็นท่าทีตรงนั้นของฝ่ายกุมอำนาจ มิหนำซ้ำ ยังเดินเกมด้วยเล่ห์เหลี่ยมและแสดงออกถึงความไม่จริงใจอย่างชัดเจน

บทสรุปของเรืองวิทย์ก็คือ สังคมไทยต้องช่วยกันหาทางลดความเป็น ultra-royalist ลงก่อนแล้วมองปัญหาตามความเป็นจริง ประกอบกับรัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์ เช่น รู้จักเตรียมการและหาวิธีแก้ไขไว้ล่วงหน้า เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน สังคมจะตัดสินใจเอง และเมื่อถึงวันนั้นรัฐบาลและรัฐไทยก็น่าจะได้ใจคนกลับคืนมา ต่อจากนั้น ก็ค่อยปฏิรูปด้านต่าง ๆ อย่างจริงใจ โดยเน้นที่ผลมากกว่าแผน โดยมีกระบวนการเห็นหัวคน เป็นตัวหล่อเลี้ยงไปตลอดเส้นทาง ซึ่งเชื่อว่าเป็นไปได้ยากกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจคนนี้

Back to top button