“ทริสฯ” คงเรตติ้งองค์กร-หุ้นกู้ CPNREIT ที่ “AA” สะท้อนสินทรัพย์มีคุณภาพสูง

"ทริสฯ" คงเรตติ้งองค์กร-หุ้นกู้ CPNREIT ที่ "AA" สะท้อนสินทรัพย์มีคุณภาพสูง


บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท หรือ CPNREIT ที่ระดับ “AA” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ”

ขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันมูลค่า 2 พันล้านบาทครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2567 (CPNREIT243A) และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันมูลค่า 1.5 พันล้านบาทครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2569 (CPNREIT263A) ที่ระดับ “AA” ด้วยเช่นกัน โดยทรัสต์ฯนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปชำระคืนหนี้

โดยอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้สะท้อนถึงสินทรัพย์ของทรัสต์ฯ ซึ่งมีคุณภาพสูง ตลอดจนกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากรายได้ค่าเช่าและบริการตามสัญญา และนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงโอกาสในการเติบโตในอนาคตของทรัสต์ฯ จากสินทรัพย์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งที่ระดับ “AA” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ด้วย

สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิต”Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งต่อความล่าช้าในการนำสินทรัพย์ใหม่เข้าทรัสต์ฯ รวมถึงแผนเพิ่มทุนซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และยังส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์รวมสูงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ CPNREIT เป็นทรัสต์ฯที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนจำนวน 6.8 หมื่นล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2563 และมีพื้นที่ให้เช่ารวม 326,123 ตารางเมตร (ตร.ม.) ประกอบด้วย พื้นที่ให้เช่าของศูนย์การค้า 5 แห่งจำนวน 213,886 ตร.ม. และพื้นที่ให้เช่าของอาคารสำนักงาน 4 แห่งจำนวน 112,237 ตร.ม. นอกจากนี้ ทรัสต์ฯ ยังลงทุนในโรงแรมฮิลตัน พัทยาซึ่งมีห้องพัก 304 ห้องอีกด้วย

โดยในปี 2563 รายได้ค่าเช่าและบริการของทรัสต์ฯ ลดลง 21% จากปี 2562 เป็น 4 พันล้านบาท และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลง 24% จากปี 2562 เป็น 3.3 พันล้านบาท เนื่องจากทรัสต์ฯ ยกเว้นค่าเช่าและให้ส่วนลดค่าเช่าแก่ผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมถึงรายได้ค่าเช่าผันแปรที่ขาดหายไปของโรงแรมฮิลตัน พัทยา

ขณะที่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทรัสต์ฯ ประสบความสำเร็จในการนำศูนย์การค้าเซ็นทรัล มารีนา และเซ็นทรัล ลำปางเข้ากองทรัสต์ฯ  ด้วยมูลค่าของสินทรัพย์รวมเท่ากับ 5.7 พันล้านบาท ซึ่งเดิมได้กำหนดไว้ในช่วงเดือนเมษายน 2563 ทำให้พื้นที่ให้เช่าของทรัสต์ฯ เพิ่มขึ้น 30,656 ตร.ม. โดยทรัสต์ฯ ใช้แหล่งเงินทุนจากการเพิ่มทุนทั้งหมด นอกจากนี้ ทรัสต์ฯ วางแผนจะนำศูนย์การค้าอีก 2 แห่งซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์ที่คาดการณ์ไว้ที่ 1.73 หมื่นล้านบาทเข้ากองทรัสต์ฯ ภายในสิ้นปีนี้อีกด้วย หากการนำสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์ฯ และเพิ่มทุนสำเร็จตามที่คาดการณ์ไว้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์รวมของทรัสต์ฯจะต่ำกว่า 35%

อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งประเมินว่าทรัสต์ฯ จะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2563 แหล่งเงินทุนของทรัสต์ฯ ประกอบด้วยเงินสดจำนวน 1.2 พันล้านบาท และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ มูลค่า 1.1 พันล้านบาท นอกจากนี้ ทรัสต์ฯ ยังมีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้ซึ่งไม่สามารถยกเลิกได้จำนวน 2.1 พันล้านบาทและสามารถยกเลิกได้จำนวน 4.2 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทรัสต์ฯ มีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2564 จำนวน 1.09 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารจำนวน 5.5 พันล้านบาท และหุ้นกู้จำนวน 5.4 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ทรัสต์ฯ ได้ชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาวจำนวน 5.4 พันล้านบาทซึ่งครบกำหนดชำระในไตรมาสแรกของปี 2564 ไปแล้ว รวมถึงออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้มูลค่า 2.7 พันล้านบาทซึ่งครบกำหนดชำระในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อีกด้วย การสนับสนุนที่ดีจากผู้สนับสนุนทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่าทรัสต์ฯ จะไม่ประสบปัญหาในการจัดหาแหล่งเงินทุนหรือจ่ายชำระคืนภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระ และยังคาดว่าทรัสต์ฯ จะมีวงเงินกู้สำรองที่เพียงพอเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวด้วย

สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งต่อความล่าช้าในการนำสินทรัพย์ใหม่เข้าทรัสต์ฯ รวมถึงแผนเพิ่มทุนซึ่งส่งผลให้ภาระหนี้ยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะยังคงส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของทรัสต์ฯ ในปี 2564 ต่อไป

โดยปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของทรัสต์ฯ อาจปรับลดลงหากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อเป็นไปในทิศทางที่ทำให้ทริสเรทติ้งเชื่อว่าผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของทรัสต์ฯ ปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในทางตรงกันข้าม แนวโน้มอันดับเครดิตของทรัสต์ฯ อาจปรับเป็น “Stable” หรือ “คงที่” หากโครงสร้างเงินทุนของทรัสต์ฯ ปรับดีขึ้นโดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์รวมต่ำกว่า 35% อย่างต่อเนื่อง

Back to top button