รัฐสภา ลงมติรับหลักการแก้ รธน. ร่าง 1-2 เปิดทางตั้ง “ส.ส.ร.” ฉบับไอลอว์ถูกปัดตก

รัฐสภา ลงมติรับหลักการแก้ รธน. ร่าง 1-2 เปิดทางตั้ง “ส.ส.ร.” ฉบับไอลอว์ถูกปัดตก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงมติของสมาชิกรัฐสภาในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ในวันนี้ (18 พ.ย.63) ที่ประชุมได้เริ่มลงมติทั้ง 7 ร่าง ซึ่งประกอบด้วย

1.ร่างแก้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

2.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 (นายวิรัช รัตนเศรษฐ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

3.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกมาตรา 270 และมาตรา 271 (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

4.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 259 และยกเลิกมาตรา 272 (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

5.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกมาตรา 279 (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

6.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 91 มาตรา 92 และมาตรา 94 และยกเลิกมาตรา 93 มาตรา 101 (4) และมาตรา 105 วรรคสาม (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

7.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …

(นายจอน อึ๊งภากรณ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 98,041 คน หรือ ฉบับไอลอว์เป็นผู้เสนอ)

โดยเลขาธิการรัฐสภา ได้เริ่มขานชื่อสมาชิกรัฐสภาเรียงลำดับตามตัวอักษร ก่อนที่สมาชิกแต่ละคนจะขานมติว่า รับ-ไม่รับ-งดออกเสียง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละร่าง ตั้งแต่ร่างที่ 1-7 ใช้เวลาลงคะแนนเกือบ 4 ชั่วโมง

ก่อนที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะประกาศผลการนับคะแนนในการลงมติของสมาชิกรัฐสภาในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ซึ่งปรากฏว่าที่ประชุมฯ มีมติรับหลักการวาระแรกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ที่เสนอโดยฝ่ายค้าน และฉบับที่ 2 ที่เสนอโดยรัฐบาล ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 3, ฉบับที่ 4, ฉบับที่ 5, ฉบับที่ 6 ของฝ่ายค้าน และ ฉบับที่ 7 ของภาคประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่กลุ่มราษฎรเรียกร้อง ถูกปัดตกไปทั้งหมด

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล รับหลักการทั้งญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของรัฐบาล และ ของพรรคฝ่ายค้าน ส่วนญัตติอื่นๆ ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยเกือบทั้งหมดลงมติ งดออกเสียง ขณะที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้ประกาศลงมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ซึ่งถือว่าเป็นการไม่ทำตามมติของวิปรัฐบาล

ส่วน ส.ว.ที่รับหลักการร่างไอลอว์ ทั้งหมดเป็น ส.ส.จาก 6 พรรคฝ่ายค้าน แต่มี ส.ว.ที่ลงมติรับหลักการเช่นกัน 3 คน คือ นายนวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์  นายพีระศักดิ์ พอจิต และ พิศาล มาณวพัฒน์

นอกจากนี้ ที่ประชุมรัฐสภามีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จำนวน 45 คน แบ่งเป็นสัดส่วนของ ส.ว. 15 คน และ ส.ส.30 คน ซึ่งในส่วนของ ส.ส. เป็นของพรรคเพื่อไทย 8 คน, พรรคพลังประชารัฐ 8 คน, พรรคภูมิใจไทย 4 คน, พรรคก้าวไกล 3 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน, พรรคเสรีรวมไทย 1 คน, พรรคประชาชาติ 1 คน และพรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน

คณะกรรมาธิการฯ จะใช้เวลาในการแปรญัตติ 15 วัน โดยจะเริ่มประชุมนัดแรกในวันที่ 24 พ.ย. และจะใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ของรัฐบาลเป็นหลักในการพิจารณา

ขณะที่เพจเยาวชนปลดแอก ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวร่วมการชุมนุมของกลุ่มราษฎร โพสต์ข้อความว่า เป็นที่แน่นอนแล้วว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากภาคประชาชนที่มีคนเข้าชื่อกว่า 1 แสนรายชื่อได้ถูกตีตกโดยรัฐสภา เหตุการณ์นี้แสดงให้เราเห็นกันอย่างชัดเจนแล้วว่า ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส่วนใหญ่) และสมาชิกวุฒิสภาต่างทำงานเพื่อค้ำจุนอำนาจของเผด็จการศักดินาและเมินเฉยต่อข้อเรียกร้องของประชาชนอย่างสิ้นเชิง

อีกทั้งยังปิดกั้นไม่ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 หมวด 2 ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่ห้ามไม่ให้แก้ไขหมวดใดหมวดหนึ่ง หรือ มาตราใดมาตราหนึ่งเป็นการเฉพาะ

ในเมื่อเป็นเช่นนี้สามารถทำนายอนาคตได้เลยว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะร่างขึ้นนี้ไม่ได้สะท้อนเจตจำนงของประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง เพราะวาระที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกปิดประตูไม่ให้ถกเถียงในชั้น ส.ส.ร

Back to top button