“พลังงาน” ชี้โควิดฉุดยอดใช้น้ำมัน 11 เดือน หด 12.7% ลุ้นปีนี้ฟื้น หากไม่ล็อกดาวน์

“พลังงาน” ชี้โควิดฉุดยอดใช้น้ำมัน 11 เดือน หด 12.7% ลุ้นปีนี้ฟื้น หากไม่ล็อกดาวน์


นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ในสังกัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แนวโน้มการใช้น้ำมันในปี 2564 คาดว่าการใช้กลุ่มเบนซิน และดีเซลจะสูงกว่าปี 2563 โดยอยู่ที่ 31-34 ล้านลิตร/วัน และ 65-69 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ใกล้เคียงกับการใช้ในปี 2562 เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะสามารถควบคุมได้ ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัว 3.4-4.5% และยังมีความต้องการใช้รถส่วนตัวแทนรถสาธารณะ

ประกอบกับราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก โดยทีม PRISM Expert ของ กลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) คาดว่าในปี 2564 ราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ 45-55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) ของสหรัฐอเมริกาคาดว่าราคาน้ำมันดิบ WTI จะเฉลี่ยอยู่ที่ 46 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ หรือปิดสถานที่บางแห่งเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563 ปริมาณการใช้น้ำมันอาจลดลงมาต่ำกว่าปกติอีก

สำหรับการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2563 มาอยู่ที่ 8-11 ล้านลิตร/วัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าความต้องการใช้จะยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดย บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) คาดว่าการจราจรทางอากาศจะกลับมาอยู่ในระดับก่อนโควิด-19 ในปี 2566 ขณะที่ปริมาณการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) คาดว่าจะยังคงลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ

นางสาวนันธิกา กล่าวว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันรอบ 11 เดือนของปี 2563 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 12.7% สาเหตุสำคัญยังคงมาจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการเดินทางของประชาชน

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.5 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.8% โดยความต้องการใช้ลดลงมากในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่มีการล็อกดาวน์ และความต้องการใช้เริ่มกลับมาอยู่ในระดับปกติตั้งแต่เดือนมิถุนายน โดยประชาชนหันมาใช้รถส่วนตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้รถสาธารณะ สำหรับการใช้น้ำมันเบนซิน อยู่ที่ 0.8 ล้านลิตร/วัน ลดลง 17.1% และกลุ่มแก๊สโซฮอล์ปริมาณการใช้อยู่ที่ 30.7 ล้านลิตร/วัน ลดลง 1.3% เมื่อพิจารณาแยกชนิดน้ำมัน พบว่า แก๊สโซฮอล์ อี85 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 0.9 ล้านลิตร/วัน ลดลง 29.4% รองลงมาเป็นแก๊สโซฮอล์ 91 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 8.2 ล้านลิตร/วัน ลดลง 13.9% ขณะที่แก๊สโซฮอล์อี 20 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 6.5 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 0.2% และแก๊สโซฮอล์ 95 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 15.1 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 9.3%

การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 65.1 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.3% โดยการใช้ลดลงมากในเดือนเมษายนที่มีการล็อกดาวน์ และปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับปกติตั้งแต่เดือนพฤษภาคม สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 มีปริมาณการใช้ อยู่ที่ 43.9 ล้านลิตร/วัน ลดลง 27.0% น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 15.5 ล้านลิตร/วัน (เริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 3.7 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากนโยบายส่งเสริมของภาครัฐ

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 7.5 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 61.2% เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การเดินทางด้วยเที่ยวบินระหว่างประเทศและภายในประเทศลดลง และปัจจุบันยอดการใช้ยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ โดยการใช้น้ำมัน Jet A1 ในเดือนพฤศจิกายน คิดเป็นเพียง 30% ของการใช้ในระดับปกติ

การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 15.3 ล้านกิโลกรัม (กก.)/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.3% โดยปริมาณการใช้ในภาคขนส่งลดลงมากที่สุด โดยมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 2.0 ล้านกก./วัน ลดลง 27.3% รองลงมาเป็นภาคปิโตรเคมี ซึ่งมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 6.1 ล้านกก./วัน ลดลง 18.2% ถัดมาเป็นภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 1.7 ล้านกก./วัน ลดลง 8.1% และภาคครัวเรือนมีปริมาณการใช้ลดลงน้อยที่สุดโดยการใช้อยู่ที่ 5.5 ล้านกก./วัน ลดลง 4.9%

การใช้ NGV เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 3.9 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 28.8% สอดคล้องกับจำนวนรถ NGV ที่ลดลง

ด้านการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เฉลี่ยอยู่ที่ 888,893 บาร์เรล/วัน ลดลง 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการนำเข้าน้ำมันดิบ อยู่ที่ 852,111 บาร์เรล/วัน ลดลง 0.5% คิดเป็นมูลค่า 37,471 ล้านบาท/เดือน ในขณะที่การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 36,782 บาร์เรล/วัน ลดลง 64.0% คิดเป็นมูลค่านำเข้ารวม 1,685 ล้านบาท/เดือน

 

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออก อยู่ที่ระดับ 184,806 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 12.3% ทดแทนอุปสงค์ในประเทศที่ลดลง คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 8,186 ล้านบาท/เดือน ลดลง 25.6% โดยมูลค่าลดลงสวนทางกับปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงมาก

Back to top button