พาราสาวะถี

การเลือกที่จะไม่ตอบโต้หรือพูดถึงของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ต่อคำถามจากนักข่าวประเด็น โทนี่ วูดซัม หรือ ทักษิณ ชินวัตร พูดผ่านคลับเฮาส์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลไทยต่อการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ทั้งประเด็นการจัดซื้อวัคซีนและความสามารถในการบริหารประเทศนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะหากย้อนกลับไป จะมีก็แต่กองเชียร์ชนิดไม่ลืมหูลืมตาเท่านั้นที่สะใจ แต่ในแง่ของเนื้อหาสาระหรือข้อเท็จจริงแล้วมันต่างกันอย่างสิ้นเชิง


อรชุน

การเลือกที่จะไม่ตอบโต้หรือพูดถึงของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ต่อคำถามจากนักข่าวประเด็น โทนี่ วูดซัม หรือ ทักษิณ ชินวัตร พูดผ่านคลับเฮาส์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลไทยต่อการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ทั้งประเด็นการจัดซื้อวัคซีนและความสามารถในการบริหารประเทศนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะหากย้อนกลับไป จะมีก็แต่กองเชียร์ชนิดไม่ลืมหูลืมตาเท่านั้นที่สะใจ แต่ในแง่ของเนื้อหาสาระหรือข้อเท็จจริงแล้วมันต่างกันอย่างสิ้นเชิง

จะว่าไปสิ่งที่คนแดนไกลพูดนั้นไม่ได้มีอะไรที่ต่างไปจากคนไทยโดยส่วนใหญ่มองเห็น ว่าด้วยกำพืดของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เป็นข้าราชการมาทั้งชีวิต และเป็นข้าราชการทหาร อยู่กับเรื่องระเบียบวินัย เรื่องการสั่งการเป็นส่วนใหญ่ เป็นนักใช้งบประมาณมากกว่าเป็นนักหารายได้เพื่อมาอุดหนุนงบประมาณ จึงไม่เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ การที่สถาปนาตัวเองเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ความเจ็บปวดที่อดีตนายกฯ จี้ใจดำก็คือ สิ่งที่ช่วยท่านผู้นำประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจคือการแจกขันในช่วงสงกรานต์ของพี่ใหญ่ตัวเองนั่นไง

ไม่เพียงเท่านั้น ที่เห็นตรงกันเหมือนกับทักษิณกับตลอดระยะเวลาเกือบ 7 ปีที่ผ่านมาก็คือ ความไม่เอาไหนของคนที่เป็นผู้นำประเทศ พยายามที่จะดันทุรังโชว์ศักยภาพในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งที่ตัวเองไม่เข้าใจ ท่องตามสคริปต์และข้อมูลที่บรรดาที่ปรึกษาทั้งหลายยัดใส่มือมาให้ เมื่อไม่เข้าใจจึงต้องหาทีมงานที่เข้าใจในเรื่องต่าง ๆ มาพูดให้ฟัง แล้วจึงไปสั่งการอีกที คงไม่มีใครเถียงกับการปรามาสของคนแดนไกลที่ว่า “เอาทหารมาทำเรื่องเศรษฐกิจนั้นไม่ได้หรอก”

ความจริงแล้วผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ น่าจะเข้าใจว่าตัวเองคิดผิดตั้งแต่หลุดประโยคบริหารประเทศไม่เห็นยากตรงไหนแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นบทพิสูจน์กึ๋นของคนเป็นผู้นำตลอดระยะเวลาที่ตัวเองครองอำนาจมานั้น ก็คือข้อแนะนำโดยเฉพาะบรรดาหนังสือทั้งหลายแหล่ที่บอกให้รัฐมนตรีไปอ่าน เป็นความพยายามลอกการบ้านเพื่อน แต่ทำได้ไม่เท่าเพื่อน และยิ่งทำให้เห็นความต่างชั้น แต่ก็อย่างที่บอกขึ้นชื่อว่าเผด็จการอย่างหนาคือคุณสมบัติพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ทักษิณเจาะจงต่อการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ก็คือวัคซีน เป็นความจริงที่ว่าต้องเปิดทางเลือกให้หลากหลาย ไม่ใช่แค่ในฐานะผู้ที่เคยป่วยและรักษาหายมาก่อน แต่เป็นผู้ที่เห็นและสัมผัสกับการบริหารจัดการในต่างประเทศ แน่นอนว่า จะต้องมีบรรดาพวกหลับหูหลับตาเชียร์ตอบโต้ว่า การยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่นายใหญ่อาศัยกับประเทศไทยนั้น ฐานะทางเศรษฐกิจแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จึงไม่น่าจะนำมาเทียบเคียงกันได้

นั่นเป็นความคิดที่ผิด เพราะในสิ่งที่ทักษิณพูดถึงนั้น เป็นการพูดในภาพรวมเรื่องของวัคซีนทุกยี่ห้อ ที่ต้องขีดเส้นใต้ก็คือ ทำไมประเทศไทยไม่สั่ง ทำไมต้องจำกัดแค่ 2 ยี่ห้อ ถ้ารู้จริงจะเข้าใจว่า แอสตราเซเนกาจะมีผลข้างเคียงมากกว่ายี่ห้ออื่น ขณะที่วัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นามีปัญหาน้อยสุด ของจีนนั้นซิโนฟาร์มค่อนข้างใช้อย่างกว้างขวาง แต่ประเทศไทยกลับเลือกซิโนแวค ซึ่งกรณีนี้ทั้งท่านผู้นำและรัฐมนตรีที่กำกับดูแลก็พยายามแก้ตัวพัลวันอยู่ในเวลานี้

ขณะเดียวกัน คนแดนไกลยังได้เสนอตัวที่จะเป็นผู้ประสานเรื่องการจัดซื้อวัคซีนจากประเทศอื่นเช่น สปุตนิคส์ของรัสเซีย โดยพร้อมที่จะเจรจากับ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำหมีขาวให้ พร้อมกับชี้ช่องว่าเจ้าสัวใหญ่ของประเทศสองรายสามารถที่จะไปเจรจาของซื้อวัคซีนจากจีนและสิงคโปร์ได้ด้วย แค่เท่านี้ก็เป็นภาพสะท้อนในแง่วิสัยทัศน์ของคนเป็นผู้นำได้เป็นอย่างดี ประเด็นเรื่องวัคซีนถือว่าเป็นจุดอ่อนที่ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไรคนไทยส่วนใหญ่ก็ยากที่จะเชื่อฝ่ายกุมอำนาจ

หากไม่มีความจำเป็น ก็ไม่เห็นที่จะต้องเร่งให้กระทรวงสาธารณสุขไปเปิดการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนอีกหลายยี่ห้อ นอกเหนือจากแอสตราเซเนกาและซิโนแวคที่มีอยู่แล้ว การอ้างว่าประเทศต้องมีม้าหลักไม่ใช่การเลือกม้าตัวเดียวจากคำพูดของเจ้ากระทรวงคุณหมอนั้น มันยิ่งเป็นคำแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น เชื่อได้เลยว่าบุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ถูกนำมาอ้างว่าเป็นผู้ให้คำชี้แนะต่อการเตรียมความพร้อมนั้น ไม่มีใครที่จะกล้างัดกับฝ่ายกุมอำนาจที่ตั้งธงไว้แล้วอย่างแน่นอน

เห็นได้จากความพยายามที่จะลดวันกักตัวก่อนที่จะมีการระบาดในรอบที่สองที่สมุทรสาครก่อนหน้านั้น ฝ่ายคุณหมอต่างก็กังวลแต่จำยอมต้องพูดไปในทางเดียวกันว่า ความปลอดภัยในสุขภาพของประชาชนก็สำคัญ แต่ต้องควบคู่ไปกับเศรษฐกิจของประเทศด้วย หากเป็นรัฐบาลที่สามารถบริหารจัดการด้านการเงินหรืองบประมาณของประเทศได้เป็นอย่างดี มีหนทางที่จะแสวงหาเม็ดเงินมาหมุนเวียนทดแทนรายได้ที่หายไป จะไม่มีทางไปสร้างแรงกดดันเช่นนั้นกับบุคลากรทางด้านการแพทย์เพื่อให้ตอบสนองในสิ่งที่ตัวเองต้องการให้เป็นเด็ดขาด

เมื่อพลาดไปแล้วสิ่งที่ทำจากนี้จึงเป็นการแก้ตัว ที่จะคู่ขนานไปกับการเยียวยาประชาชน แต่ถ้าทำได้แค่ปัดฝุ่นโครงการแจกแบบเดิม ๆ มันไม่น่าจะเพียงพอต่อความเดือดร้อนที่เป็นอยู่ในเวลานี้ อย่างที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกลว่า ความเสียหายจากการฉีดวัคซีนล่าช้า จนเกิดการระบาดระลอกที่ 3 คนตัวเล็กตัวน้อยต้องแบกรับความเสียหายสูงถึงเดือนละ 2.5 แสนล้านบาท การเยียวยาในวันนี้จึงไม่ได้เป็นแค่การช่วยเหลือประชาชน แต่เป็นมาตรการที่ทำให้ประชาชนมีกำลังใจที่จะฟันฝ่าอุปสรรคไปพร้อมกับรัฐบาล

พร้อมที่จะปฏิบัติตามมาตรการใด ๆ เพื่อควบคุมการระบาดที่รัฐบาลประกาศออกมาเป็นระยะ แต่คำถามที่สำคัญก็คือ สิ่งที่รัฐบาลเตรียมการไว้นั้นตอบโจทย์ความเดือดร้อนที่กำลังดำเนินไปหรือไม่ ยิ่งล่าสุดมีการเซ็นคำสั่งแบ่งงานให้รัฐมนตรีดูแลพื้นที่แต่ละจังหวัดของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งที่น่าจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด แต่ฟันธงไว้ได้เลยว่าคงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการวางแผนสืบทอดอำนาจไว้อย่างแยบยลเพื่ออยู่ยาว คงไม่มีการถอดใจเอาดื้อ ๆ เป็นแน่

Back to top button