ฝันที่ใกล้เป็นจริงของลูกจ้าง

การระบาดของไวรัสโคโรนานอกจากจะทำให้พนักงานต้อง Work from Home แล้ว ยังทำให้เกิดเทรนด์ใหม่ที่ก้าวไกลไปกว่านั้น นั่นคือ เริ่มมีหลายประเทศคิดที่จะลดระยะเวลาในการทำงานให้เหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า นี่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อความสมดุลของชีวิตทำงานเป็นการถาวรเลยก็ว่าได้


กระแสโลก : ฐปนี แก้วแดง

การระบาดของไวรัสโคโรนานอกจากจะทำให้พนักงานต้อง Work from Home แล้ว ยังทำให้เกิดเทรนด์ใหม่ที่ก้าวไกลไปกว่านั้น นั่นคือ เริ่มมีหลายประเทศคิดที่จะลดระยะเวลาในการทำงานให้เหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า นี่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อความสมดุลของชีวิตทำงานเป็นการถาวรเลยก็ว่าได้

มีรายงานว่า สเปนเตรียมที่จะทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เพื่อตอบโต้ต่อการระบาดของไวรัสโคโรนา โดยรัฐบาลสเปนตกลงที่จะทดลองให้ทำงาน 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่ลดค่าจ้าง และได้ตั้งงบไว้ 50 ล้านยูโรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทที่ขอเข้าร่วมในโครงการนี้ พรรคมาสปาอิส ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเล็กปีกขวาของสเปนเป็นหัวหอกสำคัญในการผลักดันโครงการนี้ โดยกล่าวว่างบนี้ควรจะช่วยเปลี่ยนทิศทางเศรษฐกิจที่จะทำให้สุขภาพดีขึ้น ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต

ในประเทศอังกฤษก็มีการรณรงค์ที่ใช้ชื่อว่า “The 4-Day Week Campaign” เช่นกัน  แนวคิดนี้เริ่มได้รับความนิยมและมีแรงส่งมากขึ้นนับตั้งแต่โควิดระบาด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงไปทำงานจากบ้านอย่างกะทันหันได้ทำให้ประชาชนได้มองเห็นข้อเท็จจริงว่า การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมากหากต้องการทำ นอกจากนี้การได้ใช้เวลาที่บ้านมากขึ้น ยังทำให้คนงานมีเวลามากขึ้นที่จะทบทวนใหม่ว่าอะไรคือสาระสำคัญในชีวิต

ความจริงแล้ว The 4-Day Week Campaign ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงผู้นำทั่วโลกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเพื่อเรียกร้องให้พิจารณาลดวันทำงานต่อสัปดาห์เพื่อควบคุมการระบาด จดหมายดังกล่าวได้ย้ำถึงวิธีการใช้ชั่วโมงการทำงานที่สั้นลงในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อแบ่งปันปริมาณงานให้สมดุลมากขึ้น ระหว่าง “คนว่างงาน” (unemployed) กับ “คนที่ต้องทำงานมากกว่าที่อยากทำ” (over employed)

ญี่ปุ่นก็กำลังพิจารณาเปลี่ยนไปทำงานแค่ 4 วันต่อสัปดาห์เช่นกัน หลังจากที่สมาชิกพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) คนหนึ่งเสนอต่อสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  แต่ในกรณีของญี่ปุ่นยังไม่ชัดเจนว่าข้อเสนอนี้มีแรงจูงใจมาจากการระบาดของโควิด-19 หรือไม่ เพราะว่าญี่ปุ่นขึ้นชื่อมานานว่ามีวัฒนธรรมในการทำงานหนัก  ชั่วโมงทำงานของคนญี่ปุ่นยาวนานกว่าชาติใด ๆ จนถึงขนาดมีการตั้งชื่อ การเสียชีวิตที่เกิดจากการทำงานมากเกินไปว่า “คาโรชิ” แต่ข้อเสนอของญี่ปุ่น อาจทำให้พนักงานไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุดพิเศษได้

แม้ว่าการทำงานในบางประเทศอาจจะไม่หนักและรุนแรงมาก แต่พนักงานเริ่มเกิดความรู้สึกในวงกว้างมากขึ้นว่าทำงานหนักเกินไปท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนา  และงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ผู้คนทั่วโลกทำงานนานขึ้นขณะทำงานที่บ้านในช่วงปีที่ผ่านมา

งานวิจัยของมูลนิธิสุขภาพจิต (Mental Health Foundation) ในอังกฤษชี้ว่า คนอังกฤษที่ทำงานจากบ้านในช่วงที่มีการระบาด ต้องทำงานล่วงเวลาเฉลี่ย 28 ชั่วโมงต่อเดือนและอังกฤษเป็นประเทศที่มีชั่วโมงทำงานนานสุดในยุโรป

ข้อมูลของสถาบันนักคิด “ออโตโนมี” ของอังกฤษยังชี้ว่า เมื่อดูจากภาครัฐของสกอตแลนด์ การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์จะมีต้นทุนระหว่าง 1,400-2,000 ล้านปอนด์ต่อปี แต่อาจสร้างงานใหม่ในภาครัฐได้ระหว่าง 45,000-59,000 ตำแหน่ง

ออโตโนมียังได้นำสถิติความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอังกฤษกว่า 50,000 บริษัทมาทำการศึกษาที่กว้างกว่านั้นด้วย  ซึ่งพบว่า ภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้ายสุด ธุรกิจอังกฤษส่วนใหญ่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายให้พนักงานทำงานสี่วันต่อสัปดาห์ได้โดยไม่สูญเสียค่าแรง และเมื่อช่วงแรกของวิกฤตไวรัสโคโรนาได้ผ่านไป

นิวซีแลนด์ก็กำลังกระตุ้นให้นายจ้างที่สามารถทำได้ พิจารณาลดวันทำงานให้เหลือ 4 วันต่อสัปดาห์เช่นกันเพื่อเป็นหนทางหนึ่งในการกระตุ้นและทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นกลับมาหลังเกิดการระบาด ในขณะเดียวกันฟินแลนด์ได้สนับสนุนให้ทำงานสี่วันต่อสัปดาห์เช่นกัน โดยทำงาน เพียงวันละ 6 ชั่วโมง

การทำงานต่อสัปดาห์ลดลง ไม่เพียงแต่ทำให้บริษัทสามารถมีเงินใช้จ่ายได้เท่านั้น แต่ยังพบว่าทำให้คนงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

มีตัวอย่างที่โด่งดังมากจากบริษัท ไมโครซอฟต์ แจแปน หลังจากที่บริษัทได้ให้พนักงาน 2,300 คน หยุดงานทุกวันศุกร์เป็นเวลา 1 เดือน พบว่าประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น 40% เมื่อดูจากยอดขายของพนักงานแต่ละคน

บริษัท ยูนิลีเวอร์ก็ได้ประกาศแผนการเพื่อทดลองทำงานสัปดาห์ละ 4 วันในนิวซีแลนด์เช่นกัน โดยให้โอกาสพนักงานลดชั่วโมงทำงานลงประมาณ 20% โดยไม่กระทบค่าจ้าง การทดลองเริ่มจากเดือนธันวาคม 2563 ถึงธันวาคม 2564  เป้าหมายของการทดลองนี้เพื่อวัดอัตราผลผลิต ไม่ใช่เวลา และเพื่อทำความเข้าใจแบบองค์รวมว่า งานและชีวิตเข้ากันได้อย่างไรและเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

เคท โซเพอร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทน เชื่อว่า จะมีการถกเถียงเรื่องสัปดาห์ทำงานที่สั้นลงกันมากขึ้น เนื่องจากมีงานมากขึ้นที่เริ่มใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย และโลกกำลังเผชิญกับ วิกฤตการว่างานมากขึ้น” เพราะการใช้ระบบอัตโนมัติในที่ทำงาน แต่แทนที่จะคร่ำครวญถึงการสูญเสียงาน ควรมองว่านี่เป็นโอกาสที่จะได้ทบทวนแนวคิดทางการเมืองทั้งหมดเกี่ยวกับความมั่งคั่ง และย้ายจากความเข้าใจในอัตลักษณ์ที่มาจากการทำงานเป็นหลัก

ในหนังสือเล่มล่าสุดของศาสตราจารย์โซเพอร์ ชื่อ “Post-growth living : For an alternative hedonism” ได้อ้างถึงคำทำนายของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง จอห์น เมย์นาร์ดเคนส์ในบทความตั้งแต่ทศวรรษ 1930 ว่า ในปี ค.ศ.2030 คนอาจทำงานได้น้อยเพียง 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น

งานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคมของมหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ และโครงการคาร์บอนโลกในอังกฤษ ชี้ว่า มาตรการจำกัดด้านสุขภาพทั่วโลก ได้ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกลดลงมากเป็นประวัติการณ์ในปี 2563

จากข้อมูลทั้งหมดที่อ้างมา สรุปได้ว่า สัปดาห์การทำงานที่สั้นลง เป็นผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจ คนงาน และสิ่งแวดล้อม  รัฐบาลไทยน่าจะลองพิจารณาดูบ้าง  อย่างน้อยก็น่าจะเป็นผลดีต่อการจราจรอย่างแน่นอน และเทรนด์นี้น่าจะทำให้ความฝัน (ลึก ๆ) ของลูกจ้างทุกคน ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นทุกที

Back to top button