สแกน IPO น้องใหม่ WINMED ก่อนลงสนามเทรด mai

สแกน IPO น้องใหม่ WINMED ก่อนลงสนามเทรด mai


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวบรวมข้อมูลความน่าสนใจของหุ้นไอพีโอน้องใหม่ ที่เตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) อย่างบริษัท วินเนอร์ยี่ เมดิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ WINMED บริษัทประกอบธุรกิจเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายชุดตรวจเพื่อการวิเคราะห์ วินิจฉัยและ/หรือบำบัดรักษา รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง และจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อการเก็บรักษาโลหิตและผลิตภัณฑ์ของโลหิต เพื่อการวิเคราะห์ วินิจฉัยและ/หรือบำบัดรักษาโรค ซึ่งได้นำเข้าจากผู้ผลิตชั้นนำในต่างประเทศ

อีกทั้ง เป็นตัวแทนของบริษัทผู้ให้บริการตรวจวินิจฉัยด้านพันธุศาสตร์จากต่างประเทศ สำหรับการให้บริการตรวจสารพันธุกรรมและความผิดปกติของทารกในครรภ์

ทั้งนี้ บริษัทย่อยของ WINMED ประกอบธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ที่เกี่ยวกับสุขภาพและสุขอนามัย อาทิ เครื่องดักจับยุงและแมลงดูดเลือด และชุดกำจัด/จัดการสารเคมีและชีวภาพหกปนเปื้อน

สำหรับจำนวนหุ้นที่เสนอขาย เท่ากับ 120,000,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 30.00 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้

ด้านนางสาวมธุรส สาราณียะธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอสเซท  โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจของ WINMED  ยังจะมุ่งเน้นที่การต่อยอดการให้บริการผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และก้าวขึ้นเป็นผู้นำ โดยมีแผนดำเนินการโครงการพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์การเก็บตัวอย่างเพื่อหาเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก หรือ HPV Self-Collect Vaginal Sampling ที่ผู้หญิงสามารถเก็บตัวอย่างได้ด้วยตัวเองที่บ้าน ถือเป็นการต่อยอดการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่าย

รวมถึงสร้างห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ เพื่อให้บริการการตรวจวิเคราะห์เชื้อในระดับชีวโมเลกุลอัตโนมัติ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 3/64

นอกจากนี้ยังมีแผนก่อสร้างห้องปฏิบัติการในการเตรียมเซลล์เพื่อรักษาด้วยเซลล์บำบัด ซึ่งเป็นวิธีการรักษาโรงมะเร็งต่าง ๆ ในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่นมานานกว่า 5 ปี โดยในประเทศไทยได้นำมาเริ่มใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการได้ในไตรมาสที่1/65

ด้านผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปี 2560 – 2563 บริษัทมีรายได้รวมที่ระดับ 515.96 ล้านบาท, 498.30 ล้านบาท และ 531.05 ล้านบาทตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการขายและบริการ ซึ่งแบ่งเป็นรายได้จากกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์, ผลิตภัณฑ์ดูแลสุภาพสตรี, ผลิตภัณฑ์ธนาคารโลหิต, ผลิตภัณฑ์ความปลอดภัยของโลหิต และผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีเซลล์บำบัด

ขณะที่กำไรสุทธิของบริษัทช่วงปี 2561 – 2563 อยู่ที่ระดับ 40.96 ล้านบาท, 37.19 ล้านบาท และ 51.59 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการขายและบริการ และรายได้จากค่าเช่า

ขณะที่ล่าสุด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีข้อมูลเรื่องการรักษามะเร็งเต้านม ด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งโดยปกติแล้วโรคมะเร็งเต้านมมีวิธีการรักษา 4 วิธี ได้แก่ การผ่าตัด ฉายรังสีรักษา เคมีบำบัด และการให้ยาฮอร์โมน ซึ่งศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้พัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็งเต้านมในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Immunotherapy หรือ ภูมิคุ้มกันบำบัด โดยใช้เซลล์ของร่างกายหรือระบบภูมิคุ้มกันของตนเองเป็นตัวควบคุมเซลล์มะเร็ง

โดยความสำเร็จของภูมิคุ้มกันบำบัด แบ่งเป็น

-เกิดขึ้นจากการศึกษาก้อนเนื้อมะเร็งตับ เพื่อตรวจดูพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งว่ามีลักษณะจำเพาะอย่างไร โดยจับเซลล์ที่มีลักษณะจำเพาะเหล่านั้นมาใช้ เพื่อคัดลอกเซลล์หรือเปปไทด์ และนำมาเลี้ยงกับเดนไดรติกเซลล์ที่สามารถจดจำได้ว่าเชื้อชนิดใดเป็นเซลล์มะเร็ง

-หลังจากฉีดเซลล์ที่เพาะเลี้ยงนี้เข้าไปที่ต่อมน้ำเหลืองพบว่า น้ำในปอดหายไปหมด และเซลล์มะเร็งในตับหายไป 100%

-จากหลักการการรักษาที่สร้างเซลล์หรือเปปไทด์จากพันธุกรรมเพื่อใช้จำเพาะบุคคลเท่านั้น ดังนั้นจึงมีโอกาสที่การรักษาจะมีประสิทธิภาพ และสามารถอยู่ในร่างกายได้นาน เนื่องจากเป็นเซลล์ของตนเอง

สำหรับผลข้างเคียง พบว่าหลังจากฉีดเซลล์เข้าไป 7-8 เดือน มีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ รู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรง หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น ท้องจะยุบลงและมีอาการเหนื่อยน้อยลง ช่วงนี้อาการจะดีขึ้นและกลับเป็นปกติ สามารถออกกำลังกายได้ไม่รู้สึกเหนื่อยเช่นเดิม

ดังนั้นจึงเป็นที่น่าจับตาว่าจากประเด็นดังกล่าว จะส่งผลดีกับทาง WINMED ได้ไม่มากก็น้อยในอนาคต

สำหรับ WINMED ก่อตั้งโดย คุณนันทิยะ ดารกานนท์ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2547 ในนาม “บริษัท ลา วีนัส เอสเทธิค จำกัด” ด้วยทุนจดทะเบียนจัดตั้งเท่ากับ 5.00 ล้านบาท  โดยบริษัทได้จดทะเบียนสถานประกอบการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข (อย.) เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและตามมาตรฐานสากล ปัจจุบันบริษัทผู้นำเข้า และจำหน่ายเครื่อง และชุดอุปกรณ์ สำหรับการเก็บ การตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัย และการบำบัดรักษาทางการแพทย์ ซึ่งได้นำเข้าจากผู้ผลิตชั้นนำในต่างประเทศ

อีกทั้ง เป็นตัวแทนของบริษัทผู้ให้บริการตรวจวินิจฉัยด้านพันธุศาสตร์จากต่างประเทศ สำหรับการให้บริการตรวจสารพันธุกรรมและความผิดปกติของทารกในครรภ์ โดยบริษัทได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตชั้นนำ 23 บริษัท ใน 12 ประเทศ อาทิ บริษัท Miltenyi Biotec ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ใช้สำหรับใช้ในการคัดแยก Stem Cell เพื่อใช้ประกอบการรักษาโรคมะเร็ง บริษัท Haemonetics ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ปั่นแยกพลาสมาและเกล็ดโลหิต และ บริษัท Grifols ประเทศสเปน ผู้ผลิตชุดตรวจสำหรับตรวจโลหิตเพื่อดูภาวะการติดเชื้อจาก HIV HBC และ HCV เป็นต้น

โดยลักษณะการแต่งตั้งมีทั้งการแต่งตั้งเป็นผู้จัดจำหน่ายเพียงผู้เดียวในประเทศไทย (Exclusive Distributor) และเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายทั่วไป (Non-Exclusive Distributor) โดยกลุ่มลูกค้าของบริษัท ได้แก่ โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ องค์กรการกุศล (ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย) สถาบันศึกษาทางการแพทย์ คลินิก และบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งภาครัฐและเอกชน

บริษัทมีบริษัทย่อย 1 บริษัท คือ บริษัท อะนิวเดย์ จำกัด (“AND”) ประกอบธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ที่เกี่ยวกับสุขภาพและสุขอนามัย อาทิ เครื่องดักจับยุงและแมลงดูดเลือด และชุดกำจัด/จัดการสารเคมีและชีวภาพหกปนเปื้อน

ทั้งนี้ บริษัทและบริษัทย่อยแบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์เป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้

1.กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์

1.1ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพสตรี (WOMEN HEALTH CARE) : แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สำหรับการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อมะเร็งปากมดลูก และ ผลิตภัณฑ์กลุ่มเวชศาสตร์มารดาและทารก

1.2 ผลิตภัณฑ์ธนาคารโลหิต (BLOOD BANKING) : ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในการแยกส่วนประกอบของโลหิต และอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานธนาคารโลหิต

1.3 ผลิตภัณฑ์ความปลอดภัยของโลหิต (BLOOD SAFETY) : ผลิตภัณฑ์สำหรับการหาสารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคต่างๆ (Nucleic Acid Testing : NAT) และสำหรับการยับยั้งเชื้อจุลชีพ(Pathogen Inactivation) ในโลหิตของผู้บริจาคโลหิต

1.4 ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีเซลล์บำบัด (CELL THERAPY) : บริการด้านการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการสมัยใหม่ ด้านการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cells)

2.กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น

2.1 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ : เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการสรรหาผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ อาทิ เครื่องตรวจคัดกรองผู้ป่วยอัตโนมัติ เครื่องบริหารกล้ามเนื้ออุ้มเชิงกราน

2.2 ผลิตภัณฑ์กำจัดพาหะเชื้อ : อาทิ เครื่องดักจับยุงและแมลงดูดเลือดอื่นๆ (จำหน่ายในนาม AND)

2.3 ผลิตภัณฑ์ควบคุมการติดเชื้อ : เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ช่วยควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ได้แก่ ชุดกำจัด/จัดการสารเคมีและสารชีวภาพหกปนเปื้อน (จำหน่ายในนาม AND)

นอกจากนี้ บริษัทยังเข้าลงทุนในบริษัท โปรเฟสชั่นแนล ลาโบราทอรี่ แมเนจเม้นท์ คอร์ป จำกัด (“Pro-Lab”) ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ (ห้อง Lab) เป็นการให้บริการรับวินัจฉัย/ตรวจ และวิเคราะห์โรคเฉพาะทางหรือโรคติดต่อ

Back to top button