สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 8 ม.ค. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 8 ม.ค. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (8 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับความหวังเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐเพิ่มเติม หลังจากนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐเปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเขาจะมีมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งตลาดได้ดีดตัวขึ้นขานรับความเห็นดังกล่าว หลังจากที่ปรับตัวลงในช่วงแรกจากการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ลดลงสวนทางคาดการณ์

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,097.97 จุด เพิ่มขึ้น 56.84 จุดหรือ +0.18%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,824.68 จุด เพิ่มขึ้น 20.89 จุดหรือ +0.55% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,201.98 จุด เพิ่มขึ้น 134.50 จุดหรือ +1.03%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (8 ม.ค.) เป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน และปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบสัปดาห์นี้นับตั้งแต่เดือนพ.ย.ที่ผ่านมา โดยนักลงทุนขานรับการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาดของเยอรมนี และการคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการที่สดใสจากบรรดาบริษัทผลิตชิป

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 411.17 จุด เพิ่มขึ้น 2.68 จุด หรือ +0.66%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,706.88 จุด เพิ่มขึ้น 37.03 จุด หรือ +0.65%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 14,049.53 จุด เพิ่มขึ้น 81.29 จุด หรือ +0.58% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,873.26 จุด เพิ่มขึ้น 16.30 จุด หรือ +0.24%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (8 ม.ค.) เป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน เนื่องจากนักลงทุนคาดว่า เศรษฐกิจโลกจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว หลังหลายประเทศฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ให้กับประชาชน ซึ่งจะทำให้การแพร่ระบาดสิ้นสุดลง และนักลงทุนยังขานรับการคาดการณ์ที่ว่า รัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ในไม่ช้านี้

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,873.26 จุด เพิ่มขึ้น 16.30 จุด หรือ +0.24% และบวกขึ้นมากกว่า 6% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เมื่อวันศุกร์ (8 ม.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่ซาอุดีอาระเบียสมัครใจที่จะปรับลดการผลิตน้ำมัน และรายงานที่บ่งชี้ว่าสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลงเกินคาดนั้น ได้ช่วยหนุนตลาดน้ำมันด้วย

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. พุ่งขึ้น 1.41 ดอลลาร์ หรือ 2.8% ปิดที่ 52.24 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 7.7% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 1.61 ดอลลาร์ หรือ 3% ปิดที่ 55.99 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 8.1% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงมากกว่า 4% เมื่อวันศุกร์ (8 ม.ค.) โดยเป็นการร่วงลงวันเดียวมากที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย. เนื่องจากถูกกระทบจากการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ร่วงลง 78.20 ดอลลาร์ หรือ 4.09% ปิดที่ 1,835.40 ดอลลาร์/ออนซ์ และร่วงลงราว 3.2% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 2.624 เซนต์ หรือ 9.63% ปิดที่ 24.637 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 53.3 ดอลลาร์ หรือ 4.74% ปิดที่ 1,071.30 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 66.60 ดอลลาร์ หรือ 2.7% ปิดที่ 2,365.00 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (8 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับแนวโน้มที่รัฐบาลสหรัฐชุดใหม่ของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่อ่อนแอของสหรัฐจะเป็นปัจจัยผลักดันให้รัฐบาลสหรัฐชุดใหม่เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่เพื่อเยียวยาผลกระทบจากโรคโควิด-19 ด้วย

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.32% แตะ 90.1200 เมื่อวันศุกร์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 103.93 เยน จากระดับ 103.86 เยน, แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8865 ฟรังก์ จากระดับ 0.8849 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2711 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2685 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2212 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2268 ดอลลาร์, เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3560 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3570 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะระดับ 0.7747 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7759  ดอลลาร์สหรัฐ

 

Back to top button