“สธ.” ชี้สถานการณ์โควิดไทย แนวโน้มดีขึ้น เคสโต๊ะจีนสารคาม คุมได้ ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่

“สธ.” ชี้สถานการณ์โควิดไทย แนวโน้มดีขึ้น เคสโต๊ะจีนสารคาม คุมได้ ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่


นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศลดลงต่ำกว่า 200 รายต่อเนื่องเป็นวันที่สอง สถานการณ์แพร่ระบาดมีแนวโน้มดีขึ้น และโอกาสที่จะพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่จำนวนมากเหมือนช่วงก่อนหน้านี้จะน้อยลง

ขณะที่ยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเติมจากกรณีที่ผ่านมา ได้แก่ กรณีกลุ่มเลี้ยงโต๊ะแชร์ที่จังหวัดมหาสารคาม กรณีตลาดรถไฟจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเรามั่นใจว่ามีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งสามารถตอบโต้ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้ในเวลารวดเร็ว กรณีพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ใช่เรื่องน่าวิตกกังวล

ส่วนข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับอาหารนั้นสามารถใช้หลักการง่ายๆ ที่ป้องกันการติดเชื้อโรคได้ทุกชนิด เช่น การแยกเขียงแยกมีดระหว่างอาหารสดกับอาหารที่ปรุงสุกแล้ว และหากเราดูแลชีวอนามัยตัวเองสม่ำเสมอก็ไม่ต้องกังวลมากเกินไป

นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวถึงวัคซีนโควิด-19 ว่า การนำวัคซีนมาใช้งานเนื่องจากภูมิภาคยุโรปและสหรัฐไม่สามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดไว้ได้ ซึ่งทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 100 ล้านโดส และประเทศที่มีการฉีดวัคซีนไปแล้วมีแนวโน้มการติดเชื้อและเสียชีวิตลดลง การมีวัคซีนใช้ยังไม่มีใครสามารถรับรองประสิทธิภาพได้ แต่มีความปลอดภัยสูง เพราะเป็นเรื่องใหม่ และมีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงได้ ขณะที่การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ยังดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ เพื่อแก้ไขจุดบกพร่องที่เกิดขึ้น

 “ไม่มีใครรับประกันเรื่องประสิทธิภาพ เพราะขึ้นอยู่กับการใช้งานแต่ละภูมิภาค เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องรอดู แต่กล้าพูดได้ว่ามีความปลอดภัยแน่นอน โชคดีที่เรามีตัวอย่างให้เห็น ขอให้ความมั่นใจกับประชาชนไว้เลยว่ามีความปลอดภัย ถ้ามีการนำวัคซีนมาใช้ต้องได้ประโยชน์ ต้องได้ผล” นพ.วิวัฒน์ กล่าว

สำหรับผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนนั้น หากเคยเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แล้วต้องรอหลังหายป่วย 90 วันก่อน แต่สิ่งที่สามารถป้องกันได้ดีคือ หน้ากาก และผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วยังสามารถติดเชื้อแต่อาการไม่รุนแรงและสามารถแพร่เชื้อต่อให้คนอื่นได้ ดังนั้นยังต้องปฏิบัติตัวตามหลักชีวอนามัยเช่นเดิมจนกว่าจะมีข้อมูลยืนยันว่าสถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติ

การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว นอกจากนี้ยังป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังคนอื่น และเมื่อสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้วจะช่วยให้สามารถรื้อฟื้นระบบสังคมและระบบเศรษฐกิจให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ

Back to top button