“ซีพี” เสนอวิสัยทัศน์เอกชนไทยสู่ระดับโลก ชู 3 กลยุทธ์ปั้นธุรกิจในสหรัฐ

"ซีพี" เสนอวิสัยทัศน์เอกชนไทยสู่ระดับโลก ชู 3 กลยุทธ์ปั้นธุรกิจในสหรัฐ


​สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จัดงานเสวนา SelectUSA: Helping Thai Companies Go Global โดยเชิญภาคเอกชนไทยที่มีบทบาทลงทุนในต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนทรรศนะ และประสบการณ์ในการเข้าไปดำเนินธุรกิจในสหรัฐอเมริกา ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย ทั้งยังเปิดให้สามารถเข้ารับชมการเสวนาผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา

โดย นายบุญชัย โอภาสเอี่ยมลิขิต ประธานธุรกิจ-สหรัฐอเมริกา เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ร่วมเสวนาเรื่อง “Case Studies of Global Expansion – Lessons Learned” ถอดบทเรียนการขยายตัวของภาคเอกชนไทยสู่การลงทุนระดับโลก โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดำเนินรายการโดย นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

ทั้งนี้ ​นายไมเคิล กล่าวว่า องค์กรธุรกิจไทยจำนวนไม่น้อยได้ขยายการลงทุนไปต่างประเทศ และหนึ่งในตลาดสำคัญคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งการจัดงานนี้ เป็นการเชิญธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จ มีวิสัยทัศน์ และมีบทบาทในระดับโลก เข้าร่วมสัมมนาเพื่อนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ของภาคเอกชนไทยมาขับเคลื่อนธุรกิจในระดับโลก ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนมุมมองภาคธุรกิจไทยที่ได้ปรับตัวตามสถานการณ์หลังวิกฤตโควิด-19 ให้ได้ร่วมกันพัฒนาธุรกิจที่ควบคู่ไปกับความยั่งยืนร่วมกัน โดยคาดหวังว่าจะเป็นการแสวงหาโอกาส และความหวังร่วมกันในปี 2021 นี้

​ด้าน นายบุญชัย กล่าวว่า ตัวเลขการลงทุนของธุรกิจไทยในต่างประเทศตั้งแต่ปี 2549-2562 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นเป็น 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปีถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับบริษัทไทยในการสำรวจโอกาสทางธุรกิจในระดับโลก โดยสหรัฐมีหลายมลรัฐและมีกฎกติกาข้อปฎิบัติที่แตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องที่นักลงทุนจำเป็นต้องให้ความสนใจ เพราะนำมาซึ่งการขยายการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จากประสบการณ์ของซีพีในการกระจายการลงทุนใน 23 ประเทศทั่วโลก มีพนักงานมากกว่า 350,000 คน สิ่งสำคัญคือจะต้องวิเคราะห์การลงทุนทั้งก่อนและหลังที่จำเป็นทั่วโลก รวมทั้งวิสัยทัศน์ขององค์กรจะต้องสอดคล้องกับการขยายการลงทุนในธุรกิจต่างแดนนั้นด้วย โดยเครือซีพี เลือกลงทุนในสหรัฐฯด้วยเหตุผลหลัก คือ 1.สหรัฐเป็นประเทศที่มี GDP มากที่สุดในโลกและส่งผลให้มีตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก 2.เมื่อมองถึงอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นธุรกิจหลักของซีพี สอดคล้องกับในพื้นที่แถบตะวันออกกลางของสหรัฐที่มีการปลูกข้าวโพด และถั่วเหลืองมาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับอุตสาหกรรมอาหารของซีพี 3.สหรัฐฯมีเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งซีพีให้ความสำคัญเรื่องการขับเคลื่อนธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีและเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ขององค์กร

ขณะเดียวกัน ​ประธานธุรกิจ-สหรัฐอเมริกา เครือซีพี กล่าวต่อว่า ซีพีได้เข้าไปลงทุนในสหรัฐโดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เข้าซื้อหุ้น 100% ด้วยเม็ดเงิน 38,000 ล้านบาท ของบริษัท เบลลิซิโอ ฟู้ด อิ้งค์ (Bellisio) ผู้นำด้านการผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2559 เพื่อรองรับเทรนด์อาหารแช่แข็งทั่วโลกที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการลงทุนครั้งสำคัญของซีพี และเป็นหนึ่งในเป้าหมาย Kitchen of The World ที่ประธานอาวุโสเครือซีพี ธนินท์ เจียรวนนท์ ประกาศไว้นับตั้งแต่ปี 2542 นอกจากการเข้าซื้อกิจการแล้ว ซีพียังได้สร้างธุรกิจใหม่อีก 2 แห่งในรัฐเท็กซัสและฟลอริด้าอีกด้วย

โดยรูปแบบดำเนินธุรกิจของซีพีในสหรัฐฯนั้นให้ความสำคัญกับการต้องเข้าใจวิถีคนอเมริกัน ทำความเข้าใจด้านพฤติกรรม ทัศนคติและวัฒนธรรมอเมริกัน เพื่อที่จะได้เข้าใจการทำธุรกิจแบบอเมริกัน อย่างกรณีเบลลิซิโอนั้น ซีพีจ้างพนักงานสัญชาติอเมริกันทั้งหมด 2,000 คน โดยมีคนไทยเพียง 5 คนเท่านั้น ซึ่งเมื่อเราเข้าใจลึกซึ้งถึงวิถีอเมริกันแล้ว ทีมงานจะสามารถช่วยเราในการสร้างธุรกิจใหม่หรือ Greenfield Business ได้ ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุนไปยังต่างประเทศของซีพีได้ปรับใช้มาจากประสบการณ์ในไทยก่อน ด้วยการขยายธุรกิจให้เติบโตจากนั้นเร่งสปีดเพื่อให้เกิดการขยายตลาดอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยยึดหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ คือการเข้าไปสร้างประโยชน์ต่อประเทศที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ ลำดับต่อมาคือประโยชน์ต่อประชาชนในประเทศนั้นๆ และสุดท้ายจึงเป็นประโยชน์ต่อองค์กร

​ด้าน นายชาติศิริ กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพได้ทำความเข้าใจกฏเกณฑ์สำหรับการลงทุนในสหรัฐอเมริกา และมีลูกค้าของธนาคารจำนวนมากที่ต้องการจะลงทุนในสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ทั้งนี้แม้กฎเกณฑ์การลงทุนในสหรัฐมีความซับซ้อน ซึ่งทางธนาคารกรุงเทพ ได้ติดตามศึกษาอย่างใกล้ชิดจึงทำให้เรามีความเข้าใจบริบทเบื้องหลังกฎเกณฑ์ต่างๆ และสามารถอธิบายให้ผู้ที่สนใจลงทุนในสหรัฐเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน นายชนินท์ กล่าวว่า บริษัทบ้านปูวางรูปแบบการลงทุนในสหรัฐโดยเริ่มจากก้าวเล็กๆ โดยเน้นการสร้างความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตั้งแต่ในระดับชุมชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นที่มีต่อองค์กร ส่งผลให้นักลงทุนและรัฐบาลท้องถิ่นในรัฐที่เราเข้าไปลงทุนเกิดความเชื่อมั่นต่อองค์กรและเปิดรับบริษัทเข้าไปลงทุนโดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีทั้งจากสถาบันการเงินและรัฐบาลท้องถิ่นสหรัฐ

ด้าน นายธีรพงศ์ กล่าวว่า สหรัฐฯมีตลาดการค้าที่ใหญ่มาก ในมุมมองของการขยายธุรกิจจึงเป็นประเทศที่ไม่ควรมองข้าม และถือเป็นตัวเลือกแรกของ TUF ด้วยการพลิกวิกฤตของ Local Partnership ในขณะนั้นซึ่งประสบปัญหาล้มละลาย เราจึงตัดสินใจเข้าซื้อกิจการมาบริหาร จากประสบการณ์สหรัฐเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ดังนั้นผู้เล่นจะต้องแข็งแกร่งและมีศักยภาพเพื่อความอยู่รอดในตลาด โดย TUF ได้สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันคือการผลิตด้วยต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นจุดแข็งหลักของเรา

ขณะเดียวกัน ​นายอาลก กล่าวว่า บริษัทอินโดรามาเวนเจอร์สฯ ได้ขยายการเข้าซื้อกิจการในสหรัฐในหลายรูปแบบซึ่งช่วยตอกย้ำการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของบริษัทที่มองการลงทุนในสหรัฐพร้อมกับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถเข้าสู่ตลาดเฉพาะกลุ่มทั่วโลก และอุตสาหกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยบริษัทมองว่าการขยายการลงทุนไปในสหรัฐและหลายประเทศคือโอกาสของการรวมห่วงโซ่อุปทานที่ยังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายขององค์กรด้วย

สำหรับ​ในงานเสวนานี้ยังมีการเสนอมุมมองจากผู้ร่วมงานที่น่าสนใจ โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงทุนของธุรกิจไทยในต่างประเทศมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกฎระเบียบการลงทุนในต่างประเทศมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเอื้ออำนวยให้เอกชนไทยสนใจขยายการลงทุนในสหรัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มของภาคเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งตนมองว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ภาคเอกชนขนาดใหญ่จำเป็นต้องทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้เพื่อนำองคาพยพของธุรกิจขนาดกลางและเล็กในประเทศไทยเติบโตตามการขยายการลงทุนไปด้วย

 

Back to top button