‘เผด็จการทหาร’ ไม่มีวันตาย

พัฒนาการที่เกิดขึ้นในพม่าทั้งในอดีตจนถึงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เป็นแพทเทิร์นสำเร็จรูปของเผด็จการทหารทั่วโลก รวมทั้งในบ้านเรา


กระแสโลก : ฐปนี แก้วแดง

หลังจากที่ทหารเมียนมายอมแบ่งอำนาจให้พลเรือนเมื่อปี 2554 สิบปีผ่านมา ทหารก็ยึดอำนาจคืน จับกุม อองซาน ซูจี  ประธานาธิบดีวิน มินต์ และผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) อีกหลายคนไปคุมขัง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นการสรุปได้ว่า “เผด็จการทหารไม่มีวันตาย” และพร้อมที่จะฟื้นคืนชีพเมื่อเวลาและสถานการณ์เหมาะสม

การปฏิวัติได้ทำให้เกิดความหวาดผวาไปทั่วประเทศและทั่วโลก  การจับและคุมขังซูจี ทำให้เกิดการนึกย้อนไปยังเหตุการณ์เมื่อเกือบ 50 ปีก่อนที่ทหารปกครองเมียนมาด้วยการกดขี่ข่มเหงประชาชนอย่างโหดเหี้ยม

ซูจีและพรรคเอ็นแอลดีเพิ่งได้ปกครองเมียนมาเมื่อ 5 ปีก่อนนี้เอง ทั้งที่ในอดีตชนะเลือกตั้งหลายครั้ง แต่ก็ถูกล้มกระดานไปทุกครั้ง  มีการมองกันว่า การเลือกตั้งปี 2558  เป็นการเลือกตั้งที่เสรีที่สุดและเป็นธรรมที่สุดในรอบ 25 ปีของเมียนมา

รัฐบาลพลเรือนของซูจีควรจะได้บริหารประเทศเป็นสมัยที่สองในวันจันทร์ที่ผ่านมา หากสภาชุดใหม่ได้ทำงานตามกำหนด เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งที่สองเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา  พรรคเอ็นแอลดีได้รับคะแนนเสียงถึง 83%   ซึ่งถือว่าชาวเมียนมาลงประชามติยอมรับการทำงานของซูจี แม้ว่าชื่อเสียงของซูจีในนานาประเทศจะมัวหมองไปบ้างเรื่องการขับไล่ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ เมื่อปี 2560

ในทางกลับกัน พรรคสหภาพสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) ซึ่งเป็นร่างทรงทหาร กลับแพ้อย่างไม่เป็นท่า และนั่นอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทหารต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติในเวลานี้  โดยใช้ข้ออ้างการโกงเลือกตั้ง และกล่าวหาคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าล้มเหลวที่จะแก้ไขเรื่องการสวมสิทธิ์  ปฏิเสธที่จะทำตามข้อเรียกร้องของทหารที่ให้เลื่อนประชุมสภาใหม่ และมีการประท้วงของกลุ่มที่ไม่พอใจการเลือกตั้ง

ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมา มองว่า การกล่าวหาเหล่านี้ไม่มีหลักฐานและการยึดอำนาจของทหารเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ เพราะว่า ถึงแม้พรรคร่างทรงทหารแพ้เลือกตั้ง ก็ไม่ได้หมายความว่าทหารจะหมดอำนาจไปเลย

ตามรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเมื่อปี 2551 กองทัพยังคงมีอำนาจเหนือรัฐบาล รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทหารมีที่นั่งในสภาโดยอัตโนมัติหนึ่งในสี่ และยังได้คุมกระทรวงสำคัญ ๆ สามกระทรวง คือกระทรวงมหาดไทย กลาโหม และกิจการชายแดน  พรรคเอ็นแอลดีจะมีโอกาสแก้รัฐธรรมนูญได้ จำเป็นต้องได้เสียงสนับสนุน 75% ในสภา ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการมองว่าเหตุผลที่ทำให้ทหารยึดอำนาจในเวลานี้ อาจมาจากความอึดอัดใจ หรือเสียหน้า และไม่คาดคิดว่าจะแพ้เลือกตั้งถึงขนาดนี้  มีรายงานว่า แม้แต่คนในครอบครัวทหารก็ยังไม่เลือกพรรคร่างทรง

ในขณะที่สื่อต่างชาติถือว่า ซูจีเป็น “แม่” ของเมียนมา ทหารก็ถือตนเองว่าเป็น “พ่อ” เช่นกัน  ด้วยเหตุนี้จึงอาจมีความรู้สึกถึง “ภาระผูกพันและสิทธิ” ในการปกครองประเทศ และเนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เมียนมาได้เปิดการค้าต่อต่างประเทศมากขึ้น ทหารจึงอาจไม่ชอบใจและไม่สบายใจเท่าไหร่

การระบาดของไวรัสโคโรนาและความกังวลของนานาชาติที่ชาวโรฮิงญาถูกตัดสิทธิในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กองทัพฮึกเหิมและกล้ายึดอำนาจ  แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่แน่ใจว่าทำไมต้องทำตอนนี้เพราะมีผลดีน้อยมาก

การเปลี่ยนแปลงประเทศไปเป็นประชาธิปไตยได้ทำให้สหรัฐฯ และอียูยกเลิกมาตรการลงโทษ นักลงทุนต่างชาติแห่เข้าไปลงทุนจนทำให้เศรษฐกิจพม่าเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว  ข้อมูลของธนาคารโลกชี้ว่า เศรษฐกิจพม่าโตปีละ 6.8% หลังเปิดประเทศ และมีแนวโน้มโตลดลงเพียงแค่ 0.5% ในปีงบประมาณ 2562/63  แม้เกิดการระบาดของโควิด-19 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านหดตัวรุนแรงกว่ามาก

ระบบในปัจจุบันยังเป็นประโยชน์มากต่อกองทัพ โดยมีอิสระในการปกครอง มีการลงทุนระหว่างประเทศจำนวนมากที่เอื้อประโยชน์ทางการค้าแก่ทหาร และมีการปกปิดทางการเมืองจากพลเรือนในการก่ออาชญากรรมสงคราม

อย่างไรก็ดี เมื่อดูที่หัวหอกสำคัญในการทำรัฐประหารครั้งนี้ คือ “นายพล มิน อ่อง หล่าย”  ก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมทหารจึงยึดอำนาจ

มิน อ่อง หล่าย อายุ 64 ปี  รับราชการทหารมาตลอดชีพ  เริ่มจากเป็นนักเรียนนายร้อยและเข้าเรียนที่ Defense Services Academy โดยใช้ความพยายามถึงสามครั้งในปี 2517 นอกจากนี้ยังเป็นอดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยย่างกุ้งด้วย

เขาได้เลื่อนยศมาอย่างต่อเนื่อง จนได้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด  และได้ใช้อิทธิพลทางการเมืองและยังสามารถรักษาอำนาจเอาไว้ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าประเทศเปลี่ยนไปเป็นประชาธิปไตยแล้ว จนนานาชาติประณามและคว่ำบาตร

เขาเพราะบทบาทในการโจมตีชนกลุ่มน้อย

มิน อ่อง หล่าย มีบทบาทในปฏิบัติการทางตะวันออกเฉียงเหนือ จนทำให้ผู้อพยพชนกลุ่มน้อยหลายหมื่นคนต้องหลบหนีออกจากจังหวัดฉาน และภูมิภาคโกก้างตามแนวชายแดนจีน

แม้จะมีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการฆาตกรรม ข่มขืนและวางเพลิงต่อกองกำลังของเขา แต่มิน อ่องหล่ายก็ยังคงเติบโตมาได้ ได้เป็นเสนาธิการร่วมในเดือนสิงหาคม 2553  หลังจากนั้นไม่ถึงหนึ่งปี ก็ได้รับตำแหน่งสูงสุดของกองทัพแซงหน้านายพลอาวุโสหลายคน จนได้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ต่อจาก นายพล ตันฉ่วย ในเดือนมีนาคม 2554

อิทธิพลทางการเมืองและการปรากฏตัวบนโซเชียลมีเดียของ มิน อ่อง หล่าย เพิ่มขึ้น เมื่อพรรคยูเอสดีพีเป็นแกนนำรัฐบาล  ในปี 2559 เมื่อพรรคเอ็นแอลดีของซูจีได้ขึ้นครองอำนาจ เขาได้ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงด้วยการทำงานและออกงานร่วมกับซูจี

แม้มีการเปลี่ยนแปลงแต่มิน อ่อง หล่ายนี่แหละที่เป็นคนวางรากฐานให้ทหารได้คุมสภาหนึ่งในสี่และได้คุมกระทรวงที่เกี่ยวกับความมั่นคง ในขณะเดียวกันก็คัดค้านความพยายามของซูจีที่จะแก้รัฐธรรมนูญและลดอำนาจทหาร

ปี 2559 และ 2560 ทหารกวาดล้างชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่มากขึ้น จนทำให้นานาชาติประณามเขาว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2561 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติระบุว่า จะต้องสอบสวนและดำเนินคดีนายทหารระดับสูงของพม่าซึ่งรวมถึง มิน อ่อง หล่าย ฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรัฐยะไข่  ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ก่ออาชญากรรมสงครามในรัฐยะไข่ คะฉิ่น และรัฐฉาน

สหรัฐฯ คว่ำบาตรเขาสองครั้ง   โดยในปี 2562 ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน และในเดือนกรกฎาคมปี 2563  อังกฤษก็คว่ำบาตรเช่นกัน

ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร 5 วัน  มิน อ่อง หล่าย เตือนว่า ควรจะฉีกรัฐธรรมนูญหากไม่ปฏิบัติตาม พร้อมอ้างถึงตัวอย่างของการรัฐประหารเมื่อปี  2505 และ 2531 จากนั้นสองวันต่อมาก็เปลี่ยนท่าทีไปโทษสื่อว่าตีความคำพูดของทหารผิด แต่ในที่สุด ก็ตัดสินทำรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์

พัฒนาการที่เกิดขึ้นในพม่าทั้งในอดีตจนถึงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เป็นแพทเทิร์นสำเร็จรูปของเผด็จการทหารทั่วโลก รวมทั้งในบ้านเรา  ทหารมักเขียนรัฐธรรมนูญให้ตัวเองอยู่ในอำนาจได้ชั่วฟ้าดินสลาย และชอบอ้างพันธกิจ  สิทธิ  ความรับผิดชอบ และความรักชาติยิ่งกว่าใคร ในการเข้าไปบริหารประเทศ โดยไม่สำรวจมองขีดความสามารถของตัวเอง และมองโลกว่าก้าวไปไกลแค่ไหนแล้ว และไม่เคยประเมินและเรียนรู้ว่า ประเทศชาติและประชาชน จะเสียโอกาสขนาดไหนในการนำชาติถอยหลังเข้าคลอง

Back to top button