‘หุ้นรับอานิสงส์ฤดูร้อน’

ด้วยผลิตภัณฑ์ความต้องการในช่วงหน้าร้อนอาจเป็นผลบวกต่อบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้อง โดยมีการจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายบริษัท


เส้นทางนักลงทุน

ในช่วงนี้ไปทิศทางไหนก็จะได้ยินคำว่า “ร้อน” จากปากประชาชน ซึ่งก็ไม่แปลกเนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และทางกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าจะร้อนถึงกลางเดือนพฤษภาคม และอุณหภูมิอาจร้อนกว่าปีที่แล้ว ปริมาณฝนรวมเฉลี่ยน้อยกว่าปกติ

ทั้งนี้ หน้าร้อน… เป็นช่วงเวลาที่สภาพอากาศร้อนอบอ้าว ก็ต้องหาสิ่งดับกระหายคลายร้อน เพราะฉะนั้น ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมบรรดาเครื่องดื่มจึงเป็นอันดับแรก ๆ สำหรับแก้กระหาย เพราะได้จิบแล้วมีการเรียกคืนพลังความสดชื่นยามหน้าร้อนกลับคืนมาไม่น้อย ตามมาด้วยเครื่องทำความเย็นเพื่อช่วยในการบรรเทาความร้อน ไม่ว่าจะเป็น แอร์ พัดลม เป็นต้น

ดังนั้น ด้วยผลิตภัณฑ์ความต้องการในช่วงหน้าร้อนอาจเป็นผลบวกต่อบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้อง โดยมีการจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายบริษัท

สำหรับกลุ่มเครื่องดื่ม ถือเป็นกลุ่มต้องมาอันดับแรกช่วงอากาศร้อน โดยคาดหุ้นที่จะได้รับประโยชน์ได้แก่ SAPPE, ICHI, OISHI, TACC, HTC

บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE ยังคงมีความนิยมในส่วนของน้ำ “เซปเป้ บิวติดริ๊ง” ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิง นอกจากนี้ยังมีเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่เน้นเรื่องความสวยความงาม เช่น เพียว คอฟฟี่

บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI ที่มีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มหลากหลาย อย่างน้ำดื่มกลุ่มชาเขียว เช่น อิชิตัน กรีนที, เย็น เย็น, และยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับคนรักสุภาพที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ อย่างน้ำดื่ม PH PLUS 8.5 ผสมวิตามิน B, น้ำดื่มผสมวิตามิน C, E เป็นต้น

บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI ซึ่งทำธุรกิจทั้งร้านอาหารและเครื่องดื่มที่รู้จักกันดี

บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TACC มีตู้ในเซเว่นอีเลฟเว่นทุกขาสาในประเทเทศไทย พวกเครื่องดื่มชาทั้งหลายในตู้กด

ต่อมากลุ่มแอร์และพัดลม ถือเป็นกลุ่มที่มีความต้องการเช่นเดียวกัน โดยคาดหุ้นที่จะได้รับประโยชน์ ได้แก่ SINGER, KOOL

บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER เนื่องจากมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่ทำความเย็น คือตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสินค้าสำหรับร้านค้า เช่น ตู้แช่แข็ง ตู้แช่เครื่องดื่ม ตู้แช่เบียร์ ตู้แช่ไวน์ ตู้แช่เบเกอรี่ และเครื่องทำน้ำหวานเกล็ดหิมะ เป็นต้น นี่เป็นเพียงตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องไปในทิศทางช่วงฤดูร้อนว่าอาจมีความต้องการมากขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มยอดขาย

บริษัท มาสเตอร์คูล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ KOOL เนื่องจากมีรายได้หลักถึง 79% มาจากพัดลมไอเย็น ดังนั้นเมื่อเข้าฤดูร้อน ความต้องการพัดลมไอเย็นก็มีมากขึ้น ช่วยเพิ่มยอดขายให้กับบริษัทมากกว่าปกติ ถือเป็นช่วงไฮซีซั่นนั่นเอง

โดยทั้งสองกลุ่มและสองสินค้าดังกล่าวเมื่อเข้าฤดูร้อนจะเป็นช่วงไฮซีซั่น เพราะยอดขายจะพุ่งจากความต้องการซื้อของประชาชน

สำหรับหุ้นข้างต้นนอกเหนือจากมีการคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากช่วงฤดูร้อนแล้ว สิ่งที่น่าสนใจต่อมาเมื่อไปดูบทวิเคราะห์จากนักวิเคราะห์ยังมองแนวโน้มของบริษัทคงเติบโตไปในทิศทางที่ดี

อย่าง SAPPE ประมาณการเดิมคาดกำไรปี 2564 อยู่ที่ 425 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 17% จากงวดเดียวกันของปีก่อน) และในปี 2565 อยู่ที่ 470 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 10% จากงวดเดียวกันของปีก่อน) ตามลำดับ จากการคาดรายได้ปี 2564-2565 เพิ่มขึ้นปีละ 9% จากบริษัทปรับกลยุทธ์ทางการตลาดมุ่งเน้น go mass มาก และพัฒนาออกสินค้าใหม่เพื่อสุขภาพตอบรับกระแสผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

ต่อมา ICHI มีการตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโต 6,200 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 22% จากงวดเดียวกันของปีก่อน) โดยหลัก ๆ มาจากรายได้ในประเทศเติบโตจาก 1) กลุ่มเครื่องดื่มน้ำผสมวิตามินรับรู้รายได้เต็มปี วางเป้าหมายรายได้ปีนี้ 1,000 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาเริ่มวางจำหน่ายช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เป็นต้นมา มีรายได้ไตรมาสละ 100 ล้านบาท, มีสินค้าใหม่เครื่องดื่ม PH+8.5 ผสมสารสกัดใบแปะก๊วย วางจำหน่ายสินค้าเดือน เม.ย. 2564 และการปรับ SKU ใหม่ขนาดเล็กลงเข้าตลาด Traditional Trade เพิ่มขึ้น

2) ธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) รายใหม่ 2 ราย จากปีที่ผ่านมามีหลัก ๆ 1 ราย โดยรายใหม่ได้แก่ ต่างประเทศกลุ่ม Asahi ที่จำหน่ายสินค้าที่ประเทศฟิลิปปินส์เป็นหลัก และรายใหญ่ในประเทศ และ 3) ธุรกิจเดิมเครื่องดื่มกลุ่มชาเขียวและเย็น เย็น บริษัทคาดรายได้เพิ่มขึ้น 2-3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

เช่นเดียวกับ TACC มองว่าแนวโน้มกำไรสุทธิปี 2564 ดีขึ้น หากมีความชัดเจนดีล M&A โดยในไตรมาส 1/2564 จะมีปัจจัยบวกจากความชัดเจนดีล M&A ซึ่งมีการคาดจะเป็นบริษัทที่เข้ามาช่วยหนุนประสิทธิภาพในการผลิตกลุ่มเครื่องดื่ม และหากดีลสำเร็จ จะสามารถรับรู้รายได้ได้ทันทีในไตรมาส 2/2564 ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับสูง เบื้องต้นทางนักวิเคราะห์คงกำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 236 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 25% จากงวดเดียวกันของปีก่อน)

เหมือนกับ SINGER มีการประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 ที่ 637 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 44% จากงวดเดียวกันของปีก่อน) จากสินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 50% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะสินเชื่อ C4C ที่ขยายตัวสูงถึง 86% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ NPLs ลดลงเป็น 3.4% จากปี 2563 ที่ 4.4% ตามสัดส่วนสินเชื่อ C4C (สินเชื่อที่มี NPLs ต่ำเพียง 0.4%) เพิ่มขึ้นเป็น 65% จากปี 2563 ที่ 52% และทำให้ต้นทุนเครดิตลดลงจากปีก่อนลดลง 10%

ท้ายสุดในระยะสั้นหุ้นข้างต้นมักได้รับประโยชน์จากช่วงฤดูร้อนด้วยยอดขายที่พุ่งขึ้น!!!

Back to top button