STARK ตั้งเป้ารายได้ปี 64 โต 15-20% ตุน Backlog แน่น 9 พันลบ.

STARK ตั้งเป้ารายได้ปี 64 โต 15-20% ทำสถิติสูงสุดใหม่ ตุน Backlog แน่น 9 พันลบ. ลุยชิงงานใหม่เพิ่ม เร่งเพิ่มสปีดการผลิตโรงงานเวียดนามเต็มสูบ มองอุตฯ สายไฟฟ้า-เคเบิลโตยาว


นายชนินทร์ เย็นสุดใจ  ประธานกรรมการ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจในปี 2564 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้อยู่ที่ประมาณ 15-20% จากปีก่อน และคาดว่าจะสามารถทำสถิติสูงสุดใหม่ได้ เนื่องจากรายได้หลักคือ ธุรกิจสายไฟฟ้า และสายเคเบิล มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีไปพร้อมกับอุตสาหกรรม  ซึ่งจาก แผนการลงทุน 5 ปี (2563-2567) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมราว 2 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนพัฒนาระบบส่ง และจำหน่ายไฟฟ้า และแผนสนับสนุนการลงทุนโรงไฟฟ้าจากต่างชาติของรัฐบาลเวียดนาม เพื่อจะได้มีพลังงานไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ขณะที่บริษัทฯ มีโรงงานทั้งในไทยและเวียดนาม ซึ่งทั้งสองประเทศที่มีการเติบโตและความต้องการการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในอาเซียนตามการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับ บริษัทอดิสรสงขลา ซึ่งเป็นบริษัทย่อย จะสามารถสร้างการเติบโตของรายได้อยู่ที่ประมาณ 20% จากปีก่อนด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังมีกลยุทธ์ในการมุ่งเน้นการขายสินค้าในกลุ่มที่มีความสามารถในการทำกำไรได้สูง (High Margin) โดยเฉพาะกลุ่มสายไฟแรงดันระดับกลางจนถึงระดับสูงพิเศษ (Medium – Extra High Voltage) ที่มีการเติบโตสูง เพื่อรองรับโครงการต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน พร้อมกับการควบคุมต้นทุน และค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ (Lean management) และการบริหารจัดการร่วมกันของกลุ่มบริษัทอย่างมีระบบ (Integrated Supply Chain Management) อีกด้วย

ด้านนายประกรณ์  เมฆจำเริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร STARK กล่าวว่า  รายได้หลักของบริษัทฯ ในปีนี้คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการรับรู้ผลการดำเนินงานของเวียดนาม ซึ่งจะมีการเพิ่มความเร็วในกำลังการผลิตจากเดิมใช้อยู่ระดับ 45-50% เท่านั้น  รวมถึงรับรู้รายได้จากโครงการภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน การขยายโครงการรถไฟฟ้า การอัพเกรดขนาดสายไฟ เพื่อรองรับการเติบโตของชุมชน การพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้า เป็นต้น

“บริษัทฯ มีกำลังการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิลรวม 2.2 แสนตันต่อปี โดยแบ่งเป็นไทยและเวียดนาม 50-50% ซึ่งไทยใช้กำลังการผลิตไป 60-70% ส่วนเวียดนามใช้กำลังการผลิต 45-50% เท่านั้น ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทฯ จึงจะเพิ่มความเร็วในการผลิตส่วนของโรงงานเวียดนาม หลังจากที่ได้บูรณาการ 2 โรงงานเข้าด้วยกัน ซึ่งจะส่งผลทำให้โรงงานเวียดนามเกิดการประหยัดต่อขนาด และสร้างประสิทธิภาพสูงสุดให้บริษัทฯต่อไปนายประกรณ์ กล่าว

โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) มูลค่ารวมอยู่ที่ 9,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานของโครงการภาครัฐ และเอกชน ทั้งงานในประเทศไทย และเวียดนาม โดยคาดว่าจะสามารถทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการเตรียมเข้าร่วมประมูลงานใหม่อีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนบุกตลาดสหรัฐฯ ผ่านทั้งบริษัทไทย และบริษัทในเวียดนาม เนื่องจากมองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต หลังจากจีนได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านกำแพงภาษี ดังนั้น จึงเป็นโอกาสในการเข้าไปขยายตลาดเพิ่มขึ้นอีกด้วย

Back to top button