พาราสาวะถี

ผ่านพ้นวันแรกไปแล้วกับศึกซักฟอกรัฐบาล ไม่ได้มีอะไรอยู่เหนือความคาดหมาย หลัง สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายเปิดญัตติซักฟอก ทันทีที่มีการกล่าวหาผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจใช้สถาบันมาเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง องครักษ์พิทักษ์เจ้านายก็ทำหน้าที่ทันที ทั้ง ไพบูลย์ นิติตะวัน สิระ เจนจาคะ และ ปารีณา ไกรคุปต์ ดีที่ว่า ชวน หลีกภัย ยืนยันหนักแน่นในหลักการเมื่อผู้นำฝ่ายค้านอ่านญัตติตามตัวอักษรที่ได้ผ่านการวินิจฉัยถือว่าทุกอย่างถูกต้อง


อรชุน

ผ่านพ้นวันแรกไปแล้วกับศึกซักฟอกรัฐบาล ไม่ได้มีอะไรอยู่เหนือความคาดหมาย หลัง สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายเปิดญัตติซักฟอก ทันทีที่มีการกล่าวหาผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจใช้สถาบันมาเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง องครักษ์พิทักษ์เจ้านายก็ทำหน้าที่ทันที ทั้ง ไพบูลย์ นิติตะวัน สิระ เจนจาคะ และ ปารีณา ไกรคุปต์ ดีที่ว่า ชวน หลีกภัย ยืนยันหนักแน่นในหลักการเมื่อผู้นำฝ่ายค้านอ่านญัตติตามตัวอักษรที่ได้ผ่านการวินิจฉัยถือว่าทุกอย่างถูกต้อง

ตรงนี้ต้องชื่นชมไม่เพียงแต่ยึดโยงในหลักการเท่านั้น หากแต่ยังมีการดักคอฝ่ายที่ประท้วงด้วยว่า อย่าทำให้การอภิปรายเกิดความวุ่นวาย เมื่อเทียบชื่อชั้นกันแล้ว คนเหล่านั้นก็ต้องหงอไปโดยปริยาย สำหรับการอภิปรายในวันแรกนั้น มาเริ่มดุเดือดเอาในช่วงบ่ายเมื่อ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ลุกขึ้นอภิปรายแก๊ง 3 ป. แน่นอนว่าขับเน้นไปที่ความผิดพลาด บกพร่องจากการกวาดล้างบ่อนพนันจนเป็นต้นตอการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ภาคตะวันออก

ขณะที่ทีมงานประท้วงก็ยังคงเป็นชุดเดิมโดยเฉพาะกับสิระ ซึ่งก็มีสิ่งที่ทำให้เจ้าตัวต้องโกรธเป็นฟืนเป็นไฟหลังจากไปพูดพาดพิงพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ว่า กลัวเสียหน้าหรือ” ทำให้โดนสวนด้วยถ้อยคำที่เจ็บปวด เห้ย นั่งลง ไอ้นักโทษ” ถือเป็นสีสัน หลังจากที่ใช้เวลาอภิปรายกว่า 3 ชั่วโมงเสร็จสิ้น ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ลุกขึ้นอภิปรายชี้แจงบ้าง มีวลีทองคือ ผมไม่รับเงินชั่ว ๆ เด็ดขาด” แน่นอนว่า ลีลาท่วงทำนองเช่นนี้ยังจะคงได้เห็นกันเนือง ๆ จนกว่าจะเสร็จสิ้น

หากมองในภาพรวมของการอภิปรายหนนี้ ถือว่าฝ่ายค้านได้มีการจัดวางคิวกันเป็นอย่างดีไม่สะเปะสะปะหรือไปแย่งเวลาเพื่อนเหมือนการซักฟอกหนก่อน ขณะที่ความน่าสนใจครั้งนี้คือ หลังการอภิปรายของผู้นำฝ่ายค้าน ตามมาด้วย สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านที่หนก่อนทำหน้าที่ผู้อภิปรายสรุปซึ่งทำได้เป็นอย่างดี มีเสียงชื่นชม แต่รอบนี้มาเป็นผู้นำร่องเบิกโรงชี้ให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะ

ส่วนผู้ที่จะทำหน้าที่ตีหัวเข้าบ้านหรืออภิปรายสรุปในการซักฟอกหนนี้คือ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ก็ถือว่าเป็นอีกคนที่น่าจับตามองในฐานะที่เคยได้ชื่อว่าอดีตดาวสภามาก่อน การทำหน้าที่สรุปเรื่องราวจากการอภิปรายตลอด 4 วัน ชี้ให้ประชาชนเห็นแผลของผู้นำเผด็จการและเสนาบดีที่ถูกซักฟอกนั้น จะเป็นภาพตราตรึงทำให้ประชาชนจดจำหรือนำไปขยายผลต่อนอกสภาได้ เพราะหลังจากที่ฝ่ายค้านอภิปรายสรุปแล้ว จะไม่มีใครสามารถอภิปรายได้อีก

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปถึงตรงนั้น วันนี้ที่คู่ขนานกันมาคือ การที่ 18 แกนนำราษฎรรวมแนวร่วมรวม 24 คนจะถูกยื่นสั่งฟ้องต่อศาล หากพิจารณาจากข้อกล่าวหาและรูปคดีแล้ว ไม่ได้ต่างจาก 4 แกนนำที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำเวลานี้ เหล่านี้คือชะตากรรมที่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลจะเป็นผู้ตัดสินใครก็ก้าวล่วงไม่ได้ และคงไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนึ่งอย่างใดได้ แต่ผลจากสิ่งที่เกิดขึ้น มันจะนำไปสู่การกำหนดกระบวนการเคลื่อนไหวขององคาพยพดังกล่าวต่อไป

สัญญาณที่ส่งมาจาก “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่ยอมรับไม่สามารถควบคุมม็อบได้จากเหตุการณ์วันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นั่นเป็นภาพเตือนว่า หากกลุ่มแกนนำทั้งหมดถูกตัดสินให้ต้องจำคุกระหว่างรอดำเนินคดี การเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรนับจากนี้ไป จะเหลือแกนนำไม่กี่คนหรือแทบจะไม่เหลือเลย ซึ่งนั่นถือเป็นอันตราย เท่ากับว่า ขอบเขตของการเคลื่อนไหวคือการชุมนุมโดยสันติเหมือนอย่างที่เคยทำได้ดีมาโดยตลอดได้ถูกทำลายลงไป

สถานการณ์ข้างหน้าจึงมองไม่ออกว่า แล้วจะเดินกันต่อไปอย่างไร การบังคับใช้กฎหมายกับคนหมู่มากอดีตที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถทำได้ ยิ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองขนาดใหญ่ ปลายทางเรื่องความรุนแรงจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะหนีพ้น สิ่งที่ระมัดระวังกันได้อย่างดีก่อนหน้านี้คือโรคแทรกซ้อนระหว่างการชุมนุม จะกลายเป็นเรื่องยากที่จะทำได้เหมือนเดิม ที่ไม่อยากคาดคิดคือการนองเลือดจะเกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่

เหตุการณ์ทางการเมืองที่ว่าด้วยเรื่องชุมนุมเมื่อเดินทางถึงจุดแตกหัก มักจะจบลงด้วยการบาดเจ็บ ล้มตายแทบทุกครั้ง จึงได้แต่หวังว่ามันจะไม่เดินไปถึงจุดนั้น แน่นอนว่า เหตุและปัจจัยที่มันจะล้อไปด้วยกันในสถานการณ์ยามนี้คือ ผลจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา การลงมติที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีการนัดชุมนุม หากไม่มีรัฐมนตรีรายใดติดบ่วงกังขาจากประชาชน ทุกอย่างก็อาจจะเรียบร้อย ม็อบก็หาเหตุมาจุดชนวนไม่ได้

แต่ในทางกลับกัน ถ้าฝ่ายค้านมีหลักฐานเด็ดแล้วรัฐมนตรีบางคนชี้แจงไม่ได้ อธิบายไม่เคลียร์ แต่เสียงข้างมากยังอุ้มชูกันต่อไป นั่นจะกลายเป็นตัวจุดชนวนสำคัญ ไม่เพียงเท่านั้น อีกด้านกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลแต่แอบอ้างเรื่องอื่นมาเป็นเกราะกำบัง ก็เริ่มจะแสดงท่าทีที่เหมือนเป็นการส่งซิกพร้อมรบ รอเพียงสัญญาณจากฝ่ายที่ตัวเองถือหาง งานนี้ต้องรอวัดใจกันแล้วว่าจะมีพวกใจอำมหิตใช้ชีวิตคนมาเป็นเครื่องสังเวยการอยู่ในอำนาจหรือไม่

ทั้งที่ความจริงแล้ว การต่อสู้ในยุคสมัยใหม่ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจชอบอ้างตลอดเวลาว่าทุกอย่างต้องเกิดความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนกระบวนทัศน์ต่อความเปลี่ยนแปลงนั้นหาได้เป็นจริงในทางปฏิบัติไม่ มิหนำซ้ำ ยังมีความพยายามที่จะผลิตซ้ำชุดความคิดของกระบวนทัศน์เก่าเพื่อสร้างความมั่นคงต่อฐานอำนาจของตัวเอง โดยไม่แยแสต่อข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น เมื่อสองแนวความคิดสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ในบริบทที่ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว จึงไม่มีใครบอกได้ว่าแล้วอนาคตของบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร

Back to top button