CKP ความมุ่งมั่นปิดทองหลังพระ

เป็นที่เข้าใจกันดีว่า  บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP เป็นบริษัทใต้ร่มธงของกลุ่ม ช.การช่าง ทำภารกิจที่ง่าย ๆ แต่ชัดเจนคือ ลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้า เคียงคู่กับบริษัทในกลุ่มนี้ อีกแห่งคือ TTW ที่ทำสาธารณูปโภคด้านน้ำประปา


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

เป็นที่เข้าใจกันดีว่า  บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP เป็นบริษัทใต้ร่มธงของกลุ่ม ช.การช่าง ทำภารกิจที่ง่าย ๆ แต่ชัดเจนคือ ลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้า เคียงคู่กับบริษัทในกลุ่มนี้ อีกแห่งคือ TTW ที่ทำสาธารณูปโภคด้านน้ำประปา

เพียงแต่ที่คนทั่วไปไม่ค่อยล่วงรู้คือบริษัทนี้เป็นแนวหน้าในการแสวงหาพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านมาจำหน่ายในประเทศที่มีความต้องการไม่สิ้นสุด

ภารกิจดังกล่าวไม่ใช่งานที่ทำง่าย ๆ เลย เพราะดังที่ทราบกันดีว่า ชาติเพื่อนบ้านของเรานั้นมีความยากจน และมีกติกาในการทำธุรกรรมที่ซับซ้อนค่อนข้างมาก

ปัจจุบัน CKP ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ 3 ประเภทจำนวน 13 แห่ง รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่ 2,167 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่งภายใต้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 46% (ถือผ่าน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 37.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ และยังมี โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 2 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 แห่ง

ครึ่งแรกของปีนี้ CKP เผชิญกับการผันแปรของธุรกิจชนิดทำเอา ขาอ่อน ไปเช่นกัน เพราะขาดทุนต่อเนื่องกันในไตรมาสสอง จากผลพวงของขาดทุนรายได้ลดลงจากปริมาณน้ำในเขื่อน สปป.ลาวที่ใช้ผลิตไฟฟ้าลดลงในช่วงฤดูแล้ง (ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับโควิด-19) แต่ในไตรมาสสามกลับทำผลงานดีเกินคาด ทำให้กลับมาทำกำไรสวยงาม พร้อมกับทำให้งวด 9 เดือน มีกำไรสุทธิเป็นบวกอีกครั้ง แม้จะลดลงไปค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ก็ถือได้ว่าพ้นจุดต่ำสุดมาได้เรียบร้อย

เมื่อพ้นจุดต่ำสุดมาได้ ผู้บริหารของบริษัทก็เดินหน้าต่อทันที ด้วยการออกหุ้นกู้ล็อตใหม่เสริมสภาพคล่องเพื่อการลงทุนต่อทันที ไม่มีรีรอ

ล่าสุด นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ ออกมาระบุถึงความสำเร็จของการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ ออกและเสนอขายหุ้นกู้มูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท ชนิดไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ให้แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ จำนวน 3 ชุด แบ่งเป็นหุ้นกู้อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.31% ต่อปี จำนวน 1,000 ล้านบาท หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.62% ต่อปี จำนวน 1,500 ล้านบาท และหุ้นกู้อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.76% จำนวน 1,500 ล้านบาท ซึ่งหุ้นกู้ทั้ง 3 ชุดได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในอันดับ “A- แนวโน้มคงที่” จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด

การก่อหนี้ครั้งใหม่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการก่อหนี้เดิมหลังจากที่ตัวเลขหนี้หุ้นกู้ของบริษัท ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 มียอดหุ้นกู้ที่ออกและเสนอขาย ทั้งสิ้น 10,500 ล้านบาท และยังมีวงเงินที่ได้รับการอนุมัติให้สามารถออกและเสนอขายหุ้นกู้คงเหลืออีก 9,500 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

ผลของการก่อหนี้ที่เกิดขึ้น ทำให้ CKP มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ประมาณ 0.74 เท่า ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินของบริษัทฯ

เป็นที่ทราบกันดีว่า CKP กำลังมีแผนก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำแม่โขง เหนือเขื่อนเดิมที่ไซยะบุรีแห่งหนึ่ง ซึ่งมีโครงการขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งไม่แพ้กัน โดยจะได้รับสัมปทานหลังจากสร้างเขื่อนพลังน้ำผลิตไฟฟ้า ตามสัญญา BTO กับรัฐบาลสปป.ลาว ซึ่งเป็นการสร้างหลักประกันว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยในระยะยาว  นอกเหนือการสร้างกำไรเข้าบริษัทในระยะยาว

แม้ในระยะเฉพาะหน้า ราคาหุ้นใกล้ระดับ 5.00 บาทของ CKP จะถูกมองว่าแพงเกินไปจากบรรดานักวิเคราะห์ ซึ่งส่วนใหญ่ให้ราคาเป้าหมายไม่เกิน 4.80 บาท แต่ผู้บริหารก็เชื่อมั่นและไม่หวั่นไปกับการประเมินดังกล่าว

จากประสบการณ์ทำงานในสปป.ลาวนั้น บริษัทที่ได้รับสัมปทานจะต้องช่วยจัดหาเงินกู้ในการนำมาร่วมลงทุนให้กับสปป.ลาวด้วย เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศดังกล่าวบางส่วน แม้จะไม่ได้ปล่อยเงินกู้ให้เอง แต่ก็ต้องทำเสมือนหนึ่งเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้กับ สปป.ลาวโดยปริยาย

เงื่อนไข จัดหาเงินกู้ให้ นั้นถือว่าแม้จะมีต้นทุนก็ยอมรับได้ ดีกว่าบางชาติที่ต้องการถือ “หุ้นลม” ในบริษัทร่วมทุนอย่างชุบมือเปิบไม่ต้องลงทุนแบกรับความเสี่ยงอะไรเลย

ผลประกอบการไตรมาสสาม ของ CKP ที่สามารถพลิกกำไรกลับมาสวยงามนั้น เกิดจากการกลับมามีรายได้รวม 2,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 6.5% และคิดเป็นกำไรสุทธิที่เป็นของ CKP จำนวน 831.3 ล้านบาท โดยที่รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากน้ำงึม 2 มีปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 405.2 ล้านหน่วยกว่าปีก่อน 35.4% ส่วนปริมาณน้ำที่ไหลเข้าโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 เพิ่มจาก 2,220 ล้านลบ.ม. ในปี 62 เป็น 2,386 ล้านลบ.ม. เพิ่มขึ้น 7.5%

ในส่วนของกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรีที่มีการดำเนินงานเต็มไตรมาส ทำให้มีปริมาณการขายไฟฟ้ารวม 2,314 ล้านหน่วย คิดเป็นรายได้ 4,483 ล้านบาท โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าเฉลี่ย 4,200 ล้าน ลบ.ม. ต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าเฉลี่ย 2,994 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที สูงกว่าค่าเฉลี่ยของปีก่อนประมาณ 40%

ขณะเดียวกันอื่น ๆ เช่นโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น ที่ 1 (BIC-1) และ 2 (BIC-2) ยังคงเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตามปกติ เนื่องจากยังไม่มีแผนหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงใหญ่ในปีนี้ส่วนโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 แห่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามเป้าเต็มกำลังการผลิตเช่นกัน

ส่วนงวด 9 เดือนของปีนี้ มีรายได้รวม 5,724 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 6,731 ล้านบาท โดยลดลง 1,007 ล้านบาท หรือ 15% สาเหตุหลักมาจากการประกาศจ่ายไฟฟ้าด้วยความระมัดระวังของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ทำให้ในครึ่งปีแรกของปี 2563 ขายไฟฟ้าได้น้อยกว่าครึ่งปีแรกของปี 2562 บวกกับค่าก๊าซของ BIC ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7% แต่บริษัทยังสามารถทำกำไรสุทธิที่เป็นของบริษัทจำนวน 397 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิที่เป็นของบริษัท 257 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 140 ล้านบาท คิดเป็น 55% สาเหตุมาจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าไซยะบุรีที่ 231 ล้านบาท โดยไซยะบุรีมีรายได้จากการขายไฟฟ้าช่วง 9 เดือนของปี 2563 รวม 8,942 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณการขายไฟฟ้า 4,654.40 ล้านหน่วย

แม้จะเห็นได้ชัดว่ารายได้และกำไรหลักของ CKP ในสองปีมานี้เคลื่อนย้ายจากการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมัน มาเป็นว่าต้องขึ้นกับปริมาณพายุและฝนตกที่ส่งผลต่อปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และลำน้ำโขง อยู่ในระดับที่เพียงพอและเป็นที่น่าพอใจต่อการขายไฟฟ้าหรือไม่เป็นสำคัญ แต่ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ตามฤดูกาลดังกล่าว สามารถคาดเดาได้ในภาพรวมไม่ยากนัก

ดังนั้นประเด็นการบริหารความเสี่ยงทางการเงินและรักษาสภาพคล่องของทุนหมุนเวียนของ CKP ของทีมงานผู้บริหาร ซึ่งที่ผ่านมา ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี ดังจะเห็นได้จากการที่ CKP มีอัตราส่วนทางการเงินที่ดี มีค่า D/E ที่ต่ำและมีสมดุล

ปัญหาของ CKP ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันจึงอยู่ที่ความสามารถของการทำกำไร ที่มีอัตรากำไรสุทธิไม่สูงมากนัก และมีกำไรสะสมค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับรายได้ และส่วนผู้ถือหุ้นส่วนค่อนข้างสูง

นักลงทุนที่ถือหุ้นใน CKP จะต้องละทิ้งแนวคิดแบบเก็งกำไรระยะสั้น แต่ต้องดูจากปัจจัยพื้นฐานเป็นสำคัญ เพราะธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้น ถือเป็นธุรกิจที่ใช้ทุนเข้มข้น (capital-intensive) ที่ขึ้นกับการบริหารความเสี่ยงทางการเงินเพื่อให้เติบโตต่อเนื่อง

ตราบใดที่ผู้บริหารยังเติบโตต่อเนื่องและไม่ขาดทุน เมื่อปิดงบงวดสิ้นปี (ส่วนจะทำกำไรมากหรือน้อยไม่ใช่ประเด็นสำคัญ) ก็ถือว่า ยังคงน่าลงทุนต่อไป

Back to top button