สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 4 ก.พ. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 4 ก.พ. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 300 จุดเมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดทำนิวไฮ ขานรับข้อมูลแรงงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐ และผลประกอบการที่สดใสของบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากความหวังที่ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐจะเร่งผลักดันให้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ในไม่ช้านี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,055.86 จุด เพิ่มขึ้น 332.26 จุด หรือ +1.08% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,871.74 จุด เพิ่มขึ้น 41.57 จุด หรือ +1.09% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,777.74 จุด เพิ่มขึ้น 167.20 จุด หรือ +1.23%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) เป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน เนื่องจากนักลงทุนยังคงขานรับความหวังว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวเร็วขึ้น และนักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับการขาดแคลนวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ในยุโรป

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 409.54 จุด เพิ่มขึ้น 2.27 จุด หรือ +0.56%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 13,777.74 จุด เพิ่มขึ้น 167.20 จุด หรือ +1.23%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 14,060.29 จุด เพิ่มขึ้น 126.66 จุด หรือ +0.91%และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,503.72 จุด ลดลง 4.10 จุด หรือ -0.063%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) โดยถูกกดดันจากการที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.10% และระบุว่าเศรษฐกิจของอังกฤษอาจหดตัวลง 4% ในไตรมาสแรกของปีนี้

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,503.72 จุด ลดลง 4.10 จุด หรือ -0.063%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงยอดสั่งซื้อภาคโรงงานที่สูงเกินคาด นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐที่ลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 54 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 56.23 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.2563

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 38 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 58.84 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.2563

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 40 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ ยังเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อราคาทองคำ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 43.9 ดอลลาร์ หรือ 2.39% ปิดที่ 1,791.2 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 65.5 เซนต์ หรือ 2.44% ปิดที่ 26.234 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 11.5 ดอลลาร์ หรือ 1.03% ปิดที่ 1,103 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 4.10 ดอลลาร์ หรือ 0.2% ปิดที่ 2,280.70 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนจับตาความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ รวมทั้งการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค.ของสหรัฐในวันนี้

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.39% สู่ระดับ 91.5209 เมื่อคืนนี้

Back to top button