แบงก์ยิ้มร่า ‘เกณฑ์ตราสาร AT1-T2 ระดมทุนง่ายขึ้น’

กลุ่มธนาคารพาณิชย์จะมีความคล่องตัวมากขึ้น กรณีมีการระดมทุนเงินกองทุนที่ทำได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องขออนุญาตจากทาง ธปท. เพราะปัจจุบันแต่ละธนาคารมี BIS Ratio มากกว่าเกณฑ์อยู่แล้ว


เส้นทางนักลงทุน

เนื่องด้วยกรณีที่ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับเกณฑ์คุณสมบัติตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ เพื่อเสริมสร้างระดับเงินกองทุนให้สูงขึ้นในการรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ถึงแม้ว่าระดับเงินกองทุนของระบบธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับสูง โดย ณ กันยายน 2563 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ร้อยละ 19.43

หลักเกณฑ์คุณสมบัติที่ปรับใหม่ให้กลับมาเทียบเท่ากับหลักเกณฑ์สากล ได้แก่

1) ตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือ Additional Tier 1 (AT1) ซึ่งเป็นตราสารทางการเงินที่ไม่มีกำหนดเวลาการชำระคืน ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจ่ายผลตอบแทนได้โดยไม่ต้องขออนุญาต หากเงินกองทุนรวม (BIS Ratio) ของธนาคารพาณิชย์สูงกว่าที่ธปท.กำหนด

2) ตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 หรือ Tier 2 (T2) ซึ่งเป็นตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีกำหนดเวลาการชำระคืนอย่างน้อย 5 ปี ให้ยกเลิกข้อกำหนดสิทธิ ให้ธนาคารพาณิชย์เลื่อนเวลาการชำระดอกเบี้ยได้

ถือได้ว่าประโยชน์ของการปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้น และทำให้ระดับเงินกองทุนและสภาพคล่องสูงขึ้น ช่วยเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจและประชาชน พร้อมเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ส่วนทางด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) มีมุมมองเป็นบวกต่อการปรับเกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น

ในการปรับเกณฑ์ตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 เรื่อง AT1 นั้น จะส่งผลให้กลุ่มธนาคารจะมีการออก AT1 เพื่อการระดมทุนมากขึ้น เพราะเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดเดิม คือ ถ้าธนาคารมีผลขาดทุนหรือมีผลขาดทุนสะสมจะไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ถือหุ้น AT1 ได้เลย แต่เกณฑ์ใหม่ให้พิจารณาเพียงระดับของ BIS Ratio ถ้ามากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธปท.กำหนดที่มากกว่า 12% ปัจจุบันแต่ละธนาคารมี BIS Ratio มากกว่าเกณฑ์อยู่แล้ว โดยค่าเฉลี่ยของ BIS Ratio ของกลุ่มฯ อยู่ที่ 19.4% และอาจส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินในการออก AT1 มีแนวโน้มลดลงได้ด้วย พร้อมคาดว่าหลังจากนี้จะเห็นธนาคารมีการออกหุ้นกู้ประเภทนี้เพิ่มมากขึ้นได้

ทั้งนี้ AT1 มีลักษณะคล้าย perpetual bond โดยธนาคารที่เคยออก AT1 ไปแล้วคือ KBANK มูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 1.6 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5.275% เมื่อเดือน ต.ค. 2563, BBL มูลค่า 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 2.4 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% เมื่อเดือน ก.ย. 2563 และ TMB มูลค่า 450 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 2.4 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4.9% เมื่อเดือน ธ.ค. 2562

ขณะที่การปรับเกณฑ์ทางตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 เรื่อง (T2) เรื่องการให้เลื่อนเวลาในการชำระดอกเบี้ยออกไปนั้น โดยมองว่าเป็นเพียงการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล ซึ่งไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญ

ผลต่อมายังคงให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธนาคารมากกว่าตลาด โดยปัจจุบัน Valuation เทรดที่ระดับเพียง 0.65 เท่า เทียบเท่าจากจุดต่ำสุดที่ 0.40 เท่า ขณะที่มี upside เพิ่มจากสำรองฯ ที่อาจลดลงได้หากเศรษฐกิจฟื้นกลับมาได้เร็ว

แล้วหากมาไล่ราคาหุ้นบนกระดานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หลังจากทางแบงก์ชาติประกาศได้ปรับเกณฑ์คุณสมบัติตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ที่สามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้นออกมาเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2563 นั้นพบว่าราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 10 ธนาคาร ได้แก่ KBANK, SCB, BBL, KTB, TMB, KKP, TISCO, BAY, LHFG และ CIMBT พบว่าราคาหุ้นต่างวิ่งตอบรับกันทั่วหน้า

อีกทั้งบางธนาคารราคาหุ้นบนกระดานยังคงวิ่งต่อเนื่องจนมาถึงวันที่ 4 ธ.ค. 2563 โดยไล่ที่หุ้น KBANK ราคาหุ้นขึ้นปิดที่ระดับ 116.50 บาท บวกไป 1 บาท หรือขึ้นไป 0.87% มูลค่าการซื้อขาย 2,736.10 ล้านบาท

ตามมาด้วย KTB ราคาหุ้นขึ้นปิดที่ระดับ 11.30 บาท บวกไป 0.10 บาท หรือขึ้นไป 0.89% มูลค่าการซื้อขาย 409.92 ล้านบาท , TMB ราคาหุ้นขึ้นปิดที่ระดับ 1.16 บาท บวกไป 0.04 บาท หรือขึ้นไป 3.57% มูลค่าการซื้อขาย 2,091.62 ล้านบาท, KKP ราคาหุ้นขึ้นปิดที่ระดับ 50.25 บาท บวกไป 1 บาท หรือขึ้นไป 2.03% มูลค่าการซื้อขาย 438.67 ล้านบาท,

TISCO ราคาหุ้นขึ้นปิดที่ระดับ 86.50 บาท บวกไป 3 บาท หรือขึ้นไป 3.59% มูลค่าการซื้อขาย 1,201.29 ล้านบาท, BAY ราคาหุ้นขึ้นปิดที่ระดับ 25.50 บาท บวกไป 0.25 บาท หรือขึ้นไป 0.99% มูลค่าการซื้อขาย 16.98 ล้านบาท, CIMBT ราคาหุ้นขึ้นปิดที่ระดับ 0.61 บาท บวกไป 0.02 บาท หรือขึ้นไป 3.39% มูลค่าการซื้อขาย 6.87 ล้านบาท

ขณะที่ทาง SCB และ BBL มีการย่อตัวลงเล็กน้อย ส่วน LHFG ราคาไม่มีการเปลี่ยนแปลง

สุดท้ายจากภาพดังกล่าวทาง บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า คงชอบหุ้นในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่มากกว่าธนาคารขนาดเล็ก เพราะภาพเศรษฐกิจที่กลับมาได้เร็วในปี 2564

สำหรับหุ้นที่ยังคงเลือก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL โดยแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมาย 150 บาท เป็น Top pick จาก 1) ความแข็งแกร่งด้านงบดุล 2) มีความเสี่ยงต่ำและมีความต้านทานต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวได้ดีจาก coverage ratio ที่สูงที่สุดในกลุ่มที่ระดับ 171% ทำให้มี downside ต่ำจากการสำรองฯ ที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นในปีนี้เหมือนธนาคารอื่น ๆ

อีกตัวเลือก ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK โดยแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมาย 130 บาทจาก Valuation ที่ยังน่าสนใจ โดยปัจจุบันยังซื้อขายที่ระดับ 0.6 เท่า P/BV ยังอยู่ในระดับต่ำที่ -2SD ขณะที่มีการตั้งสำรองฯ ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 เผื่อไว้ในระดับที่สูงมากแล้ว และหากวัคซีนมา KBANK น่าจะฟื้นตัวได้เร็วที่สุด เพราะมีสัดส่วนสินเชื่อที่อิงกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึง 20%

เอาเป็นว่า ตามเกณฑ์แล้วกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะมีความคล่องตัวกรณีมีการระดมทุนเงินกองทุนที่ทำได้ง่ายขึ้นนั่นเอง โดยไม่ต้องขออนุญาตจากทางธปท.ก็ได้ เพราะปัจจุบันแต่ละธนาคารมี BIS Ratio มากกว่าเกณฑ์อยู่แล้ว ซึ่ง BIS Ratio ของกลุ่มเฉลี่ย 19.43% มากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธปท.กำหนดที่มากกว่า 12%

Back to top button