TU ผนึก “The Nature Conservancy” ติดตั้งระบบตรวจสอบจัดหาทูน่า สร้างความยั่งยืนอุตสาหกรรม

TU ผนึก "The Nature Conservancy" ติดตั้งระบบตรวจสอบจัดหาทูน่า ภายในปี 2568 หวังสร้างความยั่งยืนอุตสาหกรรม


บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ร่วมมือกับองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติระดับโลก The Nature Conservancy ประกาศเจตนารมณ์ในการทำงานด้านความโปร่งใสของซัพพลายเชนในการจัดหาปลาทูน่าทั่วโลก เพื่อดูแลระบบนิเวศน์ทางทะเล เชื่อว่าการร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถผลักดันอุตสาหกรรมให้ยั่งยืนขึ้นได้ โดยเน้นประเด็นการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม

โดย TU ในฐานะผู้นำธุรกิจอาหารทะเลระดับโลก ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ จะร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงขององค์กร The Nature Conservancy เพื่อติดตั้งระบบตรวจสอบซัพพลายเชนการจัดหาปลาทูน่าภายในปี 2568 ซึ่งรวมถึงการเริ่มใช้ระบบดิจิตัลในการตรวจสอบเรือประมงของคู่ค้าในซัพพลายเชน การติดตั้งกล้องวิดีโอ จีพีเอส และระบบเซนเซอร์ เพื่อติดตามผู้คนและกิจกรรมต่างๆ บนเรือได้โดยอัตโนมัติ

ด้านเจนนิเฟอร์ มอร์ริส ประธานกรรมการ องค์กร The Nature Conservancy กล่าวว่า “ทางเรารู้สึกตื่นเต้นเพราะความร่วมมือครั้งนี้มีศักยภาพที่จะพลิกโฉมการทำงานด้านความยั่งยืนทั้งอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋อง ผู้บริโภคและผู้ค้าปลีกเลือกซื้อสินค้าที่มีความยั่งยืน นับเป็นการส่งสัญญาณให้กับผู้ผลิต และทาง The Nature Conservancy หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประกาศเจตนารมณ์ในครั้งจะช่วยเร่งการใช้ระบบดิจิตัลในการตรวจสอบความโปร่งใสในการประมงทั่วโลก”

ทั้งนี้ การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ส่งผลลบต่างๆ ตั้งแต่การจับปลาที่มากเกินไป ในขณะที่จำนวนปลาทูน่าลดน้อยลง รวมถึงสัตว์ทะเลต่างๆ ที่เสี่ยงในการถูกจับติดตาข่ายขึ้นมาด้วย เช่น ปลาฉลามและเต่าทะเล หากไม่มีการตรวจสอบจะนำไปสู่การสูญเสียรายได้รับหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่ระดับชุมชนชาวประมงไปจนถึงระดับรัฐบาล

ขณะที่ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TU กล่าวว่า “ไทยยูเนี่ยนให้ความสำคัญกับการทำงานด้านความยั่งยืนอย่างสม่ำเสมอมาโดยตลอด  เราเริ่มต้นจากกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของเราที่เรียกว่า SeaChange® ต่อยอดไปสู่การร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เช่น The Nature Conservancy เราตระหนักดีว่าความเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ แต่เราต้องผสานความร่วมมือในการกำหนดทิศทางในอนาคต ความเปลี่ยนแปลงนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากเพียงคำพูดสวยหรูเท่านั้น ผู้นำองค์กรต่างๆ จะต้องลงมือปฏิบัติจริงเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ ผมเชื่อว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างไทยยูเนี่ยนและ The Nature Conservancy จะสามารถสร้างอนาคตที่ยั่งยืนได้ ด้วยการตรวจสอบผ่านระบบดิจิตัลที่เพิ่มมากขึ้นและความโปร่งใสที่จะเกิดขึ้นทั้งอุตสาหกรรม”

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันคณะกรรมาธิการประมงแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนกลาง (Western Central. Pacific Fisheries Commission) ยังคงระงับสังเกตุการณ์เรือประมงที่จับด้วยเครื่องมืออวนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การตรวจสอบบนเรือประมงมีไม่เพียงพอ การประกาศเจตนารมณ์และความร่วมมือในครั้งนี้ถึงมีนัยยะสำคัญ  ในระหว่างสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกนั้น การประมงยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง (มีงานวิจัยที่เผยว่าสถานการณ์โควิด-19 นั้นทำให้การประมงลดลงเพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น) แต่ความต้องการในการซื้อผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องนั้นเพิ่มขึ้นทั่วโลก  ข้อมูลโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติยังชี้ให้เห็นว่า ราคาขายส่งปลาทูน่านั้นเพิ่มขึ้น 41 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และบริษัทอาหารต่างๆ ทั่วโลกยังรายงานยอดขายที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวในปี 2563

ขณะเดียวกัน มาร์ค ซิมริง ผู้อำนวยการโครงการการประมงขนาดใหญ่ องค์กร The Nature Conservancy กล่าวว่า “การตรวจสอบด้วยระบบดิจิตัลจะทำให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลนั่นได้รับการจัดหาด้วยวิธีที่ยั่งยืนถูกต้องตามกฎหมาย และไม่มีการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม การตรวจสอบที่ได้มาตรฐานจะนำมาซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่มีความสำคัญ ซึ่งปัจจุบัน การที่เราไม่มีข้อมูลเหล่านี้ ทำให้บังคับใช้กฎหมายในภาคประมงเป็นไปได้ยาก การร่วมมือกับบริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมจะช่วยอุดช่องโหว่ดังกล่าวนี้ได้ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างไทยยูเนี่ยนและ The Nature Conservancy มีโอกาสที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระดับโลกได้”

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ TU และ The Nature Conservancy จะทำงานกับรัฐบาล หน่วยงานผู้กำกับดูแล และซัพพลายเชน เพื่อที่จะผลักดันให้เกิดการตรวจสอบทางทะเลของซัพพลายเชนการจัดหาปลาสแปรต แมคเคอเรล เฮอร์ริ่ง และไวทิ่ง ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ภายในปี 2568

นอกจากนี้ TU จะใช้ระบบตรวจสอบเรือประมงที่ใช้เครื่องมืออวนในซัพพลายเชนที่อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการทำลายสิ่งแวดล้อมภายในปี 2568 ซึ่งเครื่องมือที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นอุปกรณ์ลอยน้ำล่อปลาทะเล ซึ่งอาจจะทำให้สัตว์ต่างๆ ติดอวนมาด้วย เช่นเต่าทะเล ซึ่งมีผลกระทบต่อประการัง

Back to top button