พาราสาวะถี

อ่านสัญญาณจากการให้สัมภาษณ์ของ ชวน หลีกภัย แนวโน้มการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะไม่จบในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้มีความเป็นไปได้มากทีเดียว ไม่ใช่เหตุผลเพราะฝ่ายค้านยังใช้เวลาไม่ครบตามที่ได้กำหนดกันไว้คือ 42 ชั่วโมง แต่เป็นเพราะมีการประท้วงกันโดยใช้เวลาพอสมควร ขณะที่รัฐมนตรีผู้ตอบคำถามก็ใช้เวลากันไปไม่น้อย ดังนั้น กรอบเวลาที่กำหนดไว้ 4 วันจึงไม่น่าจะเพียงพอ ประกอบกับในวันที่นัดลงมติคือเสาร์นี้ ก็มีการนัดชุมนุมของกลุ่มราษฎรด้วย


อรชุน

อ่านสัญญาณจากการให้สัมภาษณ์ของ ชวน หลีกภัย แนวโน้มการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะไม่จบในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้มีความเป็นไปได้มากทีเดียว ไม่ใช่เหตุผลเพราะฝ่ายค้านยังใช้เวลาไม่ครบตามที่ได้กำหนดกันไว้คือ 42 ชั่วโมง แต่เป็นเพราะมีการประท้วงกันโดยใช้เวลาพอสมควร ขณะที่รัฐมนตรีผู้ตอบคำถามก็ใช้เวลากันไปไม่น้อย ดังนั้น กรอบเวลาที่กำหนดไว้ 4 วันจึงไม่น่าจะเพียงพอ ประกอบกับในวันที่นัดลงมติคือเสาร์นี้ ก็มีการนัดชุมนุมของกลุ่มราษฎรด้วย

ถ้าจับอาการของขบวนการสืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะผู้นำเผด็จการนั้นย่อมกลัวการเมืองนอกสภามากกว่าการเมืองในสภา เพราะตลอดระยะเวลาของการอภิปรายไม่ไว้วางใจยังไม่เห็นมวยคู่เอกอย่างที่ฝ่ายค้านโพนทะนาไว้ก่อนหน้านี้ รวมทั้งไม่มีหลักฐานเด็ดอะไรชนิดที่คุยโม้โอ้อวดว่าจะทำให้ท่านผู้นำช็อกหรือถึงขั้นน็อคได้ เมื่อไร้แรงกดดันจากสภาที่ขบวนการอำนาจสืบทอดสามารถใช้กล้วยกวาดต้อนจนกุมเสียงข้างมากได้อยู่หมัดแล้ว จึงต้องหันไปให้ความสำคัญกับกลุ่มต่อต้านม็อบกลางท้องถนนมากกว่า

เหตุการณ์วันที่ 13 กุมภาพันธ์เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าการใช้กำลังกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น ไม่ว่าจะอ้างความชอบธรรมอย่างไร โอกาสที่จะได้รับเสียงสนับสนุนก็ยาก มิหนำซ้ำ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ยังถูกมองว่าทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ ด้วยเหตุนี้หากจะมีการเลื่อนลงมติออกไปอีกหนึ่งวันเพื่อเลี่ยงม็อบที่นัดชุมนุม ก็เสมือนการถอนฟืนออกจากไฟไปชั่วขณะหนึ่ง ไม่เพียงเท่านั้น การที่มีการเลื่อนนัดสั่งฟ้อง 18 แกนนำราษฎรออกไปจากวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็เป็นการแสดงอาการถอยของฝ่ายกุมอำนาจอีกด้านหนึ่ง

เป็นไปได้อย่างไรที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเพิ่งนำสำนวนการสอบสวนแล้วเสร็จมาส่งให้อัยการในเช้าวันที่นัดผู้ต้องหามาฟังคำสั่งคดี ถ้าอัยการรับลูกด้วยการรับสำนวนเช้าแล้วสั่งคดีในช่วงบ่ายหมายถึงการสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด โดยต้องนำตัวไปฟ้องต่อศาลรูปแบบของคดีก็จะออกมาไม่ต่างจาก 4 แกนนำราษฎรที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเวลานี้ เพราะผู้ต้องหาทั้ง 18 คน ถูกตั้งข้อหาในความผิดเดียวกันกับทั้งสี่คนและเป็นเหตุการณ์เดียวกันด้วย ผลแห่งคดีย่อมเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

ดังนั้น การเลือกที่จะยอมถูกด่าในส่วนของตำรวจรวมทั้งกระบวนท่าของอัยการ จึงเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่ากระบวนการเหล่านี้ผ่านกลไกการสั่งการจากฝ่ายกุมอำนาจ เพราะไม่อยากเห็นความวุ่นวาย สถานการณ์รุนแรงในจังหวะที่คาบเกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างไรก็ตาม แม้จะพยายามไม่เปิดศึกสองด้าน โดยที่เบาใจต่อกระบวนการในสภาว่าไม่น่าจะทำอะไรให้ระคายผิว แต่ในวันนี้ (19 ก.พ.) ม็อบราษฎรก็นัดหมายจะเปิดการอภิปรายนอกสภาถลกหนังเผด็จการสืบทอดอำนาจคู่ขนานไปกับสภาผู้แทนราษฎรด้วย

เมื่อเป็นเช่นนั้น ความน่าสนใจจะถูกเบนมาที่เวทีของกลุ่มผู้ชุมนุมทันที เนื่องจากการซักฟอกในสภากลายเป็นว่าฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้ไม่สมกับราคาคุย จึงต้องมาดูการอภิปรายของคนรุ่นใหม่แทน ที่จะถูกจับตามองเป็นพิเศษคงเป็นการอภิปรายในประเด็นเกี่ยวกับการใช้สถาบันมาเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้องที่ฝ่ายค้านกล่าวหาผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ซึ่งในสภาอาจจะมีข้อจำกัดหลายอย่าง แต่นอกสภาสามารถอภิปรายใส่กันได้เต็มที่

หากใครได้ติดตามการอภิปรายในสภา จะเห็นได้ว่าประเด็นอันเกี่ยวข้องกับสถาบันนั้น ลิ่วล้อสอพลอของพรรคสืบทอดอำนาจได้ลุกขึ้นประท้วงจนน่ารำคาญ เป็นการประท้วงที่ไร้เหตุผล การกล่าวอ้างสถาบันเป็นการกระทำที่เห็นได้ชัดว่านำมาปกป้องตนเองและพวกพ้อแล้วทำร้ายคนอื่น พฤติกรรมเช่นนี้ไม่ได้เป็นการปกป้องสถาบัน แต่นำเอาสถาบันมาแอบอ้างซึ่งไม่ควรจะเกิด ถ้ามีจิตสำนึกที่ดีจริงผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจควรต้องตักเตือนส.ส.ของพรรคแกนนำรัฐบาลด้วย

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรที่จะเกิดขึ้นในช่วงสองวันนี้ อาจจะกลายเป็นตัวชี้วัดทิศทางสถานการณ์ทางการเมืองที่จะเดินกันในระยะต่อไป ฝ่ายกุมอำนาจย่อมอ้างสถานการณ์โควิด-19 มาเป็นตัวด้อยค่าความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม แต่ฝ่ายชุมนุมย่อมแสดงท่าทีให้เห็นว่าการนัดหมายรวมตัวได้วางมาตรการป้องกันเรื่องโรคระบาดอย่างรัดกุม ผสมกับความยากลำบากของประชาชนจำเป็นที่จะต้องกดดันรัฐบาลเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง

โดยเป้าหมายของแกนนำตามที่ได้ประกาศมาตั้งแต่ปลายปี การชุมนุมรอบนี้ไม่มีลดระดับแต่กลับจะเพิ่มความเข้มข้นในการเรียกร้องและสร้างแรงกดดัน นั่นหมายความว่า พร้อมที่จะชนในทุกสถานการณ์ ยิ่งอยู่ในภาวะที่แกนนำถูกเล่นงานทางกฎหมายโดยใช้สารพัดข้อกล่าวหา มันก็เท่ากับถูกบีบให้ต้องเดินเหมือนจนตรอก ซึ่งภาวะของคนจนตรอกนั้นก็รู้กันอยู่ว่าถ้าได้สู้แล้วผลจะเป็นอย่างไร จึงเป็นโจทย์ใหญ่และยากของฝ่ายปฏิบัติจากที่เคยเผชิญหน้ากับม็อบในปีที่ผ่านมา

ภาพสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนและการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ฟ้องด้วยภาพของคนยากคนจน ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไปตากแดดเข้าคิวรอเพื่อลงทะเบียนโครงการเราชนะ จนเกิดเป็นคำถามตัวโตว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจไม่มีปัญญาที่จะหาวิธีการที่จะทำให้คนไร้โอกาส ไม่มีสมาร์ตโฟนเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือได้ง่ายและดีกว่านี้หรือ หากมีใครตายมาซักคนจากการดั้นด้นเพื่อเข้าถึงการช่วยเหลือนี้ถามว่ามันคุ้มกันหรือไม่

ไม่ได้มองภาพเกินเลยไป ลองนึกถึงกรณีสองแม่ลูกยายวัยกว่า 80 ปีและลุงอายุ 60 กว่าปีที่จังหวัดกำแพงเพชร พากันเดินจากบ้านระยะทาง 35 กิโลเมตรเพื่อมาลงทะเบียนโครงการดังว่า ถ้าคนใดคนหนึ่งเกิดเป็นอะไรขึ้นมา จะเกิดกระแสดราม่าหรือไม่ การไม่แจกเงินสดด้วยสารพัดเหตุผล จนกระทั่งไม่ยอมเปลี่ยนวิธีการเข้าถึงโครงการช่วยเหลือจะด้วยกลัวเสียหน้าหรืออะไรก็ตามแต่

ถามว่าจะเอาชนะใครและเพื่ออะไร เมื่อนี่คือการช่วยเหลือไม่ใช่การให้ทาน ก็ควรให้มันง่ายต่อผู้รับมีเสียงชื่นชมมากกว่าแจกเงินแล้วโดนด่าไม่ใช่หรือ และที่บอกว่าคนที่เข้าไม่ถึงสมาร์ตโฟนเป็นคนส่วนน้อย ภาพหน้าธนาคารกรุงไทยที่ประจานไปทั่วประเทศนั้น คือหลักฐานยืนยันได้ว่าน้อยจริงหรือไม่ และความจริงหากตั้งใจจะช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง แม้จะมีคนด้อยโอกาสแค่ 1 คนก็ถือว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขให้ไม่ใช่เรื่องที่จะมาอ้างว่าต้องยึดเอาคนส่วนใหญ่ เพราะนั่นไม่ใช่เสียงสภาที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์

Back to top button