SCB เปิดกำไรปี 63 แตะ 2.7 หมื่นลบ. ฟากไตรมาส 4 ฟื้นตัว 7% จากไตรมาส 3

SCB เปิดกำไรปี 63 แตะ 2.7 หมื่นลบ. ฟากไตรมาส 4 ฟื้นตัว 7% จากไตรมาส 3


ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4 และงวดปี 2563 มีกำไรสุทธิ ดังนี้

โดยธนาคารมีกำไรสุทธิตามงบการเงินรวม จำนวน 27,218 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 32.7 จากจำนวน 40,436 ล้านบาทในปี 2562 การลดลงส่วนใหญ่เป็นผลมาจากฐานของปีก่อนที่มีรายการพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในไตรมาส 3/2562 และสำรองที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อคุณภาพของสินเชื่อโดยรวม

ทั้งนี้ ถ้าไม่รวมรายการพิเศษครั้งเดียวจากการขายบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตที่บันทึกในไตรมาส 3/2562 กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 จากปีก่อน เป็นผลมาจากการรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่เพิ่มขึ้น กำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่า ด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนที่เพิ่มขึ้น และมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ในไตรมาส 4/2563 กำไรสุทธิลดลงร้อยละ 9.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 4,965 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ การเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานที่ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งสุทธิกับรายได้จากเงินลงทุนที่ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2563 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 จากไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสุทธิกับการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายทางการตลาดและ ส่งเสริมการตลาดที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาลในไตรมาสสุดท้ายของปี

ด้านนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร SCB กล่าวว่า แม้ว่ากำไรสุทธิในปีที่ผ่านมาได้รับแรงกดดันจากการตั้งสำรองที่สูงขึ้น แต่ผลประกอบการจากธุรกิจหลักของธนาคารยังคงแข็งแกร่งและเงินกองทุนของธนาคารยังอยู่ในระดับสูง ตั้งแต่การเริ่มแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านโครงการช่วยเหลือทางการเงินในด้านต่างๆ ไปแล้วมากกว่าหนึ่งล้านราย ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือได้ทยอยออกจากโครงการทำให้ยอดสินเชื่อภายใต้โครงการช่วยเหลือทางการเงินลดลงเป็นอย่างมาก

โดย ณ สิ้นปี 2563 มียอดรวมอยู่ที่ประมาณ 402,000 ล้านบาท หรือ 18% ของยอดสินเชื่อรวมของธนาคารสำหรับ ปี 2564 การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศทำให้ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความไม่แน่นอนสูง แม้ว่าจะมีพัฒนาการในการเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็ตาม

ดังนั้นธนาคารจะยังคงมุ่งให้ความช่วยเหลือ ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ และธนาคารยังคงมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยน รูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยการพัฒนาธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีการขยายฐานรายได้จากธุรกิจการ ขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคารและธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง และการปรับเปลี่ยนองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ

Back to top button